กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ฝากคำถามถึงหลวงพ่อ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=51)
-   -   อารมณ์โทสะ และอารมณ์เศร้าใจหดหู่ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5005)

สุโข 23-05-2016 10:32

อารมณ์โทสะ และอารมณ์เศร้าใจหดหู่
 
กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพ ผมมีปัญหาด้านจิตใจจะสอบถามครับ

๑. คำว่า "อิสสา" กับ "อรติ" คือสิ่งเดียวกันหรือไม่ มีลักษณะอย่างไร การเจริญมุทิตาสามารถกำจัดอารมณ์สองอย่างนี้ได้หรือไม่ หรือว่าเพียงแต่ข่มเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น

๒. ตอนนี้ที่เป็นหลัก ๆ คือ อารมณ์โทสะ โกรธ น้อยใจ กับอีกอย่างคือความเศร้าใจหดหู่ ตอนตื่นนอนตอนเช้าจะมีอาการเศร้าอยู่ในใจเสมอ หรือบางครั้งก็จะมีความโกรธขึ้นมาเฉย ๆ เป็นมาเป็นปี ๆ แล้วครับ มีความทุกข์มาก ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร

๓. พยายามเจริญพรหมวิหาร ๔ แต่บางครั้งได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เหมือนกับว่ามันหมดกำลัง สู้ความโกรธหรือความอิจฉาไม่ได้ ในขณะนั้นต้องทำอย่างไร

๔. ขณะที่เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วไม่มีกำลังพอจะสู้กับความโกรธ จึงเปลี่ยนไปใช้วรรณกสิณแทน หรืออย่างบางทีมีราคะ ก็ใช้ อสุภะ กับ กายคตาสติ แทน ทำอย่างนี้จะเป็นการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าหรือไม่

๕. สำหรับโทสะจริต ที่ให้ใช้พรหมวิหาร ๔ กับ วรรณกสิน ๔ กรรมฐานสองอย่างนี้สามารถกำจัดโทสะให้หายขาดได้หรือไม่ หรือเพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะกำจัดโทสะให้หายหรือเบาบางลง ต้องทำอย่างไร

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ครับ

ตัวเล็ก 01-12-2017 20:48

ถาม : คำว่า "อิสสา" กับ "อรติ" คือสิ่งเดียวกันหรือไม่ ? มีลักษณะอย่างไร ? การเจริญมุทิตาสามารถกำจัดอารมณ์สองอย่างนี้ได้หรือไม่ ?
ตอบ : อิสสา ภาษาไทยคือ อิจฉา ก็คือ ความริษยาในขณะที่เห็นคนอื่นเขาดีแล้วทนไม่ได้ ส่วน อรติ ก็คือ ความไม่ยินดี ไม่พอใจ ลักษณะเป็นปฏิฆะ คือ การกระทบที่เกิดจากพื้นฐานของโทสะ

เป็นคนละอย่างกันแต่มาจากตัวปฏิฆะ คือ พื้นฐานของโทสะเหมือนกัน การแผ่เมตตาหรือเจริญเมตตาเป็นปกติ ถ้าหากกำลังถึงก็สามารถที่จะระงับทั้งสองตัวนี้ลงได้


ถาม : ตอนนี้ที่เป็นหลัก ๆ คือ อารมณ์โทสะ โกรธ น้อยใจ กับอีกอย่างคือความเศร้าใจหดหู่ ตอนตื่นนอนตอนเช้าจะมีอาการเศร้าอยู่ในใจเสมอ หรือบางครั้งก็จะมีความโกรธขึ้นมาเฉย ๆ เป็นมาเป็นปี ๆ แล้วครับ มีความทุกข์มาก ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร ?
ตอบ : ภาวนาให้หลับไป ถ้าภาวนาหลับไปแล้วตื่นขึ้นมา อารมณ์ใจจะเคว้งอยู่นิดหนึ่ง พอนึกได้ก็จะภาวนาต่อ หรือถ้าอารมณ์ใจละเอียด ตื่นขึ้นมาแล้วคว้าอารมณ์ภาวนาต่อได้เลย ถ้าละเอียดยิ่งกว่านั้นก็คือรู้อยู่ตลอดว่าเราภาวนา ถ้าทำแบบนี้แก้ได้ทุกอารมณ์เลย ไม่ใช่แค่นี้เท่านั้น

ถาม : พยายามเจริญพรหมวิหาร ๔ แต่บางครั้งได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เหมือนกับว่าหมดกำลัง สู้ความโกรธหรือความอิจฉาไม่ได้ ในขณะนั้นต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : ถ้ารู้ว่าสู้ไม่ได้ก็หนีก่อน ไปให้พ้นจากเหตุการณ์ตรงนั้นก่อน หลังจากนั้นค่อยไปซักซ้อมภาวนาแผ่เมตตาของเรา

การแผ่เมตตาก็ให้คนที่เรารักก่อน เพราะจิตใจไม่ต่อต้าน สามารถให้ได้ง่าย หลังจากนั้นก็ให้คนที่เราไม่รักไม่เกลียด หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่ว ๆ ไป แล้วค่อยไปให้คนที่เราเกลียดน้อย จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัวจริง ๆ แล้วค่อยไปให้คนที่เราเกลียดมาก ถ้าไปให้คนที่เราไม่ชอบหน้าจริง ๆ ตั้งแต่แรก ก็หงายท้องอยู่ตรงนั้นแหละ เพราะกำลังของเราไม่พอ


ถาม : ขณะที่เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วไม่มีกำลังพอจะสู้กับความโกรธ จึงเปลี่ยนไปใช้วรรณกสิณแทน หรืออย่างบางทีมีราคะก็ใช้อสุภะ กับกายคตาสติแทน ทำอย่างนี้จะเป็นการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าหรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ก้าวหน้าแน่นอน เพราะเรื่องของกรรมฐานถ้าจะใช้งานต้องทำให้ได้จริง ๆ ก่อน ถ้าทำไม่ได้จริงก็เท่ากับเราแค่รู้วิธีเท่านั้นว่าจะน็อกคู่ต่อสู้อย่างไร แต่การฝึกซ้อมตลอดจนกระทั่งกำลังไม่มี ก็มีแต่จะโดนคู่ต่อสู้น็อกไปตลอด

ถาม : สำหรับโทสะจริต ที่ให้ใช้พรหมวิหาร ๔ กับ วรรณกสิน ๔ กรรมฐานสองอย่างนี้สามารถกำจัดโทสะให้หายขาดได้หรือไม่ ? หรือเพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะกำจัดโทสะให้หายหรือเบาบางลง ต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : ถ้าทำถูกก็กำจัดได้เลย ถ้าทำผิดวิธีก็ได้แค่ชั่วคราว คำว่าทำถูกในที่นี้ก็คือต้องต่อด้วยวิปัสสนาญาณ ท้ายที่สุดก็ปล่อยวางลงได้จนหมด เพราะไม่ว่าเขาหรือเราก็ตายหมดเหมือนกัน เมื่อเป็นดังนั้นสภาพจิตของเราก็จะปลดออกจากตรงจุดนั้นมา ตัวโกรธก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าทำผิดวิธีก็ได้แต่ระงับชั่วคราวเท่านั้น


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:20


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว