กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ศัตรูของโลกธรรม ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2560)

ลัก...ยิ้ม 22-03-2011 11:31

ศัตรูของโลกธรรม ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
 
ศัตรูของโลกธรรม ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ต่อดังนี้

๑. “ศัตรูของโลกธรรม ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ตถาคตยกอุปมาเพียงโลกธรรม ๔ เพราะจุดนี้ติดมาก และเป็นการถูกต้องที่นำมาพิจารณาจนครบ ๘ ทั้งโลกธรรมภายนอกและภายใน ดูอารมณ์จิตของตนเองเอาไว้ให้ดี จักพอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี ไม่ถูกทั้งคู่ ครั้นจักให้จิตอยู่ในอารมณ์อัพยากฤตทรงความเฉย ๆ อยู่โดยไม่มีฐานรองรับก็เป็นของยาก มันอยู่ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้น จึงต้องหาหลักปักไว้เป็นเครื่องยึดให้อารมณ์เฉยนั้นทรงตัวเข้าไว้

๒. “เบื้องต้นเป็นอันดับแรก คือ สมถภาวนาในอานาปานุสติกรรมฐาน รู้ลมเข้าออกเข้าไว้ เป็นการบังคับจิตให้อยู่ในความสงบของอารมณ์ฌานได้ระยะหนึ่ง แล้วอันดับนี้ต้องเรียกว่ามีสมาธิกำหนดรู้คือตั้งใจทำกันให้จริง ๆ มิใช่ทำบ้างหยุดบ้าง ขี้เกียจก็เลิก ขยันก็ทำ อย่างนี้ก็ไม่เป็นเรื่อง เหมือนคนมีตุ่มใส่น้ำใช้ เห็นมันพร่องอยู่ค่อนตุ่ม ทั้ง ๆ ที่จักต้องตักน้ำเติมอยู่แล้ว แต่ขี้เกียจทำ ไม่เอาว่ะ ยังพอมีใช้วันหลังค่อยตักก็ได้ นี่สภาพจิตมันบิดตะกูดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จึงหาความเพียรจริง ๆ ไม่ได้สักที”

๓. “เมื่อรู้ลมเข้าลมออก จักควบกับคำภาวนาได้ด้วยยิ่งดี หรือจักบวกภาพพระอันเป็นกสิณให้จิตทรงตัวได้ก็ยิ่งดี เมื่อจิตมีกำลังก็ถอนออกจากสมาธิมาพิจารณาหรือวิปัสสนาสภาพของขันธ์ ๕ หรือสภาพของอารมณ์ที่เกาะติดขันธ์ ๕ จุดไหนด้วยการใช้ปัญญาแกะจุดนั้น”

๔. “หากเกิดอารมณ์เบื่อร่างกาย ให้พยายามวางเฉยลงในกฎธรรมดาของร่างกาย กำหนดพิจารณารู้ลมหายใจเข้าออกให้เป็นวิปัสสนาญาณ เห็นลมหายใจเข้าออกก็ไม่เที่ยง สักวันหนึ่งเมื่อมันหยุดหายใจ ร่างกายนี้ก็จักต้องตายไปตามกฎของธรรมดา ไตรลักษณญาณคลุมหมดธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น

๕. “ถ้าเรายังมีความเบื่อหน่าย มีอารมณ์หดหู่ก็ถือว่าเป็นอารมณ์เศร้าหมองมีความไม่พอใจ ฝืนกฎธรรมดา ควรจักปล่อยวางไม่ใช่ไปเศร้าใจกับกฎธรรมดานั้น นี่มันทุกข์กับไตรลักษณ์เสียแล้วหรือ ความทุกข์ของร่างกายหรือไตรลักษณ์นี้ฝืนไม่ได้ จักเศร้าโศกเสียใจไปกับมันทำไมเพราะเป็นธรรมดาของมัน มันเที่ยงอยู่อย่างนั้น มันมีเกิด แล้วก็แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา เราก็วางเฉยในมัน เพราะรู้ด้วยปัญญาว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่ตัวตนของเรา หรือของใคร มันเป็นกฎไตรลักษณ์ คือ ธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้เอง พิจารณาไปให้จิตมันสงบ จนกระทั่งยอมรับนับถือกฎธรรมดา จิตก็จักเป็นสุข คือ วางเฉยในไตรลักษณ์ได้ ทำให้ดี ๆ นะ จักได้ถึงพระอรหันต์ไม่ยากนัก


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:42


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว