กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2260)

เถรี 12-11-2010 14:11

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
 
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนเอง อย่าลืมว่าต้องตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา

วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันแรกของเดือนนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทางวัดมีการจัดบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๓ พรรษา ญาติโยมจำนวนหนึ่งก็ได้ไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน

คราวนี้เกิดมีคนสงสัยขึ้นมาว่า ในขณะที่ตนเองเดินจงกรมนั้น จะจับอยู่ที่อาการเดิน หรือว่าจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกดี ?

ขอบอกว่า การปฏิบัติที่วัดนั้น เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ แบบพองหนอ ยุบหนอ ซึ่งเป็นหลักสูตรบังคับ โดยมติมหาเถรสมาคม ที่กำหนดให้สำนักปฏิบัติธรรมทุกแห่งปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ แบบพองหนอ ยุบหนอนี้ แม้ว่าบางสำนักจะปฏิบัติแยกออกไปต่างหาก แต่เวลารายงานผลการปฏิบัติ ก็ต้องรายงานไปว่าปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ แบบพองหนอ ยุบหนอเช่นกัน

เมื่อเป็นดังนั้น ก็ต้องว่าตามการปฏิบัติของสายนี้ คือ เราต้องเอาความรู้สึกทั้งหมดจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวของเรา ก็คือดูอิริยาบถใหญ่ ๔ ประการ ได้แก่ เดิน ยืน นั่ง นอน

ขอยืนยันว่า เดิน ยืน นั่ง นอน เพราะว่าเมื่อเราเดินแล้วมายืน จึงสามารถที่จะนั่งและนอนได้ ถ้ายืนแล้วเดิน คนที่เดินจะนั่งไม่ได้ และดูอิริยาบถย่อยอีก ๒๒ ประการ มีการเหยียดแขน คู้แขน เหลียวดู เป็นต้น

ความหมายที่แท้จริงก็คือ ให้พวกเรากำหนดสติ รู้อยู่ในปัจจุบันขณะนั้น ๆ ว่าร่างกายมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะต้องรู้ให้ทันในปัจจุบันจริง ๆ

อย่างเช่นกำหนดว่า ยกหนอ...ความรู้สึกทั้งหมดก็จะอยู่ที่เท้าซึ่งค่อย ๆ ยกขึ้นมา จนถึงคำว่าหนอ ก็สุดพอดี ย่างหนอ...ความรู้สึกต้องอยู่ที่เท้าที่เคลื่อนออกไป พอลงคำว่าหนอ ก็สุดระยะการเคลื่อนเท้าไปข้างหน้าพอดี เหยียบหนอ...ก็เช่นกัน เท้าก็จะค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งสุดคำว่าหนอ ก็คือเหยียบพื้นเต็มฝ่าเท้าพอดี

เถรี 13-11-2010 00:58

ถ้าหากว่าความรู้สึกของเราทั้งหมดอยู่กับปัจจุบัน ดูตามอาการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ทุกขณะจิต ก็แปลว่า การปฏิบัติของเรานั้น ถูกต้องตามหลักของสติปัฏฐานแบบพองหนอยุบหนอแล้ว

ถ้าเราจะเอามาดัดแปลงให้เข้ากับการปฏิบัติในปัจจุบันของเราตอนนี้ ก็คือ เราต้องกำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไป ว่าตอนนี้ผ่านจมูก..ผ่านกึ่งกลางอก..ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก..ออกจากท้อง..ผ่านกึ่งกลางอก..มาสุดที่ปลายจมูก

ให้จิตคือความรู้สึกทั้งหมดของเรานั้น ตามลมหายใจเข้าไปพร้อมกับคำภาวนา ตามลมหายใจออกมาพร้อมกับคำภาวนา ให้รู้เท่าทันอยู่กับปัจจุบันคือตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ของลมหายใจเข้าออกของเราเอาไว้

ถ้าจิตของเราสามารถที่จะทรงตัวอยู่กับปัจจุบันของลมหายใจเข้าออกได้ เพียงระยะเวลาไม่นาน กำลังใจของเราก็จะก้าวขึ้นสู่ในระดับที่สูงขึ้น คือจากอุปจารสมาธิทั่วไป ก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นปฐมฌาน

การเดินตามสติปัฏฐานแบบพองหนอยุบหนอนั้น ท่านให้รั้งความรู้สึกไว้แค่ขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิเท่านั้น เพราะว่าถ้าเป็นปฐมฌานขึ้นไป จิตกับประสาทจะเริ่มแยกออกจากกัน ถ้าไม่ใช่บุคคลที่ฝึกมาคล่องตัวจริง ๆ จะไม่สามารถเดินจงกรมได้

เมื่อเป็นดังนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องอยู่แค่อุปจารสมาธิหรือขณิกสมาธิ แต่ว่าการปฏิบัติของเราในที่นี้นั้น การกำหนดรู้ปัจจุบันของเรา ถ้าอารมณ์ทรงตัว เราจะรู้สึกว่า ลมหายใจละเอียดขึ้น เบาขึ้น คำภาวนาบางทีก็หายไปเฉย ๆ ซึ่งเรามีหน้าที่แค่กำหนดตามดู ตามรู้ไปเท่านั้น

ถ้าปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ แบบพองหนอยุบหนอ ท่านจะให้กำหนดว่า รู้หนอ..รู้หนอ แต่เราไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า..รู้หนอ..ก็ได้ ถ้าสติจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ถึงไม่มีคำภาวนาก็ใช้ได้เช่นกัน

เถรี 14-11-2010 00:23

เมื่อสติของเราอยู่กับปัจจุบัน แม้ว่าร่างกายของเราจะเคลื่อนไหวอยู่ สภาพจิตของเราก็ไม่อาจจะปรุงแต่งไปในเรื่องรัก โลภ โกรธ หลง ได้

อย่างเช่นว่า ความรู้สึกตอนนี้รู้ว่าเท้าขวากำลังยกขึ้น เคลื่อนไป เหยียบลง เท้าซ้ายกำลังยกขึ้น เคลื่อนไป เหยียบลง แขนขวาขณะนี้ แกว่งไปข้างหน้า แขนซ้ายแกว่งไปข้างหลัง หรือว่า แขนซ้ายขณะนี้แกว่งไปข้างหน้า แขนขวาแกว่งไปข้างหลัง เป็นต้น

เมื่อความรู้สึกละเอียดมาก สามารถติดตามอาการทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกายนี้ได้ เมื่อจิตละเอียดกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันขณะนี้ การที่จะปรุงแต่งไปเป็น รัก โลภ โกรธ หลง ที่ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษก็ไม่มี เพราะว่าจิตหยุดอยู่กับการกำหนดในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะแบ่งความรู้สึกเพื่อไปปรุงไปแต่งได้

สิ่งทั้งหลายที่เราทำอยู่จึงเป็นเพียงกิริยาเท่านั้น จะไม่เกิดกรรมคือผลของการกระทำขึ้น เพราะว่าจิตไม่ได้มีส่วนร่วมในการปรุงแต่งสิ่งที่กระทำนั้น ๆ นอกจากดูตามความเป็นจริงในปัจจุบันว่า ตอนนี้เท้าขวาเคลื่อนไป เหยียบลง ตอนนี้เท้าซ้ายเคลื่อนไป เหยียบลง ตอนนี้แขนขวาแกว่งไปข้างหน้า แขนซ้ายแกว่งไปข้างหลัง ตอนนี้แขนซ้ายแกว่งไปข้างหน้า แขนขวาแกว่งไปข้างหลัง เป็นต้น

เมื่อความรู้สึกอยู่อย่างนี้ การปรุงแต่งไปในเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลง ก็จะไม่มี กรรมชั่วใด ๆ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ การมีสติรู้เท่าทันในปัจจุบันก็เป็นกรรมดี เป็นบุญอย่างมหาศาลยิ่ง เพราะว่าจิตใจผ่องใสจากกิเลส ปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง อย่างสิ้นเชิง เป็นการปฏิบัติตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า สจิตฺตปริโยทปนัง การชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส

เถรี 14-11-2010 21:12

ดังนั้น การที่เรากำหนดอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรานี้ ไม่ว่าเราจะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ตาม หรือไม่ใช้คำภาวนาก็ตามที ถ้าเราสามารถรักษาความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก รู้ตลอดโดยไม่ส่งกำลังใจไปไหน ก็แปลว่าเราสร้างกุศลมหาศาลให้เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง เพราะว่าจิตใจไม่ได้ปรุงแต่งไปในด้าน รัก โลภ โกรธ หลง มีสติอยู่กับปัจจุบันธรรม

นี่เป็นมหากุศลกามาวจรจิต ที่บังเกิดขึ้นกับใจของแต่ละคน จะสั่งสมเป็นบุญกุศล ซึ่งภายหลังจะส่งผลให้พวกเราทั้งหลายหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานได้

ดังนั้น ในการปฏิบัติวันนี้ ให้ทุกคนทำตามความถนัดของตัวเอง คือกำหนดดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พร้อมกับคำภาวนาที่เรามีความชำนาญ ถ้าหากว่าลมหายใจเบาลง ให้กำหนดรู้ว่าเบาลง ถ้าหากว่าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป ให้กำหนดรู้ว่าขณะนี้ลมหายใจและคำภาวนาหายไป

อย่าอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าอยากให้หายจากอาการเหล่านั้น ให้รู้ทันปัจจุบันขณะอยู่ตลอดเวลา แล้วรักษาอารมณ์เอาไว้อย่างนี้ จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:26


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว