กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   "ดูกรท่านทั้งหลาย ดาบสผู้นี้เธอสั่งสมบรมโพธิสมภาร เป็นพุทธังกรูหน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์" (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=210)

วาโยรัตนะ 02-03-2009 14:01

"ดูกรท่านทั้งหลาย ดาบสผู้นี้เธอสั่งสมบรมโพธิสมภาร เป็นพุทธังกรูหน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์"
 
"ดูกรท่านทั้งหลาย ดาบสผู้นี้เธอสั่งสมบรมโพธิสมภาร เป็นพุทธังกูรหน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์มานาน สืบไปเบื้องหน้ากำหนดได้ ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป เธอจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครู"

แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรเจ้าก็เสด็จพระดำเนินนำพระสาวกสงฆ์สาวกขีณาสพเหยียบย่างบนร่างของ พระสุเมธดาบส ตามคำอารธนาของท่านก่อนนี้ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกขีณาสพทั้งหลาย.....ทรงดำเนินเหยียบไปบนกายของข้าพระองค์ที่จักทอดกายเป็นสะพานนี้ด้วยเถิด เพื่อได้เกิดประโยชน์โสตถิผลอันยิ่งใหญ่แก่ข้าพระองค์อย่าได้ทรงย่างพระบาทหลีกลงลุยเลนเหลวนี้เลย"

ก่อนหน้านั้นพระสุเมธดาบบสได้ปลดผ้าคลุมค่อยๆบรรจงปูลงไปบน เลนเหลว ที่ชาวบ้านต่างเร่งมือกันจองถนนร่วมปูทางเดินแก่ คณะของพระพุทธทีปังกรพุทธเจ้า จนกระทั่งวาระและบารมี ท่านสุเมธดาบสจะได้รับคำทำพยากรณ์ เข้าสู้นิยตโพธิสัตว์ ในคราวนั้น เมื่อพระองค์เหาะผ่านมา เห็นคณะชาวบ้านหญิงชายทั้งหลายต่างเร่งมือ จองถนนถวายแด่ พระพุทธทีปังกรพุทธเจ้า พระองค์จึงหยุดแล้วเปล่งวาจาว่า "เป็นมงคลอย่างยิ่ง ขอข้าพเจ้าร่วมทำทาง เป็นพุทธบูชาด้วยเถิด"

วาโยรัตนะ 02-03-2009 14:03

พระทีปังกรพุทธเจ้า ประสูติเป็นทีปังกรราชกุมาร แห่งราชวงศ์กษัตริย์แห่งรัมมวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุเทพ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุเมธาเทวี ทีปังกรราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง ชื่อว่า หังสา โกญจา และมยุรา เหมาะสมตามฤดูทั้ง ๓ ทรงมีพระมเหสีนามว่า ปทุมาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๐๐,๐๐๐ นาง วันหนึ่ง ทีปังกรราชกุมารเสด็จประพาสอุทยาน ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา

เมื่อพระนางปทุมาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อุสภักขันธกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาในราชอุทยานนั้นด้วยคชยาน ๘๔,๐๐๐ เชือก มีผู้ออกบรรพชาตามจำนวนโกฏิหนึ่ง หลังจากทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๑๐ เดือน ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ พระองค์ก็นำบริษัทเข้าไปบิณฑบาตข้าวปายาสในนคร ตอนเย็นทรงปลีกจากคณะ ทรงรับหญ้า ๘ กำ จากอาชีวกชื่อ อานันทะ และนำมาปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ใต้ต้นเลียบ (ต้นมะกอก) ปราบพระยามารกับพลมารนับอสงไขย และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนนั้น พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุผู้บรรพชาตามจำนวนโกฏิหนึ่ง ที่สุนันทาราม ทำให้พระภิกษุโกฏิหนึ่งนั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระทีปังกรพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ

วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่ อุสภักขันธกุมาร ราชโอรส ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
พระทีปังกรพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกและเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ณ สุนันทาราม
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ ณ นารทกูฏ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรมานนารทยักษ์พร้อมบริวารหมื่นหนึ่ง ให้อยู่ในโสดาปัตติผล และทรงบวชมนุษย์ ๑๐๐ โกฏิที่นำมาพลีกรรมยักษ์ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภิกษุเหล่านั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดภายใน ๗ วัน
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ
พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ

พระอัครสาวก คือ พระสุมังคละเถระ และพระติสสะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระนันทาเถรี และพระสุนันทาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสาคตะเถระ
พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่นันทาราม หลังจากนั้นพุทธศาสนาของพระองค์ก็ดำรงอยู่ต่อมานานถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงอันตรธานไป

วาโยรัตนะ 02-03-2009 14:03

ครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์ทรงผนวช ทรงรับหญ้าคาแปดกำ จากนาย สุนันท์อาชีวก แล้วพระองค์ก็ทรงปู เป็นบัลลังก์สำหรับนั่งสมาธิทรงทำประทักษิณรอบต้นไม้ที่จะตรัสรู้ ๓ รอบ พระองค์ทรงนั่งสมาธิเพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น เพื่อจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

"พวกเราบุก! ขัดขวางพระองค์อย่าให้ทรงสำเร็จพระอรหันต์" พญามารและ เหล่าบริวารทั้งหลายมากมายเรือนแสน เรือนล้านต่างกรูเข้าหมายจะประหารพระองค์องค์ให้ออกจากสมาธิ

พระพุทธทีปังกรพุทธเจ้า "พญามารและบริวารเอ๋ย ท่านอาจทำให้บรรดาเทวดาเกรงกลัวยินยอมหลบหนีไปสู่สวรรค์ แม้พญานาคก็ดำดิ่งหนีลงไปสู่ นาคภพ.....แต่สำหรับเราซึ่งได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดกาลนาน ก็จะใช้บารมีนั่นแหละต่อสู้กับพวกท่าน"

แล้วพระองค์ก็ชี้ พระหัตถ์ลงบนแผ่นดิน ฉับพลันบังเกิดเป็น พระแม่ธรณีบีบมวยผม เห็นเป็นมหาสมุทร คลื่นโหมกระหน่ำ เหล่าพระญามารทั้งหลายจนสิ้นไป.....

ดิถีวันเพ็นเดือนวิสาขะ
พระองค์ทรงชนะพญามารด้วยพระทัยที่ตั้งมั่นจะหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ทั้งปวง ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วพระองค์ทรงพักผ่อนเสวยสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา ๗ วัน

วาโยรัตนะ 03-03-2009 08:00

จะกล่าวความย้อนไป ท่านสุเมธดาบส ลุยเลนลุยโคลน ปรับดินจองถนนกับชาวบ้าน มีกุมารีผู้หนึ่ง
ชื่อ "สุมิตตา" จ้องมองพระองค์ท่านด้วยความชื่นชม ชาวบ้านต่างเร่งมือ ทั้งสองก็ต่างเร่งมือ เอาดินถมเลนเช่นกัน เหลือเพียงแค่ช่วงตัวคนนอนเท่านั้น
ในที่สุด คณะของพระองค์พระพุทธีปังกรพุทธเจ้าก็เสด็จราชดำเนินมาถึงพร้อมด้วยพระอริยะสงฆ์อีกหนึ่งโกฏิ

"สุมิตตาน้องหญิง"
ก็รำพึงว่า "เหลือแค่อีกช่วงตัวแท้ๆแต่ไม่ทันการแล้ว"
ทันใดทัน พระสุเมธดาบสก็ปลด ผ้าพันศีรษะและผ้าครองคุมหน้าอกแบบฤๅษีออกปูลงไปบนเลนเหลวอย่างบรรจงพร้อมเปล่งวาจาว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอ อารธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกขีณาสพทั้งหลาย.....ทรงดำเนินเหยียบไปบนกายของข้าพระองค์ที่จักทอดกายเป็นสะพานนี้ด้วยเถิด เพื่อได้เกิดประโยชน์โสตถิผลอันยิ่งใหญ่แก่ข้าพระองค์อย่าได้ทรงย่างพระบาทหลีกลงลุยเลนเหลวนี้เลย"
ด้วยพระพุทธบารมีแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระพุทธทีปังกรทรงทราบวาระอันประเสริฐนี้ จึงได้กล่าวต่อหน้ามหาชนทั้งหลายว่า

"ดูกรท่านทั้งหลาย ดาบสผู้นี้เธอสั่งสมบรมโพธิสมภาร เป็นพุทธังกูรหน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์มานาน สืบไปเบื้องหน้ากำหนดได้ ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป เธอจะได้ตัรสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครู สัมมาสัมพุทธเจ้า"

สร้างความปิติยินดีแด่มหาชนทั้งหลายที่ทราบข่าว ร่วมทั้ง พรหม เทวดา มากมายต่างยินดี และในที่นั้น
"สุมิตตาน้องหญิง" ก็เช่นกัน แต่ด้วยวาระอันมาถึงนี้ พระนางจึงรับรู้ถึงวาระพิเศษ จนไม่อาจจะทรงหยุดยืนอยู่ได้ วิ่งออกไปจากคณะ ไปเก็บดอกบัวในสระใกล้ มาแปดดอก แล้วค่อย คุกเขาย่อตัวลงต่อหน้า พระทศพลทีปังกรพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์และคณะยืนประทับ อยู่ใกล้ร่างของท่านสุเมธดาบส

พระนางได้เปล่งวาจาว่าต่อหน้าพระสัมมาสัมพุทธทีปังกรเจ้าว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจิรญผู้ทรงคุณอนันต์อันประเสริฐด้วยอานิสงส์ที่ข้าพระบาทได้กระทำสักการบูชาในกาลบัดนี้ ขอให้สุเมธดาบสจงเป็นสามีของข้าพระบาทสมใจในภายภาคหน้าด้วยเถิด พระเจ้าข้า"
สร้างความตลึงไปแก่มหาชนทั้งหลาย และ ท่านสุเมธดาบสยิ่งนัก จนพระองค์ท่านต้องเปล่งวาจาทัดทานออกมาว่า

"น้องหญิง ความต้องการของเจ้าแม้เป็นความปรารถนาที่ดี แต่เราจะชอบใจสักนิดก็หาไม่ ขอเจ้าจงถอนความปรารถนานั้นเสียเถิด"

สุมิตตาเถรี ก็ ทูลขอพรแด่ พระพุทธีปังกรพุทธเจ้าอย่างตั้งใจตามความประสงค์เดิม "พระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระบาทสมปรารถนาด้วยเถิดพระเจ้าข้า"
"เจ้าจงปรารถนาสิ่งอื่นเถิดน้องหญิง" ท่านสุเมธดาบส ทัดทาน

ทันใดนั้น พระสุรเสียงกันกังวาลแห่งพระพุทธีปังกรพุทธเจ้าก็ ปรารภออกมาโดยธรรมอันปราณีตว่า

"ดูกร สุเมธดาบส ตัวท่านอย่าห้ามความปรารถนาของกุมารีน้อยผู้นี้เลย เพราะว่าในอนาคตภายหน้านางจะเป็นที่พึ่งแก่ท่าน ขณะที่ตัวท่านบำเพ็ญพุทธบารมีธรรมเพื่อบ่มพระบรมโพธิญาณให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 09:41

ทั้งคู่ก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารไม่ว่าจะเป็น เดรัจฉานหรือมนุษย์ ก็ได้เป็นคู่สู่สมไม่พรากจากกันเป็นเวลาอันแสนจะยาวนานถึง สี่อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัป........
จวบจนมาถึง ชาติสุดท้ายในมหาชาติ

สุเมธดาบส สำเร็จเป็น"พระสมณโคดมบรมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"
สุมิตตาเถรี เสวยชาติเป็น"พระนางพิมพา"

เล่าความตอนพระนางพิมพาบวช

วันหนึ่งขนาดที่พิมพาภิกษุณีเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผลญาณ ก็ทราบถึงวาระแห่งอายุสังขารจะสิ้นสุดลง เมื่อแจ้งประจักษ์ดังนั้น จึงเดินทางไปกราบพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทอดพระเนตรมองพระพักตร์แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นพิมพาภิกษุณีอรหันต์ มีอาการผิดแปลกไปเช่นนั้นก็ทรงทราบแจ่มแจ้งในพระสัพพัญญูว่า ถึงกาลแล้วที่พิมพาภิกษุณีจะสิ้นชนมายุสังขาร จะมาลาตถาคตดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพาน สมเด็จพระมิ่งมงกุฏบรมศาสดาจึงทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีแห่งพระวรกายให้แก่พระพิมพาภิกษุณีได้เห็นเป็นวาระสุดท้าย

"ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาคอันงามประดับไปด้วยรัศมี พระองค์ได้ทรงเป็นสวามีแห่งข้าพระบาทนี้นับพระชาติไม่ถ้วนตลอดมาแต่นี้ไปจักไม่มีโอกาสได้เห็นพระองค์ผู้เคยเป็นพระภัสดาอีกแล้ว"

"ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าพระบาทพิมพามีวาสนาสิ้นสุด จักขอพระบรมพุทธานุญาตทูลลาดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน เพราะสิ้นชนมายุสังขารในวันนี้แล้วพระเจ้าข้า" พิมพาภิกษุณีกล่าว

"ดูกร เจ้าพิมพาที่เคยมีคุณแก่ตถาตคเอ๋ย หากเจ้ากำหนดกาลอันควรแล้ว ก็จงเคลื่อนแคล้วดับขันธ์ เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นอมตสุขเถิด เราอนุญาต"

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคอันงาม กาลเมื่อพระองค์ทรงสร้างพระพุทธบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ท่องเที่ยวอยู่ในกระแสวัฏฏสงสารกับพิมพาข้าพระบาทนี้ด้วยกัน มาตั้งแต่ครั้งศาสนา สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงกาลปัจฉิมชาตินี้ จะขาดไมตรีสักชาติก็หาไม่ พระองค์เสวยพระชาติเป็นอะไรพิมพาข้าพระบาทนี้ก็เสวยชาติเป็นเช่นนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเป็นการสมควรที่พิมพาข้าพระบาทจักถือโอกาสขอขมาโทษานุโทษต่อพระองค์เสียในครั้งนี้

ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับขอขมาโทษ อันพิมพาข้าพระบาทนี้ ได้เคยมีความผิดต่อพระองค์มาแต่บุพชาติที่แล้วมาด้วยเถิดพระเจ้าข้า"


วาโยรัตนะ 03-03-2009 11:51

ชาติหนึ่ง

"ข้าแต่พระองค์ ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเกิดในตระกูลทุคตะเข็ญใจ มีนามว่า "อติทุกขมาณพ" ข้าพระบาทนี้ก็ได้เกิดเป็นกุมารี รักใคร่เป็นสามีภรรยาอยู่ในชนบทตามประสายาก

กาลวันหนึ่ง "อติทุกขมาณพ" เข้าป่าเพื่อตัดฟืนมาขาย ได้พบพระอัครสาวกแห่งพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง จึงเกิดยินดีเป็นหนักหนา รีบกลับมาบ้านเรียกข้าพระบาท ซึ่งเป็นภรรยามาปรึกษา พร้อมในกันแล้ว ก็นำข้าพระบาทไปขายฝากไว้ได้ทรัพย์มาไปซื้อไม้และเสาทั้งอุปกรณ์อื่นๆไปปลูกสร้างกุฏิถวาย พระอัครสาวกนั้นด้วยน้ำใจเลื่อมใสศรัทธา เดชะผลานิสงส์ครั้งนั้นจึงบันดาลให้
"อติทุกขมาณพ"มีโชค ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี
ฝ่ายข้าพระบาทผู้เป็นภรรยาก็ดีอกดีใจตั้งตนเป็นใหญ่ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะบุญของข้า เหตุว่านำข้าไปขายจึงได้ทรัพย์มาทำกุฏิถวาย จนได้เป็นเศรษฐี

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาท จงทรงกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 12:10

"ข้าแต่พระองค์ ครั้งศาสนาพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นกัน กาลครั้งนั้นพระองค์เสวยพระชาติเป็น "พระเจ้านันทราช" ส่วนข้าพระบาทเป็นอัครมเหสีมีนามว่า"พระนางสุนันทาเทวี"

กาลวันหนึ่งขณะเสด็จพระราชดำเนินไปชมสวนอุทยานครั้งนั้น ข้าพระบาทเห็นดอกรังงามตระการตาจึงปรารถนาจะได้ดอกรังมาเชยชม แต่ข้าพระบาทจะสั่งหมู่อำมาตย์ราชเสนาผู้หนึ่งผู้ใดก็มิได้
กลับเจาะจงกราบทูลขอให้พระองค์ผู้เป็นสวามีเสด็จขึ้นต้นรังเลือกเก็บเอาดอกรังลงมาพระราชทานให้แก่ข้าพระบาทได้ชมเล่นในกาลบัดนั้นพระองค์ซึ่งเป็นพระเจ้านันทราชนั้นทรงมีความเสน่หารักใคร่ในพระมเหสีเป็นนักหนา มิได้รอช้า ทรงรีบป่ายปีนขึ้นไปบนต้นรังตามที่ผู้เป็นที่รักปรารถนา

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเคยเป็นสวามี โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทในกาลครั้งนั้น โดยใช้พระองค์ขึ้นไปนำดอกรัง ซึ่งเป็นการลำบากพระองค์แล้วไซร้
ขอจงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 12:25

มาครั้งในศาสนาพระสยัมภูสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็น"ฤๅษี" ส่วนข้าพระบาทเป็นหญิงสาวชาวบ้าน
นามว่า "นาคีกุมารี"

กาลวันหนึ่ง พระองค์ผู้ทรงเป็นฤๅษี ผู้มีฌานแก่กล้าได้เหาะมาในเวหาอากาศ มาพบข้าพระบาทในกาลครั้งนั้นกำลังเก็บผักหักฟืนและร้องรำทำเพลงไปตามประสา ฤๅษีเกิดความรักใคร่ในสาวแรกรุ่นดรุณี ฌานที่เคยแก่กล้าก็เสื่อมถอยลงทันที ทำให้ตกลงมาตรงหน้า"นางนาคีกุมารี"พอดี กำเริบรักที่มีต่อนางเพิ่มทวีขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วก็เอ่ยวาจาขอผูกพัน จนได้เป็นสามีภรรยากันในชาตินั้น

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้หากจักพึงมีในชาตินั้น โดยการทำลายพระองค์ผู้ทรงเป็นฤๅษีให้เสื่อมจากฌานสมาบัติแล้วไซร้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 12:38

"ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลาย ครั้งศาสนาสมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์เสวยพระชาติเป็น "พญาปลาดุก" ฝ่ายข้าพระบาทนี้เกิดเป็นปลาดุกตัวเมีย ได้สมัครรักใคร่ผูกพันเป็นสามีภรรยากัน

กาลวันหนึ่งเมื่อฝนตกใหญ่ นางพญาปลาดุกก็ถึงคราวมีครรภ์ให้มีความอยากกินหญ้าอ่อนๆเขียวขจี พญาปลาดุกผู้เป็นสามีด้วยความรักใคร่ภรรยา ก็อุตส่าห์เที่ยวแสวงหาไปในที่ต่างๆ จนมาถึงแดนมนุษย์
พวกเด็กเลี้ยงควายทั้งหลายเห็นเข้าก็ชวนกันไล่ตีด้วยไม้ใคร่จะได้เป็นอาหาร พญาปลาดุก นั้นถูกตีหางจนขาด โลหิตไหล ได้รับความทุกขเวทนาแสนสาหัส แต่ก็อดทนคาบหญ้าอ่อนมาให้ภรรยาจนได้ แต่เพราะบาดแผลฉกรรจ์นัก พญาปลาดุกทนไม่ไหว ก็ถึงแก่ความตายในเวลานั้น

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ โดยทำความลำบากยากเย็นเป็นสาหัสให้เกิดแก่พระองค์เพียงประสงค์จะได้กินหญ้าอ่อนในขณะตั้งครรภ์
ขอพระองค์ จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน ในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 12:56

ครั้งศาสนาของสมเด็จพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์เสวยพระชาติเป็น "ชฏิลเศรษฐี" มีทรัพย์ พิมพาข้าพระบาทนี้ก็ได้เป็นภรรยาของเศรษฐีนั้น มีนามว่า "อนิมิตตา" เศรษฐีครองสมบัติเป็นความสุขตลอดมา วันหนึ่ง ชฏิลเศรษฐี สามีเกิดปัญญาเห็นความสุขนี้ไม่เที่ยงแท้
จึงออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในป่า นางอนิมิตตา ผู้เป็นภรรยาก็ติดตามไปคอยปฏิบัติรับใช้นำเอาอาหารไปถวายแด่พระดาบสผู้สามีมิให้ลำบาก ด้วยปัจจัยสี่ โดยตั้งใจจะสนับสนุนเกื้อกูลให้ท่านดาบสรีบเร่งบำเพ็ญให้สำเร็จโดยไว

กาลครั้งหนึ่งยังมีนางกินรีตนหนึ่งเกิดความเลื่อมใสในองค์ดาบสจึงมาถวายนมัสการซึ่งบาทแห่งดาบส บังเอิญนางอนิมิตตามาเห็นเข้าก็เกิดเข้าใจผิดน้อยใจตัดพ้อสามีไปต่างๆนานา โดยไม่ยอมฟังคำชี้แจงของดาบสผู้สามีเลยแม้แต่น้อย ตั้งแต่นั้นมานางก็ไม่นำพาสามีอีกเลย ปล่อยให้อดๆอยากๆด้วยขาดปัจจัยสี่

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 13:11

ข้าแต่พระองค์ ยังมีชาติหนึ่ง ครั้งศาสนาแห่ง พระปทุมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เป็นมาณพหนุ่ม รูปงามนามว่า "อัคคุตรมาณพ" ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนี้เกิดเป็นกุมารี นักเต้นรำ นามว่า "ปทุมากุมารี" ต่อมาเราทั้งสองได้ผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน

อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าสังคราชบพิตร รับสั่งให้มีการเล่นมหรสพขึ้นท่ามกลางพระมหานคร เจ้าปทุมากุมารี ก็สมัครเข้าไปเล่นเต้นรำตามอัธยาศัย

ครั้น อังคุตรมาณพ ผู้เป็นสามีตามฝูงชนเข้าไปดูคนทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นั้นต่างพากันล้อเลียนเย้ยหยันว่า บุรุษผู้นี้เป็นสามีของนางบำเรอผู้นี้แล้วก็ร้องบอกต่อกันไป ทำให้ อังคุตระ ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายเป็นอันมาก

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเคยเป็นสวามีโทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทในกาลครั้งนั้น ทำให้พระองค์ได้รับความอับอายต่อหน้ามหาชน
ขอจงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"



วาโยรัตนะ 03-03-2009 13:32

ครั้งศาสนา พระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์เสวยพระชาติเป็น พญาวานร ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทนั้นเกิดเป็น วานรตัวเมียและเป็นสามีภรรยากันกับพญาวานรอาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง

กาลวันหนึ่ง ข้าพระบาทนางพญาวานรอยากกินผลมะเดื่อสุกเป็นยิ่งนัก ด้วยความรักในภรรยาพญาวานรก็อุตสาหะไปเที่ยวเสาะแสวงหาผลมะเดื่อสุกในที่สุดได้พบต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง
จึงปีนขึ้นไปเก็บผลมะเดื่อฝากภรรยาทันที่

ครั้งนั้นยังมีเสือโคร่งตัวหนึ่งแอบซุ่มอยู่ที่พงหญ้าใกล้ต้นมะเดื่อ มีพญาวานรไต่ลงมาก็ถูกเสือร้ายตะปบจนถึงแก่ความตายภายในเวลานั้น
ฝ่ายภรรยาก็เฝ้ารอคอยจนตะวันตกดินสามีก็ยังไม่กลับมาก็ออกตามหาตลอดทั้งคืนก็ไม่พบ ในใจก็คิดหวาดระแวงว่าสามีคงพบกับนางวานรสาวตัวใหม่แล้วก็พากันไปสู่ที่สำราญสบาย
ปล่อยให้นางระทมทุกขเวทนา ภรรยาวานรร้องไห้คร่ำครวญอยู่เป็นเวลาเนิ่นนานจนขาดใจตายไป ณ ที่นั้น

"ข้าแต่พระองค์โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ โดยทำให้พระองค์ต้องถึงแก่ความตายเพราะเสือร้าย อีกทั้งยังคิดระแวงต่างๆนานา
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 13:54

"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ครั้งศาสนา พระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นกุมารหนุ่มน้อย ได้บรรพชาเป็นสามเณรในบวรพุทธศาสนา นามว่า"เจ้าธรรมรักขิตสามเณร" ฝ่ายตัวพิมพาข้าพระบาทนั้นเกิดเป็นกุมารีที่หมู่บ้านใกล้อาราม มีนามว่า "ปัญญากุมารี"

วันหนึ่งที่วัดมีการบำเพ็ญเนื่องในงานเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านทั้งปวงล้วนแต่เป็นพุทธศาสนิกชนจึงชวนกันไปบำเพ็ญกองการกุศล คือ สรงน้ำพระพุทธปฏิมากรและพระเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ตลอดจนสรงน้ำพระสงฆ์ สามเณร ด้วยเลื่อมใสศรัทธา

"เจ้าปัญญากุมารี" มีความรักใคร่ใน "เจ้าธรรมรักขิตสามเณร" มานาน จึงกระทำมายาให้สามเณรรู้ว่าตนเสน่หาถือขันน้ำเจาะจงสรงน้ำสามเณรผู้เป็นที่รัก

เจ้าธรรมรักขิตสามเณรก็จับมือนางด้วยความยินดีรักใคร่ เป็นเหตุให้ถูกจับสึกในวันนั้นแล้วก็มาอยู่กินกันเป็นสามีภรรยาได้เจ็ดวัน ก็กลับไปบวชเป็นภิกษุได้หนึ่งพรรษาครั้งปวารณาแล้วก็กรีบสึกออกมาครองเรือนเป็นสามีภรรยากับปัญญากุมารีด้วยอานุภาพแห่งความรัก

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแต่การทำลายพระองค์ให้ขาดจากเพศบรรพชิต ไม่มีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์ในครั้งนั้น ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 14:31

ในอดีตชาติล่วงแล้วแต่ครั้งพระศาสนาพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เสวยพระชาติเป็น"พญานกดุเหว่า" ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทก็ได้เกิดเป็น นางนกดุเหว่า มีความรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน มีความสุขสำราญตามวิสัยเดรัจฉาน

มาวันหนึ่ง พญานกดุเหว่าผู้ภัสดาไปเที่ยวหาอาหาร ได้ไปพบผลมะม่วงสุกเหลือเดนกากินอยู่ครึ่งลูกก็อุตส่าห์คาบมาสู่รังเพื่อให้นางนกที่เป็นภรรยาด้วยความรักใคร่ ฝ่ายนางนกที่เป็นภรรยาเมื่อเห็นสามีคาบมะม่วงที่เหลือครึ่งลูกดังนั้นก็โกรธ มิทันได้ไต่ถามให้แจ้งในความเป็นไปก็จิกหัวสามีด้วยจะงอยปากทันที ยังไม่หน่ำใจเอาเท้าตีที่หน้าอกของพญานกดุเหว่าสามีอีกสองสามที แต่พระองค์ก็หาได้โกรธเคืองภรรยาแม้แต่สักนิด

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ที่ลุแก่โทสะทำร้ายพระองค์ซึ่งทรงพระกรุณาขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้เสียเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 14:44

ย้อนไปในชาติครั้งศาสนาพระธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระบรมกษัตริย์แห่งพระนครกุมภวดี ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าวังคราช" ฝ่ายข้าพระบาทถือกำเนิดเป็น นางกินรี อยู่ที่สุวรรณคูหา ถ้ำทองอันประเสริฐ ณ หิมวันตประเทศ

กาลวันหนึ่งเจ้ากินรีสาวโสภาออกไปท่องเที่ยวเก็บดอกไม้ บังเอิญไปหลงติดอยู่ในตาข่ายที่นายพรานดักไว้ วันนั้นสมเด็จพระเจ้าวังคราชเสด็จประพาสป่ามาเจอเข้าพระองค์จึงทรงเข้าช่วยทำลายตาข่ายนั้นจนหลุดออกมาได้ แล้วทั้งสองก็ผูกสมัครรักใคร่ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันวิวาส

พระองค์พานางกินรีไปพระนคร แล้วทรงแต่งตั้งเป็น อัครมเหสี สร้างตำหนักให้อยู่ในอุทยานอันเต็มไปด้วยพฤกษานานาพรรณมีทั้ง ดอกไม้ ใบไม้แล้วยังมีพระราชโองการให้นำดอกไม้ไปถวาย มเหสีทุกวันอย่าให้ขาดจนดอกไม้ในพระนครหมดสิ้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติพานางกินรีกลับสู่หิมวันตประเทศอยู่กินกับนางตราบเท่าถึงกาลสิ้นชนมายุสังขาร

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 15:00

มีอยู่ชาติหนึ่ง ในศาสนา พระสุมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติ เป็นนาคาธิบดี มีนามว่า "พญาอดุลนาคราช" ฝ่ายข้าพระบาทได้เกิดเป็นมเหสีสุดที่รักของพระองค์ นามว่า วิมลาเทวี
กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระมิ่งมงกุฏสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระสัทธรรมเทศนากึกก้องกังวานแผ่ไปไกลได้ยินจนถึงนาคพิภพ

พญาอดุลนาคราชทรงเลื่อมใสศรัทธายิ่งนักจึงชวนเจ้าวิมลาเทวีขึ้นมายังโลกมนุษย์เข้าสู่สำนักสมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายนมัสการแล้วสักการะบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้พร้อมตั้งใจที่จะสมาทานเบญจศีลไปจนตราบเท่าชั่วอายุขัย

สมเด็จพระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธฎีกา พยากรณ์ว่า พระอดุลนาคาธิบดีจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งในอนาคต ได้ฟังดังนั้นพญานาคาก็พระทัยโสมนัสยิ่งนัก

ฝ่ายเจ้าวิมลาเทวีอัครมเหสีก็เกิดปิติยินดี ในพุทธฎีกา ถึงกับคายพิษแห่งนาคาออกมาจนสิ้นแล้วก็กรายร่ายรำเพื่อกระทำสักการะบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามวิสัยนาคี ขณะฟ้อนรำถวายอยู่นั้น บังเอิญนิ้วพระหัตถ์ของพระนางไปโดนพระเศียรแห่งพญาอดุลนาคราชผู้สวามีเข้าหน่อยหนึ่ง

"ข้าแต่พระองค์โทษผิดแห่งพิมพาข้าพระบาทนี้โดยความประมาท ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 15:53

แล้วครั้งศาสนาพระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์เสวยพระชาติเป็น มาณพหนุ่ม ผู้ปรารถนาจะประพฤติ พรหมจรรย์ จึงกล่าวคำขออนุญาตภรรยาซึ่งชื่อว่า "กัลยาณีกุมารี" ออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามีนามปรากฏว่า "พระอัญญาโกณฑัญญภิกขุ"

ข้าพระบาทซึ่งเป็นภรรยาก็จำใจอนุญาตแล้วนึกโทมนัสขัดเคืองระคนน้อยใจในสามีเป็นนักหนา โดยคิดว่าสามีเป็นคนเห็นแก่ความสบายไม่นึกถึงความรักใคร่
ปล่อยภรรยาว้าเหว่เป็นดังนี้จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

วันหนึ่งเป็นยามราตรีมีฝนตกพรำๆ ภิกษุหนุ่มสาวกแห่งองค์พระพุทธรังสีสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยินเสียงร้องครวญครางแปลกประหลาด เปิดกุฏิออกไปก็ได้เห็น เปรต รูปร่างแสนทุเรศ และก็ได้ทราบว่า เปรตผู้นี้คือภรรยาตนก็เกิดความสงสารจับใจแต่ก็รู้ดีว่านางยังมีผลทานผลศีลเมื่อครั้งนำจีวรและสิ่งอื่นๆอันควรแก่สมณะ ทูนเหนือศีรษะมาถวายเป็นอันมาก จึงทรงบอกนางให้ระลึกถึงผลทานเหล่านั้น เมื่อ กัลยาณีกุมารีเปรตได้ฟังก็เกิดมหากุศลบันดาลให้อุบัติเป็นเทพนารี ณ ดาวดึงส์เทวโลกฉับพลันทันใด

"ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 16:02

ในศาสนาแห่ง พระโสภิตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครานั้นพระองค์ทรงเป็นมาณพหนุ่มรูปงามนามว่า อทุฏฐมาณพ ส่วนข้าพระบาทเกิดเป็นบุตรีของชาวชนบทชายแดนนามว่า จันทมาลากุมารี

กาลวันหนึ่ง มีข้าศึกมาล้อมพระนคร เที่ยวไล่ฆ่าฟันผู้คนชาวพระนครเป็นจำนวนมาก เจ้าอทุฏฐมาณพ เห็นว่าเหลือกำลังที่จะสู้ข้าศึกได้ จึงหลบหนีออกจากเมืองเดินทางมาถึง
ปัจจันตชนบทชายแดนชั่วคราวตั้งจิตว่าเมื่อรวบรวมผู้คนได้มากพอก็จะกลับพระนครอีก

ด้วยอำนาจแห่งบุพเพสันนิวาส คนสองคนก็ได้พบกันและผูกสมัครรักใคร่กันเป็นสามีภรรยาในที่สุด บัดนี้ความคิดที่จะกลับสู่พระนครของอทุฏฐมาณพก็ล้มเลิก เป็นเพราะความรักความเสน่หา นางจันทมาลา ผู้ภรรยามีมากเกินจะละทิ้งนางไปได้จึงมีชีวิตอยู่ในชนบทชายแดนนั้นจนตาย

"ข้าแต่พระองค์ โทษผิดที่ข้าพระบาทเป็นเหตุให้พระองค์ต้องหลงใหลอยู่ปัจจันตชนบทจนสิ้นอายุขัย ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 16:16

โทษผิดอีกครั้งหนึ่งในศาสนาแห่งพระธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครั้งนั้นพระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ครองแผ่นดิน ณ คีรีบูรณมหานคร
พระนามว่า สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดี ฝ่ายพิมพาข้าพระบาทก็ได้มาเป็นอัครมเหสีของพระองค์พระนามว่า นางมงคลเทวี

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระอภินันทรัฐราชาธิบดีได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระชินสีห์พุทธธรรมปาลสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความโสมนัสยินดีในรสพระธรรมจึงขอยกพระอัครมเหสีที่รักให้เป็นทาน แล้ว ทรงสละราชสมบัติเป็นการชั่วคราวขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายพระอัครมเหสีก็ทรงเลื่อมใสศรัทธาอุตสาหะนำเอาปัจจัยมาถวายแด่พระภิกษุผู้เป็นสวามีทุกวันมิขาด

มีอยู่ครั้งหนึ่งมีนางทาสีของคหบดีคนหนึ่งหนีนายมาหลบซ่อนอยู่ใต้กุฏิของพระภิกษุราชาธิบดี เมื่อนางมงคลเทวีมาเจอเข้าก็เกิดความหึงหวงและโกรธเคือง ขึ้นไปต่อว่าพระภิกษุผู้เป็นสามีด้วยความเข้าใจผิดอาละวาดดึงจีวรขาดจนหาชิ้นดีมิได้ เมื่อหนำใจแล้วก็กลับสู่พระบรมราชวังด้วยความคลั่งแค้นไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร แต่อย่างใด ไม่ช้านางมงคลเทวีก็สิ้นพระชนม์ แล้วพลันไปเกิดเป็นสัตว์นรกเสวยทุกขเวทนาในนิรยภูมิ

"ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 16:30

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ครั้งศาสนา พระกัสสปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์เสวยพระชาติ เป็นพญาหงส์ทอง ส่วนข้าพระบาทเกิดเป็น นางหงส์ ภรรยาของพญาหงส์อาศัยอยู่กับฝูงหงส์บริวารในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง

สมัยนั้น สมเด็จพระราชินี เขมเทวี เป็นนางกษัตริย์ในมหานครนั้น โปรดเสด็จประพาสป่าอยู่เนื่องๆได้พบสระน้ำใหญ่จึงสั่งให้ปลูกดอกไม้รอบๆสระและแต่งตั้งนายพรานคอยดูแลมิให้สิงห์สัตว์นกเนื้อทั้งหลายกล้ำกราย

ฝ่ายพญาหงส์ทองอยากเห็นสระของนางเขมเทวีว่าจะงดงามขนาดไหนจึงพาภรรยาพร้อมเหล่าบริวารมุ่งหน้าสู่สระนั้น เคราะห์ร้าย พญาหงส์ทอง ติดบ่วงของนายพรานไม่สามารถหนีไปได้จึงร้องบอกให้ภรรยาและบริวารหงส์ทั้งหลายให้รีบหนีไปโดยเร็ว นางพญาหงส์ทองไม่ทันได้พิจารณาพากันบินหนีอย่างรวดเร็วปล่อยให้พญาหงส์ทองทุกข์ทรมานอยู่เบื้องหลัง

ความผิดหนนั้นที่บินหนีไม่ยอมดูแลพระองค์ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า

วาโยรัตนะ 03-03-2009 16:38

ครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพญาสกุณา ในศาสนาแห่งพระเรวัตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระบาทเกิดเป็น นางพญาสกุณี อาศัยอยู่ที่หิมวันตประเทศ

วันหนึ่งเกิดอาเพศบันดาลให้ นางพญาสกุณี มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะดื่มน้ำในสระอโนดาตที่นำมาโดยจะงอยปากของพญานกผู้สามี หาไม่แล้วตนจะต้องวายชีพลงเป็นแน่แท้ ด้วยความรักที่มีต่อภรรยาพญานกผู้เป็นสามีก็รีบมุ่งหน้าไปยังสระอโนดาตที่แสนไกล

ครั้นได้เอาจะงอยปากอมน้ำเอาไว้แล้วรีบบินกลับยังไม่ทันถึงรัง น้ำก็แห้งหายไปหมดสิ้น พญานกก็ต้องบินกลับไปอมน้ำมาใหม่น้ำก็ยังแห้งหายไปหมดเหมือนเดิมทำอยู่เจ็ดครั้งก็ยังไม่สำเร็จ จึงกลับไปเล่าให้ภรรยาฟังนางเกิดโทสะด่าว่าจิกตีสามี หาว่ามีใจหลงสกุณาตัวอื่นแล้วจะแกล้งให้ตนตายแต่พญาสกุณาหาได้โกรธไม่ด้วยความรักที่มีต่อนาง

"ความผิดของข้าพเจ้ามากมายนักขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 16:54

"เมื่อถึงชาติสุดท้าย ขณะที่พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญพุทธบารมีใกล้จักสมบูรณ์ เสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร ฝ่ายข้าพระบาทเป็นอัครมเหสี นามว่า พระนางมัทรี มีราชบุตรราชธิดาแสนน่ารัก ทรงพระนามว่า ชาลีและ กัณหา

กาลครั้งนั้นพระองค์ทรงบริจาคทานเป็นช้างเผือกให้แก่พราหมณ์ เมืองกลิงคะ จึงถูกชาวพระนครขับไล่ออกจากเมือง พวกเราพ่อแม่ลูกไปทรงพรต ณ เขาวงกตแห่งห้องหิมเวศ ต่อมามีพราหมณ์ ชื่อว่า ชูชก มาทูลขอเจ้ากัณหาและชาลีไปเป็นคนรับใช้ พอพระองค์ทรงประทานบริจาคเจ้าชูชกก็เร่งรีบนำสองกุมารไปโดยเร็วกลัวว่าพระนางมัทรีกลับมาทันขัดขวาง

เมื่อพระนางกลับมาจากหาผลไม้ในป่าและไม่เห็นกุมารทั้งสอง ก็ให้ระทดพระทัยมีความเศร้าโสกาออกตามหาสองกุมารทั้งคืนพร้อมกับกรรแสงตลอด จนเช้าวันรุ่งขึ้นก็สิ้นกำลังสลบไปพระเวสสันดรทรงตกตะลึงรีบไปปฐมพยาบาลแล้วก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆและเหตุผลให้มเหสีฟัง

องค์อินทราธิราชเจ้าบนเทวโลกทรงมองเห็นเรื่องราวทั้งหมด จึงมีพระดำริว่าหากมีใครมาขอพระนางมัทรีพระเวสสันดรจะอยู่อย่างไรถ้าปราศจากพระนางมัทรีคอยปรนนิบัติดูแล จึงแสร้งแปลงกายเป็นพราหมณ์เฒ่า ไปขอนางมัทรีไปเป็นข้ารับใช้พระนางก็ได้ฟังก็ไม่หวั่นไหวด้วยทรงเข้าพระทัยดี ว่าการยินยอมพร้อมใจในครั้งนี้จะช่วยให้พระสวามีสำเร็จพระโพธิญาณในภายภาคหน้า ท้ายที่สุดพระอินทราธิราช ก็จำแลงแสดงตนพร้อมคำอำนวยพรแล้วเสด็จกลับดาวดึวส์เทวโลก

"ข้าแต่พระองค์ ความผิดที่ข้าพระบาททำให้พระองค์มิอาจกำหนดว่าตนเป็นบรรพชิต วิ่งมาปฐมพยาบาลทำให้พรหมจรรย์ของพระองค์เศร้าหมอง ขอพระองค์จงทรงพระกรุณางดโทษทั้งปวงให้แก่ข้าผู้ซึ่งจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ 03-03-2009 17:08

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ suthamma (โพสต์ 1469)
:1025c640: ผิดเยอะมากกกก...ย้อนกลับไปแก้ไขด้วยครับ..! :1025c640:

กราบขอบพระคุณขอรับที่ตักเตือน:154218d4:

วาโยรัตนะ 03-03-2009 18:10

สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณีรำลึกอดีตชาติหนหลังที่ตนเคยพลั้งพลาดอาจมีโทษผิดต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

"พ่อราหุล มารดานี้จะเห็นหน้าลูกเป็นปัจฉิมสุดท้ายแล้วในวันนี้ โทษใดที่มารดาเคยทำให้ลูกโกรธเคืองเจ้าจงอภัยให้แก่มารดาในวันนี้เถิด" พระนางกล่าวกับพระราหุลพุทธปิโยรส

พระราหุลค่อยๆก้มลงกราบ "อันพระเดชพระคุณที่มารดามีต่อราหุลนี้มีมากมายอุ้มท้องประคองเลี้ยงรักษามาจนเติบใหญ่ บางครั้งก็ตบศีรษะตบปากบ้าง หากโทษผิดเหล่านั้นจะบังเกิดแก่ลูก ขอโปรดประทานอภัยด้วยเถิด"

"ดูกร เจ้าพิมพา อันตัวเจ้านี้มีคุณแก่เราตถาคตมาแต่กาลก่อนเราจักได้สำเร็จแก่พระบวรสัมโพธิญาณก็เพราะเจ้าเป็นสำคัญ เราทั้งสองเคยร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาโทษผิดที่เจ้ามีต่อเราตถาคตในแต่ปางก่อน วันนี้เราขอยกโทษให้แก่เจ้าจนหมดสิ้น อนึ่งโทษานุโทษอันใดที่เราได้ล่วงเกินเจ้าในชาติที่ผ่านมา ตลอดจนถึงชาติปัจจุบัน ขอเจ้ายกโทษให้แก่เราตถาคตเสียให้สิ้น แล้วจงดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอันเป็นเอกัตคตาบรมสุขไปก่อนเถิดนะ เจ้าพิมพา"

แล้วพระองค์ทรงตรัสโอวาทแก่เหล่าภิกษุเพื่อรำลึกถึงพระนางเป็นครั้งสุดท้าย

"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตลอดเวลาอันยาวนานของการบำเพ็ญบารมีสะสมความดีเพื่อตรัสรู้ พระนางพิมพายโสธราเถรีซึ่งเป็นคู่รักเพื่อนชีวิต ในอดีตชาติได้เสียสละทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือ การสั่งสมบารมีของเรา เธอยอมสละแม้กระทั่งความสุขความสบายส่วนตน จนกระทั่งเราได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาตินี้ อันเป็นชาติสุดท้ายของเราทั้งสอง อันเป็นประโยชน์ที่จะได้เผยแผ่สัจธรรมสู่มวลมนุษย์ เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง จักมีใครที่สร้างคุณอยู่เบื้องหลังการบรรลุธรรมเทียบเท่ากับเธอเช่นนั้นแล้วไม่มีอีกแล้ว"

วาโยรัตนะ 04-03-2009 07:13

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ suthamma (โพสต์ 1495)
:1025c640: เรื่องวรรคตอนด้วยครับ :1025c640:

ขอรับ ขอกราบขอบพระคุณอย่างยิ่งที่ขัดเกลาขอรับ :fea27916:

เถรี 04-03-2009 12:05

๕๕๕๕๕๕๕ โชคดีจริงๆ มีคนเมตตาท้วงติง
:onion_love1: แอบอิจฉาเล็กน้อย

วาโยรัตนะ 04-03-2009 12:20

จะเอาบ้างไหมละครับ ขนาดพิมพ์ผมต้องเกร็งนิ้วตลอดกลัวพลาด พยายามประคองกำลังใจในการพิมพ์ตลอดครับ สาธุ
ในความเมตตาของท่านนับเป็นบุญของกระผมขอรับ

ชินเชาวน์ 04-03-2009 12:26

เห็นกำลังใจของพี่ขนาดนี้แล้ว ผมจะกล้าขอพี่เปิดกระทู้อีกหรือเปล่านะ...

แต่เพื่ออนาคตของลูกหลาน การสะกดยังผิดอยู่ครับ เช่น พระราหลุ เป็นต้น

วาโยรัตนะ 04-03-2009 12:32

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ ahhaboy (โพสต์ 1526)
เห็นกำลังใจของพี่ขนาดนี้แล้ว ผมจะกล้าขอพี่เปิดกระทู้อีกหรือเปล่านะ...

แต่เพื่ออนาคตของลูกหลาน การสะกดยังผิดอยู่ครับ เช่น พระราหลุ เป็นต้น

ขอบพระคุณครับ ดีครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
พี่มันแย่ พี่แพ้ป.๔ "ผมจะกล้าขอพี่เปิดกระทู้อีกหรือเปล่านะ...":l438412717dh8:

สายท่าขนุน 05-03-2009 01:33

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ wonderisland (โพสต์ 1528)
ขอบพระคุณครับ ดีครับ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
พี่มันแย่ พี่แพ้ป.๔ "ผมจะกล้าขอพี่เปิดกระทู้อีกหรือเปล่านะ...":l438412717dh8:

ขอให้ช่วยเกร็งนิ้ว และประคองกำลังใจในการพิมพ์ต่อไป จะเสริมเมตตาบารมียิ่ง:onion_wink:
หากพอมีความรู้ว่าตรงไหนผิดพลาด จะพยายามเตือนด้วยคน

วาโยรัตนะ 05-03-2009 05:30

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ สายท่าขนุน (โพสต์ 1571)
ขอให้ช่วยเกร็งนิ้ว และประคองกำลังใจในการพิมพ์ต่อไป จะเสริมเมตตาบารมียิ่ง:onion_wink:
หากพอมีความรู้ว่าตรงไหนผิดพลาด จะพยายามเตือนด้วยคน

ขอบพระคุณครับทุกท่าน แต่:154218d4: เหมือนโดนซ้ำ ยังงัยไม่ทราบครับ ประมาณว่าต้องกระหน่ำให้ตัวกิเลส ตัวประมาท ให้มันตายไปเลยใช่ไหมครับ "สงสารผมบ้างนะครับ" แต่พวกตัวกิเลส ตัวประมาท ก็เชิญซ้ำให้มันตายไปเลยครับผม

เจ้าตัวที่ทำท่าจะทนไม่ได้ ไม่ใช่"ผม" มันคือตัวกิเลส พระอาจารย์ท่านสอนไว้ครับ (ลองใครแซวอีกครั้งพ่อจะยิ่งให้ดับ:8dcf9699: ตัวกิเลสมันเอาเรื่องนะครับ ขอไปทะเลาะกับตัวกิเลสอีกยกนะครับ:45ed7b5f:)

นางมารร้าย 05-03-2009 11:04

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ wonderisland (โพสต์ 1592)
ขอบพระคุณครับทุกท่าน แต่:154218d4: เหมือนโดนซ้ำ ยังงัยไม่ทราบครับ ประมาณว่าต้องกระหน่ำให้ตัวกิเลส ตัวประมาท ให้มันตายไปเลยใช่ไหมครับ "สงสารผมบ้างนะครับ" แต่พวกตัวกิเลส ตัวประมาท ก็เชิญซ้ำให้มันตายไปเลยครับผม

เจ้าตัวที่ทำท่าจะทนไม่ได้ ไม่ใช่"ผม" มันคือตัวกิเลส พระอาจารย์ท่านสอนไว้ครับ (ลองใครแซวอีกครั้งพ่อจะยิ่งให้ดับ:8dcf9699: ตัวกิเลสมันเอาเรื่องนะครับ ขอไปทะเลาะกับตัวกิเลสอีกยกนะครับ:45ed7b5f:)

:d16c4689: รีบแก้ก่อนเถอะค่ะ..เดี๋ยวเป็นเรื่อง...ก่อนจะจบเรื่อง(ที่โพสต์)

วาโยรัตนะ 05-03-2009 11:45

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ นางมารร้าย (โพสต์ 1603)
:d16c4689: รีบแก้ก่อนเถอะค่ะ..เดี๋ยวเป็นเรื่อง...ก่อนจะจบเรื่อง(ที่โพสต์)

ขอบคุณครับ ที่เมตตา :1894c7a1:

วาโยรัตนะ 05-03-2009 11:55

:a03cbf1e:ขอหลบไปพิจารณาตัวเองก่อนครับ ตั้งแต่ท่านเตือนมา ผมว่าผมมีสติขึ้นเยอะ ขนาดใน เอ็มเอสเอ็น(msn) เวลาโต้ตอบข้อความกับท่านทั้งหลาย เมื่อก่อน ผมไม่เคยทราบว่า ท่านๆทั้งหลายต้องใช้ "จินตนาการ"ในการทำความเข้าใจกับข้อความที่ผมโต้ตอบไปมากมายขนาดไหน........:baa60776:
เอาครับ สิบนิ้วยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ขออภัยครับ ทุกๆท่าน (ที่ต้องให้ใช้จิตนการประกอบการอ่าน):A4672615-5:

วาโยรัตนะ 05-03-2009 12:59

จะขอกล่าวความตามพระอรรถกถา "จันทกินนรชาดก" ว่าด้วย "นางจันทกินนรี"

พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ทรงพระปรารภพระมารดาของพระราหุล ตรัสเรื่องนี้ในพระราชนิเวศน์ มีคำเริ่มต้นว่า อุปนียติทํ มญฺเญ ดังนี้.

ที่จริงชาดกนี้ควรจะกล่าวตั้งแต่"ทูเรนิทาน"
ก็แต่นิทานกถานี้นั้น จนถึงพระอุรุเวลกัสสปบันลือสีหนาทในลัฏฐิวัน กล่าวไว้ใน "อปัณณกชาดก" ต่อจากนั้นจนถึงเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ จักแจ้งใน เวสสันดรชาดก.
ก็แล พระศาสดาประทับนั่งในพระนิเวศน์ของพุทธบิดา ในเวลากำลังเสวย ตรัส "มหาธัมมปาลชาดก" เสวยเสร็จทรงดำริว่า เราจักนั่งในนิเวศน์ของมารดาราหุล กล่าวถึงคุณของเธอ แสดง"จันทกินนรชาดก" ให้พระราชาทรงถือบาตรเสด็จไปที่ประทับแห่ง พระมารดาของพระราหุล กับพระอัครสาวกทั้งสอง.

ครั้งนั้น นางระบำ ๔๐,๐๐๐ ของพระนางพากันอยู่พร้อมหน้า. บรรดานางทั้งนั้นที่เป็นขัตติกัญญาถึง ๑,๐๙๐ นาง. พระนางทรงทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา ตรัสบอกแก่นางเหล่านั้นว่า จงพากันนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดทั่วกันทีเดียว. นางเหล่านั้นพากันกระทำอย่างนั้น พระศาสดาเสด็จมาประทับนั่งเหนือพระแท่นที่เตรียมไว้.

ครั้งนั้น พวกนางเหล่านั้นทั้งหมดก็พากันร้องไห้ประดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกันอื้ออึงไป เสียงร่ำให้ขนาดหนักได้มีแล้ว ฝ่ายพระมารดาของพระราหุลเล่าก็ทรงกันแสง ครั้นทรงบรรเทาความโศกได้ ก็ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่งด้วยความนับถือมาก เป็นไปกับความเคารพอันมีในพระราชา.

ครั้งนั้น พระราชาทรงพระปรารภคุณกถาของพระนาง ได้ตรัสเล่าพรรณนาคุณของพระนางด้วประการต่างๆ เช่น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของโยม ฟังว่าพระองค์ทรงนุ่งกาสาวพัสตร์ ก็นุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน

ฟังว่า พระองค์เลิกทรงมาลาเป็นต้น ก็เลิกทรงมาลาเป็นต้น
ฟังว่า ทรงเลิกบรรทมเหนือพระยี่ภูอันสูงอันใหญ่ ก็บรรทมเหนือพื้นเหมือนกัน
ในระยะกาลที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว นางยอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับบรรณาการที่พระราชาอื่นๆ ส่งมาให้เลย นางมีจิตมิได้เปลี่ยนแปลงในพระองค์ถึงเพียงนี้.

พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่นางมีความรักไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย ในอัตภาพสุดท้ายของอาตมภาพครั้งนี้ แม้บังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็ยังได้มีจิตไม่เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย

แล้วทรงรับอาราธนานำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกินนรในหิมวันตประเทศ ภรรยาของเธอนามว่า จันทา ทั้งคู่เล่าก็อยู่ที่ภูเขาเงินชื่อว่า จันทบรรพต

ครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสีมอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์ ทรงผ้าย้อมฝาดสองผืน ทรงสอดพระเบญจาวุธ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น ท้าวเธอเสวยเนื้อที่ทรงล่าได้เป็นกระยาหารเสด็จท่องเที่ยวไปถึงลำน้ำน้อยๆ สายหนึ่งโดยลำดับ ก็เสด็จขึ้นไปถึงต้นสาย ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต เวลาฤดูฝนก็ไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขานั่นแหละ ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา.

ครั้งนั้น จันทกินนรลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บเล็มของหอมในที่นั้นๆ กินเกษรดอกไม้ นุ่งห่มด้วยสาหร่ายดอกไม้ เหนี่ยวเถาชิงช้าเป็นต้น เล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียงจะแจ้วเจื้อยจนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น หยุดลงตรงที่เป็นคุ้งแห่งหนึ่ง โปรยปรายดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำแล้วนุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้ จัดแจงแต่งที่นอนด้วยดอกไม้ เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน ถือขลุ่ยเลาหนึ่ง นั่งเหนือที่นอน.

ต่อจากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงอันหวานฉ่ำ จันทกินรีก็ฟ้อนหัตถ์อันอ่อนยืนอยู่ในที่ใกล้สามีฟ้อนไปบ้าง ขับร้องไปบ้าง. พระราชานั้นทรงสดับเสียงของกินนรกินรีนั้น ก็ทรงย่องเข้าไปค่อยๆ ยืนแอบในที่กำบัง ทรงทอดพระเนตรกินนรเหล่านั้น ก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในกินรี ทรงดำริว่า จักยิงกินนรนั้นเสียให้ถึงสิ้นชีวิต ถึงสำเร็จการอยู่ร่วมกินรีนี้ แล้วทรงยิงจันทกินนร.

เธอเจ็บปวดรำพันกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า

ดูก่อนนางจันทา ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว พี่กำลังเมาเลือด จันทาเอ๋ย พี่เห็นจะละชีวิตไปแม้ในวันนี้ ลมปราณของพี่กำลังจะดับ ชีวิตของพี่กำลังจะจม ความทุกข์กำลังเผาผลาญหัวใจพี่ พี่ลำบากยิ่งนัก ความโศกของพี่ครั้งนี้ เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ พี่จะเหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินร้อน เหมือนต้นไม้มีรากอันขาด พี่จะเหือดหายเหมือนแม่น้ำที่ขาดห้วง ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้ น้ำตาของพี่ไหลออกเรื่อยๆ เหมือนน้ำฝนที่ตกลงที่เชิงบรรพตไหลไปไม่ขาดสายฉะนั้น ความโศกของพี่ครั้งนี้เป็นความโศกยิ่งใหญ่กว่าความโศกเหล่าอื่น เพราะเหตุแห่งเจ้าจันทาผู้จะเศร้าโศกถึงพี่โดยแท้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนียติ ความว่า ชีวิตของพี่ใกล้จะขาดอยู่แล้ว.
บทว่า อิทํ ได้แก่ ชีวิต.
บทว่า ปาณา ความว่า ดูก่อนจันทา ลมปราณคือชีวิตของพี่ย่อมจะดับ.
บทว่า โอสธิ เม ความว่า ชีวิตของพี่ย่อมจะจมลง.
บทว่า นิตมานิ แปลว่า พี่ย่อมลำบากอย่างยิ่ง.
บทว่า ตว จนฺทิยา ความว่า นี้เป็นความทุกข์ของพี่.
บทว่า น นํ อญฺเญหิ โสเกหิ ความว่า โดยที่แท้นี้เป็นเหตุแห่งความโศกของเธอผู้ชื่อว่าจันที เมื่อกำลังเศร้าโศกอยู่ เพราะเหตุที่เธอเศร้าโศก เพราะความพลัดพรากของเรา.
ด้วยบทว่า ติณมิว มิลายามิ เธอกล่าวว่า ข้าจะเหี่ยวเฉา เหมือนต้นหญ้าที่ถูกทอดทิ้งบนแผ่นหินอันร้อน เหมือนป่าไม้ที่ถูกตัดรากฉะนั้น.
บทว่า สเร ปาเท ความว่า เหมือนสายฝนที่ตกบนเชิงเขาไหลซ่านไปไม่ขาดสายฉะนั้น.

พระมหาสัตว์คร่ำครวญด้วยคาถาสี่เหล่านี้ นอนเหนือที่นอนดอกไม้นั่นเอง ชักดิ้นสิ้นสติ.ฝ่ายพระราชายังคงยืนอยู่.

จันทากินรี เมื่อพระมหาสัตว์รำพัน กำลังเพลิดเพลินเสียด้วยความรื่นเริงของตน มิได้รู้ว่าเธอถูกยิง แต่ครั้นเห็นเธอไร้สัญญานอนดิ้นไป ก็ใคร่ครวญว่า ทุกข์ของสามีเราเป็นอย่างไรหนอ พอเห็นเลือดไหลออกจากปากแผล ก็ไม่อาจสะกดกลั้นความโศกอันมีกำลังที่เกิดขึ้นในสามีที่รักไว้ได้ ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง.
พระราชาทรงดำริว่า กินนรคงตายแล้ว ปรากฏพระองค์ออกมา จันทาเห็นท้าวเธอหวั่นใจว่าโจรผู้นี้คงยิงสามีที่รักของเราจึงหนีไปอยู่บนยอดเขา พลางบริภาษพระราชา ได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ดังนี้

พระราชบุตรใด ยิงสามีผู้เป็นที่ปรารถนาของเรา เพื่อให้เป็นหม้ายที่ชายป่า พระราชบุตรนั้นเป็นคนเลวทรามแท้ สามีของเรานั้นถูกยิงแล้วนอนอยู่ที่พื้นดิน
พระราชบุตรเอ๋ย มารดาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้
ชายาของท่านจงได้รับสนองความโศกในดวงหทัยของข้าผู้เพ่งมองดูกินนรผู้สามีนี้
พระราชบุตรเอ๋ย ท่านได้ฆ่ากินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอมารดาของท่านอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย
ท่านได้ฆ่ากินนรีผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา ขอชายาของท่านจงอย่าได้พบเห็นบุตรและสามีเลย.

วาโยรัตนะ 05-03-2009 13:04

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วรากิยา แปลว่า ผู้กำพร้า.
บทว่า ปฏิมุจฺจตุ ได้แก่ จงกลับได้ คือถูกต้องบรรลุ.
บทว่า มยฺหํ กามาหิ ได้แก่ เพราะความรักใคร่ในฉัน.

พระราชา เมื่อจะตรัสปลอบนางผู้ยืนร่ำไห้เหนือยอดภูเขาด้วย ๕ คาถา จึงตรัสคาถาว่า
ดูก่อนนางจันทา ผู้มีนัยน์ตาเบิกบานดังดอกไม้ในป่า เธออย่าร้องไห้ไปเลย เธอจักได้เป็นอัครมเหสีของฉันมีเหล่านารีในราชสกุลบูชา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จนฺเท ความว่า เพราะได้สดับชื่อของพระโพธิสัตว์เวลาคร่ำครวญ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.
บทว่า วนติมิรมตฺตกฺขิ แปลว่า ผู้มีนัยน์ตาเสมอด้วยดอกไม้ที่มืดมัวในป่า.
บทว่า ปูชิตา ความว่า เธอจะได้เป็นอัครมเหสีผู้เป็นหัวหน้าของบรรดาหญิง ๑๖,๐๐๐ คน.

นางจันทากินรีฟังคำของท้าวเธอแล้วกล่าวว่า ท่านพูดอะไร เมื่อจะบันลือสีหนาท จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย แต่เราจักไม่ขอยอมเป็นของท่านผู้ฆ่ากินนรสามีของเรา ผู้มิได้ประทุษร้าย เพราะความรักใคร่ในเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ นูนาหํ ความว่า ถึงแม้เราจักต้องตายอย่างแน่นอนทีเดียว.
ท้าวเธอฟังคำของนางแล้วหมดความรักใคร่ ตรัสคาถาต่อไปว่า แน่ะนางกินรีผู้ขี้ขลาด มีความรักใคร่ต่อชีวิต เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์เถิด มฤคอื่นๆ ที่บริโภคกฤษณาและกระลำพัก จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ ภีรุเก แปลว่า ผู้มีชาติขลาดเป็นอย่างยิ่ง.
บทว่า ตาลิสตคฺครโภชนา ความว่า มฤคอื่นๆ ที่บริโภคใบกฤษณาและใบกระลำพัก จักยังรักษาความยินดีต่อเจ้า.

ท้าวเธอได้กล่าวกะนางว่า เธอจงอย่าไปจากความลับในราชตระกูล.
ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไปอย่างหมดเยื่อใย. นางทราบว่าท้าวเธอไปแล้ว ก็ลงมากอดพระมหาสัตว์ อุ้มขึ้นสู่ยอดภูเขา ให้นอนเหนือยอดภูเขา ยกศีรษะวางไว้เหนือขาของตน พลางพร่ำไห้เป็นกำลัง จึงกล่าวคาถา ๑๒ คาถาว่า

ข้าแต่กินนร ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเหล่านั้นตั้งอยู่ ณ ที่นั้น ฉันไม่เห็นท่านในที่นั้นๆ จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขาซึ่งเราเคยร่วมอภิรมย์กัน จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยใบไม้เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาอันลาดด้วยดอกไม้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ พวกมฤคร้ายกล้ำกลาย จะทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ลำธารอันมีน้ำใสไหลอยู่เรื่อยๆ มีกระแสเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกโกสุม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีเขียว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์มีสีเหลืองอร่าม น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีแดง น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันสูงตระหง่าน น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันมีสีขาว น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ยอดเขาหิมพานต์อันงามวิจิตร น่าดูน่าชม จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยยาต่างๆ เป็นถิ่นที่อยู่ของหมู่เทพเจ้า จะกระทำอย่างไร
ข้าแต่กินนร เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่ภูเขาคันธมาทน์ อันดารดาษไปด้วยโอสถทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร.

วาโยรัตนะ 05-03-2009 13:08

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ปพฺพตา ความว่า ภูเขาเหล่านั้น ซอกเขาเหล่านั้นและถ้ำเขาเหล่านั้นที่เราเคยขึ้นร่วมอภิรมย์ ตั้งอยู่ ณที่นั้นนั่นแล บัดนี้ เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่เทือกเขานั้น เราจะทำอย่างไรเล่า เมื่อฉันไม่เห็นท่านที่แผ่นผาลาดอันงดงามไปด้วยใบไม้ดอกและผลเป็นต้น ร่ำไรอยู่ว่าเราจะอดกลั้นได้อย่างไร.
บทว่า ปณฺณสณฺฐตา ความว่า ดารดาษด้วยกลิ่นและใบ ของใบกฤษณาเป็นต้น.
บทว่า อจฺฉา ได้แก่ มีน้ำใสสะอาด.
บทว่า นีลานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยแก้วมณี.
บทว่า ปีตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยทองคำ.
บทว่า ตมฺพานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยมโนศิลา.
บทว่า ตุงฺคานิ ความว่า มีปลายคมสูง.
บทว่า เสตานิ ได้แก่ สำเร็จด้วยเงิน.
บทว่า จตฺรานิ ได้แก่ เจือด้วยรัตนะ ๗ ประการ.
บทว่า ยกฺขคณเสวิเต ความว่า อันภุมเทวดาเสพแล้ว.

นางร่ำไห้ด้วยคาถาสิบสองบทด้วยประการฉะนี้แล้ว วางมือลงตรงอุระพระมหาสัตว์ รู้ว่ายังอุ่นอยู่ ก็คิดว่า พี่จันท์ยังมีชีวิตเป็นแน่ เราต้องกระทำการเพ่งโทษเทวดา ให้ชีวิตของเธอคืนมาเถิด. แล้วได้กระทำการเพ่งโทษเทวดาว่า เทพเจ้าที่ได้นามว่าท้าวโลกบาลน่ะไม่มีเสียหรือไรเล่า หรือหลบไปเสียหมดแล้ว หรือตายหมดแล้ว ช่างไม่ดูแลผัวรักของข้าเสียเลย.
ด้วยแรงโศกของนาง พิภพท้าวสักกะเกิดร้อน. ท้าวสักกะทรงดำริทราบเหตุนั้น แปลงเป็นพราหมณ์ถือกุณฑีน้ำมาหลั่งรดพระมหาสัตว์. ทันใดนั้นเองพิษก็หายสิ้น แผลก็เต็ม แม้แต่รอยที่ว่าถูกยิงตรงนี้ก็มิได้ปรากฏ. พระมหาสัตว์สบายลุกขึ้นได้ จันทาเห็นสามีที่รักหายโรค แสนจะดีใจ ไหว้แทบเท้าของท้าวสักกะ กล่าวคาถาเป็นลำดับว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า ฉันขอไหว้เท้าทั้งสองของท่านผู้มีความเห็นดู มารดาสามีผู้ที่ดิฉันซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉันได้ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมเตน ความว่า นางจันทากินรีสำคัญว่า เป็นน้ำอมฤตจึงกล่าวอย่างนั้น.
บทว่า ปิยตเมน แปลว่า น่ารักกว่า บาลีก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า ตั้งแต่บัดนี้ เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ ครั้นแล้วก็เสด็จไปสู่สถานที่ของท้าวเธอ.
ฝ่ายจันทากินรีก็กล่าวว่า พี่เจ้าเอ๋ย เราจะต้องการอะไรด้วยสถานที่อันมีภัยรอบด้านนี้เล่า มาเถิดค่ะ เราพากันไปสู่จันทบรรพตเลยเถิดคะ แล้วกล่าวคาถาสุดท้ายว่า

บัดนี้ เราทั้งสองจักเที่ยวไปสู่ลำธารอันมีกระแสสินธุ์อันเกลื่อนกล่นด้วยดอกโกสุม ดารดาษไปด้วยบุบผชาติต่างๆ เราทั้งสองจะกล่าววาจาเป็นที่รักแก่กันและกัน.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อนนางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้เหมือนกัน
ทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น เทวทัต
ท้าวสักกะได้มาเป็น อนุรุทธะ
จันทากินรีได้มาเป็น มารดาเจ้าราหุล
ส่วนจันทกินนรได้มาเป็น เราตถาคต แล.
พระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้ ทรงแสดงถึงความจงรักภักดีของจันทากินนรีที่มีต่อจันทกินนร คราวนั้นพระนางพิมพาจึงบรรลุโสดาปัตติผล ณ ที่นั้นเอง จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปพระวิหาร

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=271883

และข้อมูลที่ เป็นไฟล์สกุล .pdf วิทยานิพนธ์:การศึกษาวิเคราะห์การสร้างบารมีของพระนางพิมพาที่ปรากฏในชาดก ขอเชิญท่านที่สนใจใคร่อ่านหาความรู้ครับดั่งในรายละเอียดด้านล่างนี้ครับ
http://www.mcu.ac.th/site/thesisdeta...?thesis=254613

วาโยรัตนะ 05-03-2009 15:31

กราบแทบเท้าขอบพระคุณขอรับ:fea27916:

เถรี 05-03-2009 15:40

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ suthamma (โพสต์ 1619)
:A4672615-5: ขอทำความเข้าใจกันสักนิดนะครับ ในชาดกนั้นจะมีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้

:c6a3ddb3: ปัจจุบันนิทาน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วพระพุทธเจ้าทรงประชุมสงฆ์เพื่อตรัสถึงเรื่องนั้น

:onion_chew: ทูเรนิทาน เป็นเรื่องในอดีตที่พระพุทธเจ้าทรงยกมาตรัสเล่า เพื่อให้ทราบว่า เรื่องที่คล้ายคลึงกันแบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

:da4c2d5e: คาถา เป็นเหมือนหัวใจของเรื่องนั้น ๆ ที่ทรงยกขึ้นมาตรัสเล่า

:8f337f1c: เวยยากรณภาษิต เป็นคำแปลหรือคำขยายคาถาให้ชัดเจนขึ้น

:1894c7a1: ธรรมสโมทาน เป็นการสรุปเรื่องว่า บุคคลในอดีตนั้น ปัจจุบันนี้มาเกิดเป็นใครกันบ้าง

:967339c1: คิดว่าคงช่วยให้อ่านชาดกได้แบบมีอรรถรสมากขึ้นนะครับ

พึ่งทราบว่ามีแบบนี้ด้วย
ปกติรู้แค่ว่าชาดกมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ปรารภเรื่อง อดีตนิทาน และประชุมชาดก

วาโยรัตนะ 08-03-2009 11:06

กราบเรียนแทบเท้าท่านสุธัมมาขอรับ

กระผมไปเจอคำว่า "ธรรมสโมธาน" (ออกเสียงเหมือนกันกับ "ธรรมสโมทาน" )
ซึ่งตามที่เจอในที่นี้หมายถึง" ธรรมสโมธาน ๘ประการ "อันแปลได้ว่า


ก็เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่จะสำเร็จ

ได้เพราะประมวลมาซึ่งธรรม ๘ ประการ (ธรรมสโมธาน) คือ:-

๑. ความเป็นมนุษย์

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ

๓. ความถึงพร้อมด้วยเหตุ (แห่งการบรรลุพระอรหัต)

๔. การเห็นพระศาสดา

๕. การบรรพชา

๖. การสมบูรณ์ด้วยคุณ (อภิญญา ๕, สมาบัติ ๘)

๗. การกระทำยิ่งใหญ่ (บริจาคชีวิต)

๘. ความพอใจ (ฉันทะอันใหญ่หลวง อุตสาหะ ความพยายาม)

ใคร่ขอกราบเรียนสอบถามว่าที่ค้นเจอมานั้นถูกต้องหรือไม่ขอรับ


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:10


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว