กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   สนุกสนานวุ่นวายในเนปาล (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=62)
-   -   สนุกสนานวุ่นวายในเนปาล ตอนที่ ๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=4670)

สุธรรม 17-11-2015 04:00

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1447707568
เจ็บตรงไหนให้ลูบตรงนั้น

อ้าว..ชีวิตสับสนซะแล้ว ข้อสังเกตที่ว่าชาวเนปาลีนับถือทุกศาสนาท่าจะเป็นจริง ก็เล่นสร้างวัดฮินดูกับพุทธเอาไว้ที่เดียวกัน แถมวิหารวัดฮินดูยังอยู่ข้างหน้าเสียด้วย ข้างหน้าวิหารเป็นศาลาขนาดเล็กที่มีแต่หลังคา ในศาลามี "วัชระ" ขนาดใหญ่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ตั้งเอาไว้ วัชระนี้แทนพระปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วงกลางรอบศาลาเป็นกงล้อมนต์ ใครมากราบไหว้พระปัญญาคุณแล้ว ก็หมุนกงล้อมนต์ไปด้วย เชื่อว่าจะช่วยให้ความจำดี สามารถจดจำบทสวดหรือพระสูตรต่าง ๆ ได้มาก...

มัคคุเทศก์พาเดินไปตามระเบียงด้านซ้าย ถึงตรงมุมที่มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์หนึ่งยืนอยู่บนฐานบัวในท่าห้อยพระหัตถ์ขวาที่จีบเป็นท่ามุทรา มีสายโลหะรัดช่วงพระอุระติดกับกำแพงเพื่อกันล้ม พระโอษฐ์ พระหัตถ์และพระบาท ถูกลูบจนลื่นเงาวับ นายทองบอกว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาก ใครเจ็บไข้ได้ป่วยตรงส่วนไหน ก็จะมาลูบส่วนนั้นของพระพุทธรูป แล้วมาลูบตรงจุดที่เจ็บป่วยของตน เชื่อว่าทำให้หายป่วยได้...

ป้ามอยรี่เข้าไปลูบก่อนเพื่อน คนอื่น ๆ ก็ทำตาม อาตมาที่คันเพราะวัยทองมาหลายวัน แม้อาการเกือบจะปกติแล้ว ก็ไปลูบองค์พระที่เย็นจนเสียดกระดูก แล้วมาลูบตัวเองบ้าง แล้วกราบขอขมาพระพร้อมกับถ่ายรูปองค์พระไว้ด้วย จากนั้นเดินลงจากระเบียงมายังพื้นข้างล่าง...

สุธรรม 17-11-2015 15:39

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1447749503
ไม่ว่าอะไรก็หล่อด้วยทองเหลือง

เดินรอบตัวอาคารในลักษณะทักษิณาวรรต ทางซ้ายมือเป็นแถวกงล้อมนต์ที่ยาวไปตลอดพื้นที่วัด มีรูปหล่อสัมฤทธิ์เป็นลิงกำลังถือลูกขนุนอยู่ในมือด้วย นายทองไม่ได้เดินมาใกล้ จึงไม่ทราบว่ารูปทหารพระรามนี้มีความหมายว่าอะไร ด้านในติดกับวิหารทองคำ มีรูป "สิงห์หัวจุกตาโต" หล่อด้วยสัมฤทธิ์ยืนแลบลิ้นอยู่ทั้งสองข้างทางขึ้น...

รูปปั้นเทวดาและสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ แม้แต่เสาหรือกรอบประตูและทับหลังทั้งหมด ล้วนแต่หล่อขึ้นมาจากทองเหลือง ทองแดง หรือสัมฤทธิ์ทั้งสิ้น องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์มากหรือเป็นที่เชื่อถือมาก ก็โดนลูบจนลื่นไปหมด...

สุธรรม 18-11-2015 05:12

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1447798268
ที่นี่เขาศึกษาพระไตรปิฎกกันเอง

วนมาจนถึงด้านหน้าแต่เป็นมุมทางขวา มีบันไดให้ขึ้นไปชั้นบน ถามมัคคุเทศก์ของเราแล้ว นายทองบอกว่าขึ้นไปได้ พวกเราจึงเดินตามกันขึ้นไป หลบหญิงคนหนึ่งที่กำลังกวาดบันไดอยู่ ขึ้นถึงชั้นบนมีกงล้อมนต์ ๓ ใบ ใบใหญ่เป็นโอบติดตั้งอยู่ตรงกลาง สองใบย่อมติดอยู่ทางซ้ายขวา...

มองเข้าไปในห้องแคบ ๆ ยาว ๆ ตรงกลางเป็นแท่นสำหรับตามประทีปเป็นพุทธบูชา มีแผ่นไม้สำหรับกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์วางอยู่ด้วย มีแท่นสวดมนต์อยู่ทั้งสองฝั่ง ตรงกลางเป็นห้องกระจก มีรูปเจ้าแม่กวนอิม ๘ กร ยืนอยู่ข้างใน ญาติโยมหลายท่านกำลังถวายเครื่องบูชาอยู่..

ไม่อยากรบกวนกิจกรรมของพวกเขา เมื่อไหว้เจ้าแม่กวนอิมแล้ว พวกเราจึงกลับลงมายังด้านล่าง ที่เป็นห้องยาวเหมือนกับชั้นบน ในห้องนี้มีผู้ชายเป็นสิบคน กำลังอ่านสมุดพับหน้าแคบเหมือนกับจารึกใบลาน ที่น่าจะเป็นพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา วางอยู่บนแท่นเตี้ย ๆ เหมือนกับโต๊ะขนาดเล็ก แต่ละคนดูคร่ำเคร่งจริงจังมาก...

สุธรรม 18-11-2015 14:16

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1447830904
บาตรสัตตโลหะราคา "แพงโคตร"

แม่ป๋อมเดินเข้ามาพอดี บอกว่าไปซื้อ "บาตรสัตตโลหะ" มา ราคาใบละ ๙๐ ดอลลาร์ อาตมาบอกว่า "แพงโคตร" ทำเอาคุณแม่หน้าจ๋อยไปเลย ป้ามอย น้องเก๋ น้องเล็ก และลูกปุ๊ก จึงชวนให้เข้าไปไหว้รูปเจ้าแม่กวนอิม ๘ กร ปางประทับนั่ง ที่หล่อสัมฤทธิ์งดงามมาก ๆ ตั้งอยู่ในห้องตรงมุมขวานี่เอง ซื้อประทีปน้ำมันเนยมาจุดถวายแล้วอธิษฐานเอาตามอัธยาศัย...

ทุกคน "รู้สึก" เหมือนกันหมดว่า ต้องเจ้าแม่กวนอิมองค์นี้เท่านั้น ที่ Full Power จริง ๆ พลังที่แผ่ออกมาเยือกเย็นจับใจ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ แสดงว่าผู้สร้างต้องเปี่ยมได้ด้วยพรหมวิหาร ๔ กระแสพลังถึงได้เย็นกายเย็นใจจนถึงขนาดนี้...

อิ่มเอมเปรมใจกับความปีติที่ได้สัมผัสกับพลังแห่งเมตตากันเต็มที่แล้ว นายทองก็พาออกมานอกวัด เลี้ยวขวาไปตามซอยที่พวกเราเดินมาเมื่อเช้า ซึ่งตอนนี้ร้านค้าต่าง ๆ เปิดกันหมดแล้ว มีทั้งร้านจำหน่ายของที่ระลึกต่าง ๆ ทั้งพระพุทธรูป หน้ากาก กงล้อมนต์ บาตรศักดิ์สิทธิ์ ลูกประคำ ร้านจำหน่ายภาพทังกา ร้านภาพวาดและแกะสลัก พวกเราเดินไปพลางดูของไปพลาง...

สุธรรม 19-11-2015 02:41

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1447875656
ช่วงสายแดดจัดมาก

มาถึงหน้าจตุรัสดูบาร์อีกครั้ง อาตมาถ่ายรูปครุฑสัมฤทธิ์ ที่เหมือนคนใส่เสื้อคลุมขนนกไปด้วย พร้อมกับ "นาคเกี้ยว" ขนาดในกรอบเล็ก ๆ บนพื้นหน้าวิหารฮินดู ที่มีคนมาถวายเครื่องสักการะกันเต็มไปหมด นายทองเร่งยิก ๆ ให้รีบเดินเพราะแดดร้อนเอาเรื่องทีเดียว แต่อากาศของเนปาลร้อนแค่ไหนก็ไม่มีเหงื่อออกแม้แต่น้อย จึงไม่เหนียวตัวแบบบ้านเรา...

มีเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเดินมาถามนายทองประมาณว่า พวกเราเป็นใคร ? มาจากไหน ? แล้วนายทองหันมาบอกกับพวกเราว่า การเข้าชมมรดกโลกอย่างจตุรัสดูบาร์ นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าเข้าชมคนละ ๕๐๐ รูปี ยกเว้นนักบวชอย่างอาตมาที่ไม่ต้องจ่าย...

พวกเขาสงสัยมาตั้งแต่เช้ามืดแล้ว ว่าคณะของเราคงจะเป็นนักท่องเที่ยว แต่ไม่เห็นมีมัคคุเทศก์มาด้วย ประกอบกับยังไม่ได้เวลา จึงไม่ได้มาขอเก็บค่าเข้าสถานที่ คนอื่น ๆ จึงต้องควักเงินส่งให้กับนายทองรวม ๓,๐๐๐ รูปี เจ้าหน้าที่รับไปแล้วเดินหายไปครู่หนึ่ง ก็กลับมาพร้อมกับบัตรคล้องคอสีฟ้า ๖ ใบ แจกให้ทุกคนคล้องคอเอาไว้ คราวนี้เชิญชมสถานที่ตามสบายเลย...

สุธรรม 22-11-2015 13:10

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448172586
ด้านหลังคือวิหารพระกฤษณะ (รูปนี้ถ่ายในช่วงเช้า)

มัคคุเทศก์พาหลบเข้าไปในร่มของตัวอาคารพลางบรรยายว่า "เมืองปาทานนี้เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงเหนือแม่น้ำบาคมาตี ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุประมาณ ๕ กิโลเมตร สร้างในศตวรรษที่ ๓ สมัยราชวงศ์มัลละ เป็นเมืองคู่แฝดของกรุงกาฐมาณฑุ ได้รับการขนานนามว่า ลลิตปุระ หรือ เมืองแห่งความงาม (City of Beauty) เป็นเมืองแห่งศิลปะ มีชื่อเสียงทางเป็นศูนย์กลางงานหัตถศิลป์ของชาวทิเบตอพยพ โดยเฉพาะในเรื่องของพระพุทธรูป...

ด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรมในยุคกลาง ทำให้ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเฟื่องฟูในแถบนี้ ในเมืองจึงเต็มไปด้วยวัดฮินดูและสิ่งปลูกสร้างในพระพุทธศาสนา เมืองนี้เป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมและการวางผังเมืองแบบเนวารีที่สุดยอด มีถนนโบราณตัดตามแนวเหนือใต้ และตะวันออกตะวันตก แบ่งเมืองออกเป็น ๔ ส่วน โดยมีจตุรัสปาทาน ดูร์บาร์ และพระราชวังปาทานเป็นศูนย์กลาง.."

นายทองชี้ให้ดูตัววิหารและอาคารต่าง ๆ ทั่วจตุรัส พลางบอกว่า วิหารหลังที่มีคนเดินเข้าออกอยู่นั้น คือวิหารพระกฤษณะ เป็นหลังเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เปิดใช้งานตามปกติ มีคนมาสักการะเป็นจำนวนมากทุกวัน อาคารอื่นนอกจากนั้นถูกปิดเพื่ออนุรักษ์ไว้ในฐานะมรดกโลก...

สุธรรม 23-11-2015 04:01

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448226013
ถ่ายรูปหมู่ระหว่างรอนายทองซื้อบัตร

แม้ว่าตอนนี้แดดจะดีมาก แต่พวกเราถ่ายรูปไปหมดตั้งแต่เช้าแล้ว อาตมาจึงถ่ายเพิ่มอีกเล็กน้อยเท่านั้น ผู้คนช่วงนี้ก็ไม่ได้แน่นหนามากเท่ากับช่วงเช้ามืด คงจะมาสักการะเทพเจ้าต่าง ๆ แล้วไปซื้อข้าวปลาอาหาร จากนั้นกลับบ้านหรือไปทำงานกันแล้วเป็นส่วนมาก...

จากนั้นนายทองชวนพวกเราเดินเข้าประตูพิพิธภัณฑ์เมืองปาทาน (Patan Museum) พลางแจ้งว่า ต้องจ่ายค่าเข้าชมในส่วนนี้อีกคนละ ๔๐๐ รูปี เว้นให้นักบวชอย่างอาตมาตามเคย ทำเอาทุกคนแทบจะโกนหัวบวชกันเดี๋ยวนี้เลย..!

เจ้าหน้าที่รับเงิน ๒,๔๐๐ รูปีไปจากนายทอง แล้วตอกบัตรส่งให้พวกเรา ๖ ใบ รับบัตรมาแล้วมัคคุเทศก์ของเราบอกว่า บัตรนี้ใช้ชมสถานที่ทุกแห่งในเขตพระราชวังเก่าแห่งนี้ อ้าว..อาตมานึกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมดา ไม่ได้นึกว่าเข้ามาอยู่ในพระราชวังเก่าแก่ของราชวงศ์มัลละแบบนี้...

สุธรรม 23-11-2015 21:17

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448288166
กระดานหรือเสาก็ไม่รู้ ? แกะสลักได้สวยมาก

ภายในพระราชวังมัลละนี้ มีสภาพเหมือน “บ้านสี่องค์” ของจีน ก็คือมีลานกว้างตรงกลาง ล้อมรอบด้วยอาคารทั้งสี่ด้าน ประตูที่พวกเราเดินเข้ามาซื้อบัตรเป็นชั้นล่างของตัวอาคารด้านตะวันตก ที่กลางลานมีอาคารคอนกรีตสีขาว ยอดเป็นโลหะทองเหลือง ทรงเหมือนเสลี่ยงหรือวอที่ไม่มีคานหามตั้งอยู่...

สงสัยว่าคนสมัยก่อนทั้งแขกทั้งไทยก็ตัวใหญ่กว่าพวกเราตั้งเยอะ แต่ทำไมตัวอาคารแบบเนวารีก็ดี เรือนไทยก็ดี ถึงได้เตี้ยชวนให้ชนหัวแตกกันทั้งนั้น อาจจะเป็นว่าคนสมัยก่อนสติดีกว่าพวกเรา หรือเป็นคนใจเย็นไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม ถึงกรอบประตูหรือคานจะเตี้ยก็ไม่เป็นปัญหา...

พวกเราเดินเข้าไปหน่อยเดียวก็มีบันไดไม้ไม่ชันนักให้ขึ้นไปยังชั้นสอง อาตมาเดินขึ้นไปนับได้ ๑๐ ขั้น ตรงนี้ต่างจากความเชื่อของไทย เพราะของเรานิยมให้ขั้นบันไดตกเลขคี่ จะเป็น ๓ – ๕ – ๗ – ๙ ขั้นก็ได้ แต่ไม่ใช่ลงเลขคู่สิบถ้วนแบบนี้ ที่ผนังสองข้างบันได จะเป็นแผ่นไม้ก็หนาไป จะเป็นเสาก็บางเกินไป แกะสลักอย่างสวยงามติดอยู่ด้านละ ๓ – ๔ ชิ้น...

สุธรรม 24-11-2015 03:51

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448311653
"ยายกระรอก" บอกว่า เนปาลเคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน

ข้างบนเป็นชานแคบ ๆ ยาว ๆ ไปตามตัวอาคาร แยกออกไปทางซ้ายและขวา พวกเราเลี้ยวไปทางขวามือก่อน ชิ้นแรกที่ตั้งอยู่ทางซ้ายมือถัดจากหน้าต่างฉลุลายแบบเนวารี เป็นซุ้มไม้แกะสลักทรงเหมือนพระขุนแผนบ้านกร่างของเรา แต่ขอบสลักลวดลายนูนต่ำซึ่งถึงจะเริ่มลบเลือนไปบ้างแล้ว แต่ยังสวยสะดุดตา ในซุ้มเป็นรูปหล่อโลหะเล็ก ๆ ของพระสงฆ์ที่ยืนพนมมืออยู่บนแท่น อาตมามองดูโดยรอบแล้ว ไม่เห็นว่ามีป้ายห้ามถ่ายรูป จึงรีบถ่ายเอาไว้ทันที แม่ป๋อมก็เอาอย่างบ้าง ถือคติว่าถ้าผิดก็มีเพื่อนโดนด้วยกัน..!

ช่องถัดมาลักษณะเป็นตู้กระจกติดผนังบานใหญ่ ภายในมีพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์หล่อโลหะ ตลอดจนเทพพิทักษ์ในพระพุทธศาสนา ศิลปะวัชรยานแบบทิเบตอยู่สิบกว่าองค์ ช่องถัดไปตรงกลางเป็นใบหน้าที่ไม่มีลวดลายอยู่ในซุ้มซึ่งหล่อโลหะด้วยกัน แสดงออกถึงความเป็นอนัตตาคือไม่มีตัวตน รอบข้างเป็นพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ เช่นกัน ยกเว้นมุมขวาบนเป็นซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) ของหอยงวงช้าง (Nautilus Shell) ที่มาปนอยู่ได้อย่างไรก็ไม่รู้ ?

“เนปาลเคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อนเจ้าค่ะ พออนุทวีปอินเดียเลื่อนมาชนเข้า แผ่นดินโดนดันจนโก่งตัวเป็นที่ราบสูงและแนวเทือกเขาหิมาลัย จึงยังมีซากสัตว์ทะเลหลงเหลืออยู่มาก” เจ้าแม่คนสวยทำตัวเป็นมัคคุเทศก์เถื่อน อธิบายเสร็จก็แวบหายเป็นนินจา เพราะกลัวว่าอาตมาจะ “หลังมือ” ให้ โทษฐานที่เป็น “นางฟ้าขี้ฮก” ต่อไปคงต้องเรียกว่า “ยายกระรอก” เพราะหนีไวจริง ๆ..!

สุธรรม 24-11-2015 14:19

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448349527
รูปนี้แกะจากหินตั้งอยู่กลางทางเดิน

การจัดพิพิธภัณฑ์ของเขานับว่าเป็น “มืออาชีพ” มาก เพราะมีทั้งพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่ตั้งอยู่บนแท่นข้างทางเดิน ซึ่งถ้าไม่เกรงใจก็ลูบเล่นได้เลย มีทั้งที่อยู่ในตู้กระจกแบบบานใหญ่ มีทั้งที่อยู่ในกล่องแขวนลอยกับข้างฝา มีทั้งที่ตั้งบนแท่นที่มีฐานสูง และที่จัดตั้งกลางทางเดินให้คนดูเดินอ้อมได้ทั้งสองฝั่ง ตลอดจนที่ตั้งไว้ตามขอบหน้าต่างและช่องเว้าของผนัง...

วัสดุก็มีทั้งไม้แกะสลัก หินแกะสลัก หล่อสัมฤทธิ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทพพิทักษ์พระพุทธศาสนา มีเทวรูปฮินดูน้อยมาก แสดงให้เห็นชัดว่าเมืองปาทานโบราณเป็นอาณาจักรพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ส่วนที่มีค่อนข้างมากก็คือตะเกียงทองเหลืองแบบต่าง ๆ แสดงว่านิยมการตามประทีปบูชาเป็นอย่างมาก อาจจะติดมาจากความเคยชินในการบูชาไฟของนักบวชฮินดูก็เป็นได้...

การจัดแสดงแบ่งออกเป็นห้อง ๆ ตามยุคตามสมัย บางครั้งก็เป็นไปตามประเภทของวัตถุ มีการใช้แสงน้อยมาก บางชิ้นก็น่าสนใจสุด ๆ อย่างเช่น ตะเกียงแขวนหล่อสัมฤทธิ์ ที่มีเชิงสำหรับไส้ตะเกียงยื่นออกไปทุกทิศ พระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งครุฑนั้นอ้วนกลมน่ารักมาก หรือ ทัพพีที่มีด้ามเป็นงาแกะสลักลวดลายละเอียดยิบ...

สุธรรม 25-11-2015 03:22

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448396499
สร้างได้งามมาก แต่..คนไทยรับไม่ได้..!

เมื่อวนดูครบรอบของชั้นที่สอง พวกเราก็ขึ้นบันไดไปชั้นที่สามต่อ ชั้นนี้มีทั้งเครื่องทองเหลือง รูปหล่อพระโพธิสัตว์ ภาพวาดบนกระดาษ รูปหล่อโลหะพระสงฆ์ ที่เด่นชัดที่สุดก็คือรูปของท่านมิราเลปะ (Jetsun Miralepa) พระพุทธรูปทั้งธยานิพุทธะทั้ง ๕ พระองค์ ได้แก่ พระไวโรจนะ พระรัตนสัมภวะ พระอักโษภยะ พระอโมฆสิทธิ และพระอมิตาภะ ตลอดจนมนุสสีพุทธะ คือพระศากยมุนีโคดม...

ห้องถัดไปมีโมเดลของพระสถูปโพธานารถ และเครื่องโลหะจำพวกยอดปราสาท พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระโพธิสัตว์แบบต่าง ๆ รวมถึงนางปรัชญาปารมิตา และที่พวกเราแทบจะไม่เคยเห็นมาก่อน คือพระพุทธรูปปางเสพสม (Yub Yum) ซึ่งเป็นความเชื่อยุคพระพุทธศาสนาเสื่อม...

“ความเชื่อนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเทพสตรีของฮินดู และการเทิดทูนอวัยวะเพศของชายหญิง ว่าเป็นสุดยอดพลังในการสร้างโลกเจ้าค่ะ เมื่อมาผสมผสานเข้ากับพระพุทธศาสนายุคมันตรยาน จึงกลายเป็นว่า ชาย (Yub) คือ ปัญญา หญิง (Yum) คือ เมตตากรุณา ทั้งสองประการต้องผสานกันเป็นหนึ่งเดียว จึงจะเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริงได้” มัคคุเทศก์กระรอกกลัวว่าจะไม่กระจ่าง จึงแวบมาอธิบาย พอยั่วให้อยากแล้วก็จากไปตามเคย...

สุธรรม 25-11-2015 15:06

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448438730
น่านอนมากกว่านั่ง..!

ด้านท้ายห้องแสดง H (Gallery H) มีรูปไม้แกะสลักคนผอมกะหร่อง แขนขายาวยืดผิดปกติ ป้ายภาษาอังกฤษบอกว่า ไม่สามารถอธิบายได้ว่ารูปนี้สื่อความหมายว่าอะไร ? “สำหรับพระคุณท่านแล้ว แค่นึกถึงเสาชิงช้าวัดสุทัศน์ ก็ทราบความหมายแล้วเจ้าค่ะ” ฮ่า..ยายกระรอกเธอพูดเหมือนกับที่อาตมานึกไว้ตั้งแต่แรก ก็คือรูปเปรตนั่นเอง...

มาถึงห้องแสดง G (Gallery G) นี่แปลว่าคณะของอาตมาเดินย้อนสวนทางชาวบ้านเขาแน่ ๆ ห้องนี้แสดงถึงวิธีการหล่อโลหะพระพุทธรูปและเทวรูปแบบต่าง ๆ มีทั้งแบบหล่อตันและหล่อแบบกลวง มีทั้งแบบเต็มองค์และหล่อเป็นชิ้น ๆ แล้วค่อยเอามาประกอบกันภายหลัง และแสดงวิธีการดุนลายโลหะ ตั้งแต่การร่างภาพบนกระดาษ การลอกลายลงบนแผ่นโลหะ การตอกดุนลายทีละส่วน จนสำเร็จออกมาเป็นพระพักตร์ของทั้งพระพุทธรูปหรือเทวรูป ตลอดจนซุ้มประตู หน้าบัน หรือทับหลัง ที่เป็นโลหะทองเหลืองหรือสัมฤทธิ์ล้วน ๆ...

เดินกันจนขาลากมาถึงตรงนี้ เขามีเบาะนุ่ม ๆ วางไว้ตรงส่วนที่เป็นเหมือนขอบหน้าต่าง แต่กว้างเกือบเมตร สามารถนอนเล่นได้เลย แต่พวกเราแค่นั่งพักขาและถ่ายรูปกันครู่หนึ่ง แล้วปล่อยให้บรรดานักท่องเที่ยวฝรั่งนั่งทอดหุ่ยกันต่อไป อาตมานำคณะเดินขึ้นไปชั้นบนสุด ซึ่งแสดงภาพบุคคลสำคัญในอดีตของเมืองปาทาน และภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญ เช่น งานฉลองเทพเจ้าต่าง ๆ ภาพเมืองปาทาน กาฐมาณฑุ และภักตรปุระในอดีต มีทั้งภาพขาวดำและภาพสี เดินดูจนครบก็วนมาลงบันไดตรงมุมเดิม กลับลงมายังข้างล่าง ใช้เวลาในการเดินชมรวม ๓๙ นาที...

สุธรรม 26-11-2015 05:45

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448491445
ลานพิธีใหญ่ในพระราชวังปาทาน

อาตมาดูเวลาในกล้องถ่ายรูป เห็นเป็นเวลา ๑๑.๐๗ น. แล้ว แต่นายทองที่นั่งรอพวกเราอยู่ข้างล่างพาเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ เลี้ยวซ้ายมาที่ประตูไม้แกะสลักสวย ๆ ซึ่งอาตมาถ่ายรูปไปเมื่อเช้า พามุดเข้าไปข้างใน ขึ้นบันไดแคบ ๆ ไม่กี่ขั้นก็เลี้ยวขวาเข้าประตูไป ข้างในมีลานไม่ใหญ่นัก ด้านหนึ่งทำเป็นขั้น ๆ ในสมัยก่อนน่าจะใช้เป็นที่นั่งสำหรับชมงานต่าง ๆ ที่มีขึ้นในลาน แต่ตอนนี้เป็นที่วางกระถางต้นไม้จนกลายเป็นสวนขนาดย่อมไปแล้ว รอบข้างก็คล้ายคลึงกับในส่วนของพิพิธภัณฑ์ ก็คือเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ที่มีเสา ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักแบบเนวารี...

มัคคุเทศก์ชี้ให้ดูลักษณะของตัวอาคาร ที่มีหลังคาทรง Pagoda ซ้อนกันหลายชั้น บอกว่าเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมแบบศิขะระ (Shikhara style) ของเนปาล ซึ่งฟังดูแล้วก็เข้าใจเลยว่า เป็นสิ่งก่อสร้างทรง “ภูเขา” ซึ่งก็คือเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของทวยเทพต่าง ๆ ส่วนประกอบสำคัญก็คือลานที่พวกเรายืนกันอยู่นี่เอง เพราะไม่ว่าจะเป็นบ้านคหบดี คฤหาสน์เศรษฐี หรือจะเป็นพระราชวังก็ตาม ต้องมีลานประกอบพิธีที่เรียกว่า Chowk อยู่ด้วย เพื่อเอาไว้ทำพิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะการบวงสรวงหรือสังเวยเทพเจ้า ยิ่งเป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่โตเท่าไรก็ยิ่งมีลานพิธีหลายแห่งเท่านั้น...

“สำหรับในพระราชวังปาทานนี้ ยังมีลานพิธีอีกสองแห่งซึ่งจะพาไปดูกันเดี๋ยวนี้” นายทองว่าแล้วพาเดินกลับลงบันได เลี้ยวซ้ายออกมาที่ประตูซึ่งแกะสลักอย่างสวยงามบานหนึ่ง มีป้ายชี้ทางเป็นภาษาอังกฤษว่า Mul Chwok, Sundari Chwok & the Architecture Galleries พอพวกเรามุดผ่านประตูเข้าไป (โปรดเข้าใจว่าประตูทุกบานเตี้ยมาก หากไม่มุดเข้าไปก็เสี่ยงกับการหัวแตก) ก็เจอลานกว้างใหญ่ ซึ่งรายล้อมด้วยตัวอาคารแบบบ้านสี่องค์ ที่ตรงกลางมี “มณฑป” ทองเหลืองตั้งอยู่...

สุธรรม 26-11-2015 13:49

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448520498
พระแม่คงคากับมกรหน้าตาประหลาด

ท่ามกลางแสงแดดจัดจ้า มองไปเห็นยอด “ศิขะระ” ตรงหน้าที่กำลังซ่อมแซมอยู่ ด้านล่างมีรูปหล่อสวย ๆ ที่มองแต่ไกลคล้ายพระพุทธรูปยืน นายทองบอกกับพวกเราว่า ลานพิธีแห่งนี้ยังคงเปิดใช้งานตามปกติ ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการบูชายัญเพื่อสังเวยเจ้าแม่ตาเลจู (Taleju) ส่วนรูปหล่อสัมฤทธิ์ตรงหน้าเป็นรูปพระแม่คงคา (Ganga) กับ พระแม่ยมุนา (Yamuna) เป็นเทพีแห่งน้ำ ที่สร้างไว้บูชาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ แล้วปล่อยให้พวกเราเดินชมกันตามอัธยาศัย...

อาตมาเดินเลาะชายคาด้านที่มีเงาเพื่อหลบแดด ทุกคนเดินตามมาเป็นพรวน เห็นเสาค้ำอาคารแต่ละต้นที่แกะสลักอย่างสวยงาม เก่าแก่จนลวดลายบางส่วนเริ่มลบเลือนไปตามกาลเวลา เมื่อเลี้ยวเลาะมาถึงเบื้องหน้ารูปพระแม่แห่งสายน้ำทั้งสองก็ต้องยืนงง เพราะแยกไม่ออกว่ารูปไหนเป็นรูปของใคร ??? “รูปหล่อพระแม่คงคาจะเหยียบมกร ส่วนพระแม่ยมุนาจะเหยียบเต่าเจ้าค่ะ” ในที่สุดก็ต้องพึ่งบริการ “ยายกระรอก” ตามเคย...

เมื่อหันหน้าเข้าหารูปหล่อ รูปทางซ้ายจะเป็นพระแม่คงคา แต่มกรหน้าตาแปลก ๆ เหมือนช้างที่มีหัวเป็นปลา เขาเป็นควาย แต่ตูดเป็นเป็ดมากกว่า ส่วนรูปพระแม่ยมุนานั้นเหยียบเต่าที่หน้าตาปกติ จึงไม่มีอะไรให้น่าสงสัย ยายจี๋กับแม่ป๋อมที่ถือกล้องติดมือ เลือกถ่ายรูปกันตามอัธยาศัย อาตมาถ่ายรูปให้ป้ามอย แม่ป๋อม น้องเล็ก น้องเก๋ และลูกปุ๊ก คนละรูปสองรูป แล้วถ่ายรูปซุ้มประตูโลหะที่ปิดสนิทไปด้วย...

สุธรรม 27-11-2015 05:58

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448578605
คุณ รปภ. ที่น่าสงสารลงไปยืนทำอะไรไม่ถูก..!

“ซุ้มประตูแบบนี้เรียกว่า “โตรัน” เจ้าค่ะ เป็นศิลปะแสดงถึงสกุลช่างฝีมือเนวารี ซึ่งรวมไปถึงการแกะสลักบานหน้าต่างแบบมีขอบปีกที่เรียกว่า “นยาร” การแกะสลักคันทวยเป็นรูปต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ตุนาล” และการแกะสลักหน้าบันเป็นลวดลายงามอลังการที่เรียกว่า “เตียมปะนำ” สกุลช่างนี้รุ่งเรืองสุดขีดประมาณศตวรรษที่ ๒๒ ตกประมาณปลายยุคกรุงศรีอยุธยา เพราะกษัตริย์แห่งราชวงส์มัลละ ส่งเจ้าชายออกไปครองเมืองต่างๆ ทุกคนจึงแข่งขันกันสร้างเมืองเป็นการอวดความสามารถ ถ้าผลงานของใคร “เข้าตา” ก็มีสิทธิ์ได้สืบทอดราชบัลลังก์ ทำให้บรรดาช่างได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่เจ้าค่ะ” นึกว่ามีแต่ “ยายจ้อ” ของเขมรที่ท็อปวิชาประวัติศาสตร์ “ยายกระรอก” ของเนปาลนี่ก็ไม่แพ้เขาเหมือนกัน...

เมื่อถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ กันจนพอใจแล้ว นายทองก็พาพวกเราเดินเข้าประตู (เตี้ยจริง ๆ) อีกบานหนึ่ง โผล่ออกไปด้านหลังของพระราชวัง ซึ่งมีสนามหญ้าที่ปักหลักขึงเชือกเอาไว้ ไม่รู้ว่าตั้งใจจะทำอะไร ขอบสนามเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นติดกำแพงเลย พวกเราเดินเลาะตัวอาคารไปจนสุด ผ่านแท่นคอนกรีตที่เป็นบ่อน้ำแบบบ่อโพง ก่อขอบขึ้นมาเป็นแท่น ด้านบนแกะสลักรูปพระนารายณ์มีพญานาครายล้อมเอาไว้ด้วย ปากบ่อมีตะแกรงเหล็กตาห่าง ๆ ครอบปิดเอาไว้ มองลงไปเห็นตามอิฐรอบบ่อมีเฟิร์นขึ้นรกไปหมด เกือบจะมองไม่เห็นข้างในบ่ออยู่แล้ว...

อาตมาถ่ายรูปด้านหลังมุมต่าง ๆ เอาไว้หลายรูป เลยสนามหญ้าไปด้านในเป็นสระน้ำไม่ใหญ่นัก ที่ขอบสระมีซุ้มเหมือนที่นั่งเล่นสำหรับชมทิวทัศน์ ซึ่งตอนนี้มีทหารหรือ รปภ. นายหนึ่ง นั่งเฝ้าอยู่ตรงบันไดขึ้นซุ้ม เมื่ออาตมาถ่ายรูปไปแล้ว ลูกปุ๊กอยากได้รูปตรงนี้ จึงเข้าไปเจรจาหรือไล่ก็ไม่รู้ ? จน รปภ.ยอมลงมายืนงง ๆ อยู่ข้างล่าง ปล่อยให้คุณเธอขึ้นไปวางท่าให้อาตมาถ่ายรูปแทน จากนั้นนายทองพาเลี้ยวขวาไม่กี่ก้าวก็เข้าประตูเตี้ย ๆ อีกบาน ซึ่งนำไปสู่ลานพิธีอีกแห่งหนึ่ง...

สุธรรม 28-11-2015 05:16

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448662511
สุดยอดศิลปะสกุลช่างเนวารีซ่อนอยู่ที่นี่เอง

ลานนี้ค่อนข้างแคบ ประมาณด้วยสายตาไม่น่าจะเกิน ๒๐ X ๒๐ เมตร แต่เจ้าประคุณเถอะ..รอบผนังทั้งสี่ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ตุนาล นยาร โตรัน หรือเตียมปะนำ ฝีมือแกะสลักประณีต สวยงามอลังการสุด ๆ คาดว่าคงไม่มีศิลปะแบบเนวารีที่ไหนงดงามไปกว่านี้อีกแล้ว ตรงกลางลานมีบ่อน้ำที่กระหนาบข้างด้วยเสาสูงแกะสลักสองต้น ระหว่างเสาเป็นแผ่นกระดานที่เก่าจนกร่อนไปตามกาลเวลา แค่ดูด้วยสายตาก็รู้ว่ามีอายุการใช้งานมาหลายร้อยปี...

นายทองบอกว่านี่คือลานสุนทรี (Sundari Chowk) เป็นห้องอาบน้ำหลวง (Royal Bath) ของกษัตริย์ หากว่าองค์กษัตริย์สิ้นพระชนม์ ก็จะมีพิธีการสรงน้ำพระบรมศพที่บนกระดานแผ่นที่เห็น แล้วปล่อยพวกเราเดินชมและถ่ายรูปกันตามอัธยาศัย อาตมาตรงไปยังบ่อสรงน้ำเป็นอันดับแรก เห็นเป็นบ่อทรงกลมลึกลงไปเกือบเท่าหัวคน เมื่อยืนตรงกลางเสาสองต้นมองไป กึ่งกลางวงกลมของอีกด้านจะเป็นวิหารเล็ก ๆ ทรงศิขะระ แทนเขาพระสุเมรุ สองฝั่งของวงกลมเป็นรูปสลักวิมานที่สถิตของเทพเจ้าต่าง ๆ รายล้อมรอบบ่อน้ำ...

ที่ล้อมอยู่นอกสุดรอบวิมานเป็นพญานาคหัวจุก (น่าจะเป็นมงกุฎ) สองตนที่ยกหัวทอดกายเป็นวง มีหางบรรจบกันตรงศิขะระ ข้างหัวพญานาคมีสิงห์สองตัวยืนขนาบข้างบันได ๘ ขั้นซึ่งทอดลงไปในบ่อ บริเวณกลางบ่อเป็นรูปหล่อทองเหลืองของพระนารายณ์และพระลักษมี ที่เงาวับเหมือนทองคำ ทรงครุฑที่น่าสงสารเพราะรับน้ำหนักเทพถึงสององค์ จึงทำท่าแบนติดท่อน้ำทองเหลืองที่รองรับอยู่ข้างใต้ไปเลย ข้างท่อเป็นหัวสัตว์ต่าง ๆ มีทั้งปลาและจระเข้ ข้างองค์มหาเทพทั้งสอง เป็นซุ้มวิมานด้านละสองซุ้ม ด้านใต้ท่อน้ำที่ไหลริน ๆ แกะสลักเป็นรูปช้างสองเชือกที่ชูงวงเหมือนกับช่วยหนุนท่อน้ำอยู่...

สุธรรม 28-11-2015 16:53

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448704374
ไม่มีใครแน่ใจว่าอาหารแต่ละอย่างในเมนูคืออะไร..?!?

รอบบ่อน้ำด้านในแบ่งออกเป็นสองช่วง แกะสลักลวดลายเป็นวิมานที่สถิตของเทพเจ้าต่าง ๆ ไว้จนเต็ม เรียกว่าใครมาสรงน้ำที่นี่ก็จะได้รับการประสาทพรจากพรหมเทวดาผู้เป็นใหญ่ ให้ได้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทั้งปวง ลวดลายการแกะสลักสวยงามระดับบรมครูช่างฝีมือ ประมาณว่าได้รับพรมาจากพระวิษณุกรรมเทพเจ้าแห่งช่างมาก็ไม่ปาน อาตมาถ่ายรูปรอบบริเวณไว้ แต่ยังไม่บังอาจลงไปในบ่อเพื่อถ่ายรายละเอียดใกล้ ๆ แล้วนั่งลงบนแผ่นกระดานสรงน้ำพระบรมศพ ให้ยายจี๋กับแม่ป๋อมถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นเดินรอบลานพิธีเพื่อถ่ายรูปเตียมปะนำงาม ๆ ที่แกะสลักเป็นเทพเจ้าทั้งหลายไปจนครบถ้วน หันกลับมาอีกทีเห็นหัวยายจี๋ไปผลุบ ๆ โผล่ ๆ อยู่ในบ่อน้ำโน่นแล้ว แหม..ช่างกล้า...!

นายทองชวนพวกเราเข้าไปชมงานแสดงศิลปะใน Architecture Galleries อาตมาจึงตะโกนเรียกยายจี๋ให้ขึ้นมาจากบ่อสรง แล้วเดินตามกันเข้าไปในโตรันที่แกะลายละเอียดยิบ ขึ้นบันไดไปยังห้องแสดงศิลปะการแกะไม้ สลักหิน และดุนลายทองเหลืองแบบต่าง ๆ สำหรับสร้างเป็นคันทวย บานหน้าต่าง หน้าบัน และซุ้มประตูโดยเฉพาะ แต่ละชิ้นเก่าแก่คร่ำคร่า สึกกร่อนไปตามเวลา พวกเราที่เริ่มเป็นวัตถุโบราณแล้ว จึงชวนกันถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ ตามแต่ชอบใจ วนดูจนครบทุกชิ้นก็กลับลงบันไดมาอีกด้านหนึ่ง ตรงหน้าซุ้มประตูทางออกมีรอยสีน้ำตาลเข้ม เหมือนกับใครเอาแปรงขนาดใหญ่มาจุ่มสีแล้ววาดเร็ว ๆ เกือบจะเป็นวงกลม “เป็นร่องรอยการบูชายัญของปีนี้เจ้าค่ะ” ถึงอาตมาคาดเดาได้ก็ยังรู้สึกสยองอยู่ดี เมื่อชี้บอกคนอื่น ๆ ตามที่ "ยายกระรอก" แถลงไข ทุกคนก็ทำท่าขนลุกขนพองไปตาม ๆ กัน..!

"Follow me." นายทองบอกพลางเดินกลับออกมาทางเดิม ผ่านสวนหลังวังมาโผล่ตรงลานที่ถ้ามุดประตูก็จะออกไปที่จุดขายบัตร บอกว่าได้เวลาอาหารกลางวันแล้ว อาตมาดูเวลาในกล้องเห็นตรงกับบ่ายโมงของบ้านเรา ที่นี่ยังเป็นเวลา ๑๑.๔๕ น. เดินขึ้นบันไดเตี้ย ๆ สองขั้นสองช่วง ตรงไปยัง Museum Cafe ผ่านโต๊ะอาหารใต้ต้นไม้ที่มีร่มกางไว้ด้วย ขึ้นไปยังศาลาเล็ก ๆ ที่มีโต๊ะตั้งไว้หลายตัว นายทองเรียกบริกรหญิงให้เอาเมนูมาให้ แล้วตัวเองเดินหายไปเลย ไม่มีการช่วยแนะนำสักนิดว่าควรจะสั่งอาหารอะไร ปล่อยให้พวกเราเสี่ยงดวงกับเมนูอาหารชื่อประหลาด ๆ กันเอาเอง...

สุธรรม 29-11-2015 05:45

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448750660
ข้าวแข็งโป๊กและมามากจนกินกันไม่หมด

อาตมาจิ้มลงไปที่ข้าวผัด บริกรหญิงจดรายการลงใบสั่ง แล้วฉีกแคว่กส่งให้บริการชายรูปร่างล่ำเตี้ยใส่แว่นสายตา รายนั้นวิ่งเอาใบสั่งไปส่งให้พ่อครัว ส่วนสาวเจ้าเธอไปรับรายการจากทางโต๊ะของป้ามอย ซึ่งไม่รู้ว่าสั่งอะไรกันไปบ้าง เวลาผ่านไปสิบกว่านาที บริกรชายก็เอาข้าวผัดมาส่งพร้อมกับน้ำเปล่าแก้วใหญ่ โอ้..พระเจ้า ข้าวผัดสุมมาบนจานจนเป็นภูเขาเลย มีผักสดจำพวกแครอตหั่นมาอีกขยุ้มหนึ่ง อาตมาลองตักมาชิมคำแรก รสชาติไม่เลวทีเดียว มีเนื้อไก่หั่นชิ้นเล็ก ๆ แทรกมาด้วย เสียแต่ข้าวแข็งเป็นหัวอ้ายโจรเท่านั้น...

กล้ำกลืนฝืนฉันลงไป กว่าจะหมดก็เกือบจะวายชีวา และเป็นเหตุให้แอปเปิลที่น้องเก๋ซื้อมาเหลืออย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ ใครไปคิดว่าเขาจะให้ข้าวมามากขนาดนี้ ทางโต๊ะโน้นได้ยินว่าสั่ง Salad แต่สิ่งที่ได้มาน่าจะเป็น Palad (ประหลาด) มากกว่า "กินไปบ่นไป" เหมือนกับรายการทีวีที่ผู้ดำเนินรายการโดนปลดออกจากนายกรัฐมนตรีไปเลย ส่วนมากก็เป็นเรื่องข้าวที่แข็งและมามากจนสองคนกินจานเดียวกันยังไม่หมด ท้ายสุดก็เรียกบริกรมาเก็บเงิน ควักกระเป๋าจ่ายไป ๓,๐๗๐ รูปี ตกจานละ ๑๗๕ บาท อิ่มจนจุกแบบนี้ไม่ถือว่าแพง..!

อาตมาเดินอ้อมไปด้านหลังเพื่อเข้าห้องน้ำซึ่งอยู่ข้างครัว เห็นพ่อครัวกำลังผัดอาหารอีโล้งโช้งเช้งอยู่ กลิ่นลอยเข้ามาในห้องน้ำเต็มที่ จึงต้องรีบฉี่รีบราดน้ำ เมื่อกลับออกมาบรรดาสาว (แก่) ก็ผลัดกันไปเข้าห้องน้ำบ้าง นายทองซึ่งแอบไปกินอาหารที่ไหนก็ไม่รู้ ? มารออยู่ตรงหน้าบันไดสองขั้น เมื่อพวกเรามากันครบก็พาเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ โผล่ไปที่จตุรัสซึ่งทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านเดินกันไขว่ไปหมด เลี้ยวซ้ายพาไปจนถึงสุดทางที่มีรถตู้ใหม่เอี่ยมจอดรออยู่ เมื่อเห็นพลขับหน้าปรุยับยู่ยี่ไม่ใช่นายสามานย์อาตมาก็ชะงัก แต่นายทองดันหลังให้ขึ้นไปเลย แปลว่าใช่รถของเราแน่ ๆ...

สุธรรม 29-11-2015 16:49

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448790517
ร้านนี้เป็นทางเข้าวัด..!

“นายยู่ยี่” พาพวกเราฝ่าการจราจรที่หนาแน่นและระงมไปด้วยเสียงแตร จากที่เราหันข้างซ้ายให้กับพระราชวังปาทาน วิ่งตรงไปยังถนนข้างหน้า ที่หัวมุมถนนมีรถเข็นขายผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส้มและแอปเปิล วิ่งยาวไปตามถนนแคบ ๆ ซึ่งมีตึกเตี้ย ๆ กระหนาบสองข้าง มาถึงบริเวณที่มีธงฉัพพรรณรังสีผืนมหึมาแขวนอยู่ระหว่างตึก ก็นำรถจอดที่หัวมุมสามแยก นายทองรอพวกเราลงมาครบแล้วก็เดินนำเข้าไปใน “ซอย” ที่เต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึกประเภทพระพุทธรูปต่าง ๆ ระหว่างร้านเหล่านั้น มี “ร้านหนึ่ง” ที่ที่สีสันหน้าร้านสดใสมาก พอมองดี ๆ อาตมาก็สะดุ้ง เพราะเห็นมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษเขียนว่า MAHA BUDDHA TEMPLE พร้อมกับลูกศรที่ชี้เข้าไปด้านใน..!

มัคคุเทศก์หน้าผากกว้างพาเดินเข้าไปในประตู ซึ่งข้างในเป็นซอยแคบ ๆ ยาว ๆ ระหว่างตึก พลางบรรยายว่า “วัดมหาพุทธะ สันนิษฐานว่าเป็นวัดพุทธแห่งแรกที่สร้างขึ้นในเนปาล เพื่อที่อุทิศแด่พระพุทธมารดา เป็นศิลปะแบบศิขะระ ภายในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญสามยุคคือ พระพุทธทีปังกร (Dipankar Buddha) ซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าในอดีต พระศากยมุนี (Shakayamuni Buddha) ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และ พระศรีอาริยเมตตรัย (Maitriya Boddhahisattva) ซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้าในอนาคต” แกพูดไปเดินไป พวกเราที่ตามหลังจึงฟังไม่ค่อยถนัด...

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในซอกตึกแคบ ๆ นั้น คือพระเจดีย์ทรงคล้ายคลึงกับพระเจดีย์พุทธคยา ฐานล่างสุดเป็นภาพนูนต่ำคล้ายครุฑอัดแบกพระเจดีย์ ถัดขึ้นไปเป็นภาพนูนต่ำพระพุทธรูปรายล้อมอยู่โดยรอบ ด้านบนของฐานช่วงแรกเป็นย่อมุมมีพระเจดีย์องค์เล็กอยู่สี่ทิศ ตรงส่วนย่อมุมที่เป็นส่วนคอระฆังของเจดีย์บ้านเรายังเป็นสี่เหลี่ยมมีซุ้ม ถัดขึ้นไปส่วนที่ควรเป็นปล้องไฉนก็คือส่วนที่เริ่มโค้งจนไปเรียวรับกับฐานสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ซึ่งรองรับยอดพระเจดีย์อยู่ด้านบน...

สุธรรม 30-11-2015 12:03

1 Attachment(s)
http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1448859735
สุภาพสตรีห้ามนั่ง เพราะฉะนั้น..จงยืนเสียดี ๆ..!

ฐานล่างมีซุ้มประตูที่เป็นลูกกรงเหล็ก ซึ่งมีพระพุทธรูป ๓ ยุคอยู่ด้านใน พวกเรากราบพระเจดีย์กันแล้ว ก็เดินหามุมถ่ายรูปกันตามอัธยาศัย มาได้มุมดีที่สุดด้านในซึ่งเป็นซอยค่อนข้างกว้าง สามารถถ่ายรูปพระเจดีย์ได้ทั้งองค์ อาตมานั่งลงบนแท่นสี่เหลี่ยมหน้าพระเจดีย์ ส่งกล้องให้น้องเล็กช่วยถ่ายรูปให้หน่อย เลยได้กล้องของยายจี๋กับแม่ป๋อมเพิ่มเข้ามาด้วย แล้วอาตมาให้ทุกคนนั่งเพื่อถ่ายรูปหมู่ นายทองรีบบอกว่าผู้หญิงไม่ควรนั่งบนแท่นนั้น ยายจี๋ แม่ป๋อม น้องเก๋ น้องเล็กจึงต้องยืนแทน ส่วนป้ามอยกับลูกปุ๊กที่มัวแต่สวดมนต์บูชาพระเจดีย์อยู่ตกขบวนไปโดยปริยาย...

เมื่อเดินวนพระเจดีย์จนครบสามรอบ อาตมาก็สรุปได้ว่า “วัด” แห่งนี้ มีศาสนวัตถุหลักก็คือพระเจดีย์องค์นี้เท่านั้น ส่วนอื่น ๆ ก็คือซุ้มพระพุทธรูปเล็ก ๆ ที่ “แปะ” อยู่กับผนังตึก ถ้าเป็นวัดเก่ามาก่อน แปลว่าบรรดาตึกทั้งหลายเหล่านี้สร้างทับที่วัด จนเหลือไว้แต่องค์พระเจดีย์ ไม่อยากนึกเลยว่า บรรดาท่านเจ้าของตึกทั้งหลายจะ “ติดหนี้สงฆ์” กันขนาดไหน...

ในเมื่อไม่มีอะไรให้ดูอีกแล้ว พวกเราก็เดินตามนายทองมาขึ้นรถ “นายยู่ยี่” พาวิ่งไปไม่ถึงสองนาทีก็จอดลงที่หน้าประตูซึ่งมีสิงห์คู่ตัวมหึมาสูงท่วมหัว บนซุ้มประตูทางสีน้ำตาลแดงสลับขาวนั้น มีสิงห์แบบอังกฤษสีทองตัวใหญ่ ถือหอกกระหนาบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อยู่ เหนือประตูเป็นทับหลังครึ่งวงกลม บนทับหลังมีภาษาอังกฤษว่า RUDRAVARNA MAHAVIHAR อ่านแบบไทยได้ประมาณว่า รุทรวรรณะมหาวิหาร...


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:46


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว