เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๖ |
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นวันอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้กับเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ วันที่สาม
ในงานนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระศรีวิสุทธิวงศ์, ดร. (สุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู ป.ธ.๙) ประธานคณะวิปัสสนาจารย์ได้ปรารภว่า เป็นงานอบรมที่เรียบร้อยที่สุดเท่าที่เคยพบมา เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบรรดาเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดทั้ง ๑๑๒ แห่งที่มานั้น ลงปฏิบัติธรรมโดยพร้อมเพรียงกันทุกรอบ คณะสงฆ์ภาค ๑๔ มีสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ๑๒๐ แห่ง แต่ว่ามาปฏิบัติธรรมแค่ ๑๑๒ แห่ง เหตุก็เพราะว่ามีเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งชราภาพ เจ็บป่วย และได้รับอุบัติเหตุ ส่งใบลาโดยตรงต่อพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ แล้ว ส่วนในเรื่องที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์สุวิทย์ได้ปรารภนั้น เกิดจากการที่กระผม/อาตมภาพใช้วิธีที่บอกกับคนอื่นว่า "เรียกแขก" ซึ่งวิธีการนี้ กระผม/อาตมภาพใช้มาตั้งแต่สมัยการปฏิบัติกรรมฐานประจำปีของบรรดานิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือวิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ ซึ่งบรรดานิสิตได้เรียกร้องว่า "เอาท่านอาจารย์พระครูวิลาศกาญจนธรรม ดร. เท่านั้น คนอื่นไม่เอา..!" เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะวิธี "เรียกแขก" แบบนี้แหละ คำว่า "เรียกแขก" ในที่นี้ก็คือการปฏิบัติธรรมในช่วงตี ๔ กระผม/อาตมภาพจะลงไปเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง ถ้าหากว่าช่วงประมาณ ๘ โมงครึ่งก็จะลงตั้งแต่ ๘ โมง ถ้าหากว่าช่วง ๖ โมงเย็น ก็จะลงไปตั้งแต่ ๕ โมงครึ่ง เป็นต้น เรื่องราวต่าง ๆ ที่เล่า มีทั้งประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม ประสบการณ์ในการธุดงค์ พระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาต่าง ๆ ในวงการสงฆ์ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันและควรจะมีการแก้ไขอย่างไร หรือว่าตอบปัญหาในการปฏิบัติธรรม เป็นต้น วิธีการเหล่านี้นั้น กระผม/อาตมภาพจะไม่ใช้วิธีเรียกให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าปฏิบัติตรงเวลา แต่จะบอกกล่าวในเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์แบบนี้ด้วยการเล่าไปเรื่อย ๆ ในเมื่อเล่าไปเรื่อย ถึงเวลาผู้ฟังเห็นว่าน่าสนใจ ก็จะลงมาฟังมากขึ้น..มากขึ้น แล้วบอกต่อ ๆ กันไป ท้ายที่สุดทุกคนก็จะมารวมกันโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งวิธีการทั้งหลายเหล่านี้ ใครจะเอาไปใช้ กระผม/อาตมภาพก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องมีประสบการณ์มากสักหน่อย จะได้สามารถเล่าเรื่องต่อเนื่องได้วันละ ๔ เวลา เป็นระยะเวลา ๗ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง ไม่เช่นนั้นถ้าหากว่าเป็นเรื่องซ้ำ ๆ ซาก ๆ เขาก็จะหมดความสนใจ..! |
ในเมื่อทุกคนลงมาพร้อมเพรียงกันแล้ว การปฏิบัติธรรมช่วงตี ๔ นั้น กระผม/อาตมภาพจะเป็นผู้นำเอง พระภิกษุสามเณร ตลอดจนแม่ชีและฆราวาสที่เคยปฏิบัติธรรมที่วัดท่าขนุนก็จะทราบดีว่า กระผม/อาตมภาพจะนำปฏิบัติแบบไหน ซึ่งการนำปฏิบัติในลักษณะนั้น จะทำให้ทุกคนจิตใจสงบเร็วมาก เมื่อจิตใจทรงตัว ตั้งมั่น สงบเยือกเย็นแล้ว การปฏิบัติธรรมช่วงต่อไปทั้งวันก็จะไม่มีการต่อต้าน เหตุเพราะว่าในเมื่อใจสงบ รัก โลภ โกรธ หลง ไม่เกิด แรงกระทบไม่มี ส่วนเวลาอื่น ๆ ก็กลายเป็นเรื่องง่ายไปแล้ว
เพียงแต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ท่านจะต้องไม่ลืมว่าการนำปฏิบัติธรรมของท่านนั้น ต้องประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญสองประการ ประการแรกก็คือ สามารถดึงความสนใจของเขาทั้งหลายเหล่านั้นให้คล้อยตามแนวการปฏิบัติของเราได้ ประการที่สองก็คือ ความสามารถในการนำปฏิบัติของท่านต้องมีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกเอาไว้ตั้งแต่สมัยกระผม/อาตมภาพยังเป็นฆราวาสนำในการสอนมโนมยิทธิว่า ครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่าลูกศิษย์กำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะนำเขาได้ตรงกับความต้องการได้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าท่านจะเลียนแบบและทำตาม ก็ต้องซักซ้อมกำลังใจของตน การซักซ้อมกำลังใจของตนนั้น ก็คือการซักซ้อมในเจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณคือการรู้ใจนั้น การรู้ใจคนอื่นมีแต่เสมอตัวและขาดทุน คำว่าเสมอตัวก็คือ เราสามารถรู้ใจเขาแล้วรักษาอารมณ์ของตนเองได้ แต่ถ้าขาดทุนก็คือ ถ้ารู้ใจว่าเขาคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดีกับเรา แล้วเราไปโกรธไปเกลียดเขา ก็จะเป็นการขาดทุน ดังนั้น..ในเรื่องของการใช้เจโตปริยญาณนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้ใจตัวเอง เราต้องดูว่ากำลังใจของเราตอนนี้มีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้ายังไม่มีก็สร้างความดีนั้นขึ้นมา ถ้ามีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ตอนนี้กำลังใจของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้าหากว่ามีอยู่ ก็เร่งรีบขับไล่ออกไปจากใจ แล้วก็ระมัดระวังไว้ อย่าให้ความชั่วทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามาอีก ถ้าท่านทั้งหลายซักซ้อมกระทำในลักษณะอย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะมีความเคยชินกับการรู้ใจตนเอง ถ้าท่านสามารถรู้ใจตนเองได้ในขอบเขตระดับไหน ท่านก็จะสามารถรู้ใจคนอื่นได้ในขอบเขตระดับนั้น แม้กระทั่งบุคคลที่อยู่ในระดับสูงกว่า ถ้าหากว่าเขาไม่ได้เจตนาปิด ท่านที่มีเจโตปริยญาณคล่องตัวก็สามารถที่จะรู้ได้เช่นกัน |
แต่ว่ากระผม/อาตมภาพนั้นเข็ดมาตั้งแต่สมัยที่ "พระองค์ที่ ๑๐" ซึ่งไปยังวัดท่าซุงแล้ว ท่านปิดจนกระทั่งกระผม/อาตมภาพไม่สามารถที่จะเห็นอะไรได้นอกจากความมืดสนิท ซึ่งถ้าหากว่าการใช้เจโตปริยญาณดูใจคนอื่นแล้วเห็นในลักษณะนั้น แปลว่ากำลังใจของบุคคลนั้นย่ำแย่มาก..!
กระผม/อาตมภาพจึงได้ฟันธงว่า "พระองค์ที่ ๑๐" ท่านหาความดีไม่ได้ จนกระทั่งภายหลังพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านชมว่า "โง่ดีมาก..!" เนื่องเพราะว่าการใช้เจโตปริยญาณนั้น เราจะรู้ได้ในระดับที่เท่ากันและต่ำกว่าเท่านั้น ระดับที่สูงกว่า ถ้าเขาเจตนาปิด เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย หรือว่าอาจจะรู้ผิดพลาดอย่างที่กระผม/อาตมภาพเป็นมา อีกท่านหนึ่งซึ่งต้องขออภัย ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้ หวังว่าลูกหลานหรือว่าลูกศิษย์ของท่านจะให้อภัย ก็คือท่านอาจารย์ปถัมภ์ เรียนเมฆ ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือมหาจักรและคนค้นโลกยุคแรก ท่านอาจารย์ปถัมภ์นั้นได้เจโตปริยญาณคล่องตัวมาก ท่านมาสายพุทธภูมิเต็มตัว ถึงขนาดสามารถที่จะบัญญัติกองกรรมฐานของตนเองขึ้นมาได้ แม้ว่าจะไม่พ้นไปจากกสิณของพระพุทธเจ้า แต่ก็เป็นกสิณมหาจักร ก็คือบริกรรมว่า "จักรเข้า..จักรเข้า..จักรเข้า" จนกระทั่งสามารถกำหนดรูปกงจักรให้ใหญ่ให้เล็กได้อย่างใจ ท่านอาจารย์ปถัมภ์นั้นพบเห็นหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงครั้งแรก ไปคุยกับผู้คนแทบจะทั่วไปหมดว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อนั้นกำลังใจสะอาด สว่างจนหาประมาณมิได้ เป็นพระสุปฏิปันโนที่ควรค่าแก่การกราบไหว้และเคารพนับถืออย่างยิ่ง แต่ว่าเมื่อไปอีกครั้งหนึ่งนั้น พบว่าหลวงพ่อกำลังดุด่าลูกศิษย์ที่ทำการทำงานผิดพลาดอยู่พอดี ท่านก็ตั้งใจกำหนดใจดู ปรากฏว่าหลวงพ่อท่านรู้ทันเลยปิดกำลังใจเสีย ท่านอาจารย์ปถัมภ์ไม่สามารถที่จะดูได้ จึงพิจารณาแล้วฟันธงจากเปลือกนอกว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงนั้น อย่างเก่งก็เป็นไม่เกินระดับสกทาคามี เพราะว่ายังมีอารมณ์โกรธ ด่าคนอื่นเขาอยู่..! ความจริงถ้าท่านที่เป็นพระสกทาคามีอย่างแท้จริงจะรู้ว่า กำลังใจของพระสกาทาคามีนั้นมีแค่แรงกระทบนิดหน่อยเท่านั้น ต่อให้รู้สึกโกรธก็เนิ่นนานหลังจากที่ได้รับการกระทบแล้ว นึกขึ้นมาได้ว่า เอ๊ะ..นั่นเขาทำไม่ดีกับเรา แล้วกำลังที่สูงกว่าของพระสกาทาคามีก็กดความไม่พอใจนั้นจมหายไป แต่ท่านอาจารย์ปถัมภ์ไปโดนในลักษณะที่ "พระองค์ที่ ๑๐" บอกกล่าวกับกระผม/อาตมภาพว่า "แว่นแตก" ก็คือทิพจักขุญาณไม่สามารถจะใช้ให้ได้ผลได้ตามปกติ ดังนั้น..จึงได้ "ฟันธง" ในลักษณะนั้น |
กระผม/อาตมภาพเล่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เอาไว้ เพื่อที่จะได้เป็นเนติ คือแบบอย่างแก่บุคคลที่มีความสามารถทางด้านทิพจักขุญาณ โดยเฉพาะเจโตปริยญาณว่า ท่านจะสามารถรู้ใจคนอื่นได้เฉพาะที่เท่ากันหรือต่ำกว่าเท่านั้น ถ้าท่านที่สูงกว่าตั้งใจปิด เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ดังที่ท่านอาจารย์ปถัมภ์โดนพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านปิด หรือว่าดังที่กระผม/อาตมภาพโดน "พระองค์ที่ ๑๐" ท่านปิด จนเกิดอาการ "แว่นแตก" มาแล้ว
ท่านที่ตั้งใจจะเลียนแบบ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่จะสอนกรรมฐาน จึงควรที่จะฝึกดูใจของตนเองให้มีความคล่องแคล่วว่องไว สามารถรู้ทันได้ทุกเวลาว่ากิเลสกินใจเราหรือไม่ ? เราขับไล่กิเลสออกจากใจได้ทันหรือไม่ ? เรามีความดีอยู่ในใจหรือไม่ ? เราสามารถเสริมสร้างความดีให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปหรือไม่ ? ถ้าท่านสามารถทำอย่างนี้ได้ ต่อให้ท่านไม่ต้องการรู้ใจคนอื่น ถึงเวลาถ้าเขาอยู่ในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่า เราก็จะรู้ได้โดยอัตโนมัติเอง สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:00 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.