เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๔
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ |
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ได้มีเวลาอยู่วัด แต่ว่างานก็มะรุมมะตุ้มเข้ามา คราวนี้ถ้าหากท่านทั้งหลายมองดูในศาลานี้จะเห็นว่า สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรสร้างภายในนี้ ก็ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของพระพุทธรูป ถ้าไม่จำเป็นแล้วอย่าพยายามสร้าง เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถหาสถานที่ประดิษฐานที่เหมาะสมได้ อาจจะเป็นการปรามาสพระรัตนตรัยโดยไม่รู้ตัว
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสังเกต จะเห็นว่าวัดท่าขนุนของเรามีพระพุทธรูปน้อยมาก ก็คือถ้าหากว่าไม่มีที่สำหรับประดิษฐานที่เหมาะสม กระผม/อาตมภาพจะไม่รับเอาไว้เลย หลายท่านที่โทรศัพท์มาแจ้งว่าได้สร้างพระประธานไว้ สร้างพระพุทธรูปไว้ จะเอามาถวาย กระผม/อาตมภาพปฏิเสธไปทั้งหมด เพราะว่าไม่มีที่เหมาะสมสำหรับประดิษฐาน ส่วนท่านใดที่นำมาโดยไม่ได้บอกไม่ได้กล่าว เจอหน้ากระผม/อาตมภาพก็ไล่กลับไปเลย พูดง่าย ๆ ว่าไม่ได้ขอร้องให้สร้างมา..! เพราะถ้าหากว่ารับเอาไว้แล้วก็จะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เรื่องของพระรัตนตรัย เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องละเอียดลออ ส่วนใหญ่แล้วญาติโยมส่วนหนึ่งอยู่ในจำพวกที่อยากได้บุญ จนกระทั่งลืมความเหมาะสม ถึงเวลาก็สร้าง ถึงเวลาก็สร้าง กระผม/อาตมภาพเห็นบางวัด พระพุทธรูปเกลื่อนกลาดไปครึ่งค่อนศาลา ปล่อยให้หยากไย่เกาะ ฝุ่นจับ หมาขี้ใส่ ไก่ขึ้นไปทำรัง ลักษณะอย่างนั้นคนเห็นก็สลดใจ คนที่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นก็มีโทษด้วย ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงขอให้ทุกคนระมัดระวังให้ดี อย่าโลภอยากได้บุญจนลืมโทษที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรากระทำโดยไม่เหมาะสม วัดท่าขนุนต้องบอกว่าโชคดีตรงที่พระพุทธรูปทุกองค์อยู่ในจุดที่เหมาะสม วัดอื่นอาจจะไม่ได้มีสถานที่อันเหมาะสมแบบนี้ แม้กระทั่งที่วัดท่าซุง ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านมารับสังฆทานที่กรุงเทพฯ นานเป็น ๑๐ ปีต่อเนื่องกัน ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปสังฆทานเป็นพันองค์..! หลวงพ่อท่านได้สร้างอาคารธัมมวิโมกข์หลังอุโบสถ เพื่อเอาไว้เก็บพระพุทธรูปโดยเฉพาะ เหตุที่ได้ชื่อว่าอาคารธัมมวิโมกข์ ? ก็เพราะว่าการออกหนังสือธัมมวิโมกข์รุ่นแรก ๆ ออกที่อาคารหลังนั้น เป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษไขแล้วโรเนียวทีละแผ่น แบบที่สมัยก่อนเขาเรียกว่า "เครื่องฉับแกละ" พวกเราจะได้รู้ว่าก่อนที่หนังสือธัมมวิโมกข์จะออกมาเป็นเล่มมาตรฐานนั้น เปลี่ยนรูปลักษณ์มาหลายรอบ รอบแรกก็คือเป็นกระดาษโรเนียว ซึ่งรอบนั้นพระครูปลัดนิพพาน โชติธัมโม หรือที่ผมเรียกติดปากว่า ปลัดเอ๊ด ยังเขียนการ์ตูนให้ในธัมมวิโมกข์ฉบับแรก ๆ หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก ปกค่อนข้างหนา แล้วค่อยพัฒนามาเป็นรูปลักษณ์ในปัจจุบัน |
ที่กล่าวถึงนี้ก็ถือว่าเล่าประวัติศาสตร์เก่า ๆ ของวัดท่าซุงให้ฟังอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือชั้นบนของอาคารธัมมวิโมกข์นั้น หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านทำเหมือนกับอัฒจันทร์สำหรับดูกีฬา ก็คือเป็นขั้นบันไดขึ้นไป ไม่ว่าจะเข้าทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ตาม มีขั้นบันไดเต็มตัวอาคารให้ทั้งสองด้าน
ท่านสร้างไว้เพื่อตั้งพระพุทธรูปโดยเฉพาะ พระพุทธรูปสังฆทาน เล็ก ๆ ใหญ่ ๆ ๙ นิ้วบ้าง ๕ นิ้วบ้าง หรือแม้กระทั่งพระแก้บนที่เขาทำเป็นพระเงินพระทองด้วยพลาสติก อยู่ในนั้นมากมาย จนกระทั่งไม่มีที่จะตั้ง หลวงพ่อท่านถึงได้ปรารภว่าจะสร้างปราสาททองคำ แต่ปรากฏว่าท่านมรณภาพเสียก่อน รุ่นถัดมาก็คือหลวงพ่อเจ้าคุณอนันต์ก็ถึงได้ทำปราสาททองคำจนเสร็จ ซึ่งเป็นที่เหลือเชื่อว่ากระผม/อาตมภาพไม่เคยเหยียบเข้าไปในปราสาทนั้นเลยจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ขอให้รู้ว่าเจตนาปรารภในการสร้างปราสาททองคำครั้งแรกของหลวงพ่อวัดท่าซุงก็คือ เอาไว้เก็บพระพุทธรูปที่ท่านได้รับมา คราวนี้พวกคุณลองคำนวณดูว่าปราสาททองคำหลังหนึ่งราคาเท่าไร ? สมัยนี้ ๓๐๐ ล้านบาทจะอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ ? สร้างอาคารราคาแพงขนาดนั้น สวยงามขนาดนั้น เพื่อไว้เก็บพระพุทธรูป หรือเพื่อไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป ให้สมพระเกียรติยศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพวกเราที่กำลังใจหยาบ ๆ พอถึงเวลาก็วางพระส่งเดช ถ้าหากว่าพวกท่านสังเกตจะเห็นว่า จะพระองค์ใหญ่องค์เล็กก็ตาม ถ้าผมวาง จะต้องมีสิ่งที่รองอยู่ ต่อให้ไม่มีอะไรเลย อย่างน้อยก็ต้องมีผ้ารองอยู่ แต่คราวนี้พวกเราขาดการสังเกต แล้วกำลังใจก็ต้องบอกว่าค่อนข้างหยาบ ในเมื่อขาดการสังเกต กำลังใจค่อนข้างหยาบ บางทีก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อพระพุทธรูป ที่เปรียบเหมือนกับพ่อของพุทธศาสนิกชนทุกคนอย่างไรถึงจะเหมาะสม ตรงจุดนี้พวกเราต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ว่าอยากได้บุญขึ้นมาก็สร้าง อยากได้บุญขึ้นมาก็ซื้อ ถึงเวลาก็ถวายไว้เต็มไปหมด ถ้าหากว่าเป็นอย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านทำมาและท่านสั่งไว้ก็คือ การสร้างพระทุกองค์ควรที่จะมีอาคารรองรับ ท่านบอกว่า "ข้าไม่สบายใจที่เห็นพ่อของเราไปตากแดดตากฝนอยู่แบบนั้น" |
แต่ถ้าท่านทั้งหลายเห็นที่หน้าวัดท่าขนุน จะเห็นว่าหลวงพ่อองค์ใหญ่ ก็คือสมเด็จองค์ปฐม ๒๑ ศอก ตากแดดตากฝนอยู่เป็นปกติ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่กระผม/อาตมภาพเองคัดค้านตั้งแต่แรกเมื่อพระท่านสั่งให้ทำว่า "ผมไม่อยากสร้างพระตากแดดตากฝน เพราะว่าปฏิปทาของหลวงพ่อวัดท่าซุงที่เมตตาสั่งสอนมาเป็นอย่างนั้น"
แต่พระท่านบอกเองว่า องค์นี้ขอไว้องค์หนึ่ง ก็คือให้ทำในลักษณะอย่างนี้ แล้วคนเห็นจะเกิดความเลื่อมใสศรัทธามาก จัดเป็นอนุสติ ถ้าหากว่าแกสร้างไว้ในอาคาร คนมองไม่เห็นหรือเห็นน้อย ขณะเดียวกัน พระท่านบอกเลยว่าต้องใช้สีขาวเท่านั้น ขนาดกระผม/อาตมภาพตั้งใจปิดทองให้ได้อานิสงส์ ยอมเสียเงินอีกหลายล้าน พระองค์ท่านยังไม่ยอม ท่านทั้งหลายลองไปดูว่าพระพุทธรูปรุ่นเดียวกัน ที่ออกมาจากแบบเดียวกัน มีของวัดไหนสวยสู้ของวัดท่าขนุนได้บ้าง ? เด่นสะดุดตา ประทับใจทุกฤดูกาล คนเห็นก็ได้อนุสติไปเต็ม ๆ ก็คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ โดดเด่นอยู่ รถไม่ว่าจะวิ่งขึ้นหรือวิ่งลง ผ่านไปผ่านมา ใจคนจะได้เกาะพระเป็นที่พึ่ง ครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมไม่สามารถจะทำตามที่ครูบาอาจารย์สั่ง เพราะว่าครูบาอาจารย์ที่ใหญ่กว่านั้นท่านสั่งมาอีกแบบหนึ่ง และบอกไว้เลยว่า "ขอไว้องค์หนึ่ง ขอให้ทำแบบนี้" พวกท่านไปดูที่ไหนก็ได้ แบบเดียวกันที่ตรงวัดท่าทุ่งนาก็มี ท่านจะเห็นว่าของเขาก็คือพระพุทธรูปสีทอง แล้วคนมองเห็นไหม ? ทั้ง ๆ ที่อยู่ข้างถนนเหมือนกัน วิ่งไปวิ่งมาบางทีไม่ได้สังเกตเสียด้วยซ้ำไป แบบพิมพ์พระพุทธรูปองค์นี้สร้างทั่วประเทศไทย ๒๐๐ กว่าองค์แล้ว กระผม/อาตมภาพตามไปดูเป็น ๑๐ องค์ ไม่มีองค์ไหนสวยเหมือนของวัดท่าขนุน เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วก็คือทาสีทอง มีที่ปิดทองเหมือนกัน แต่ก็ไม่งามอย่างที่ควรจะเป็น นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก |
เพราะฉะนั้น...ในเรื่องของพระพุทธเจ้า เวลาพระองค์ท่านตรัสท่านสั่งอะไร ตอนแรกกระผม/อาตมภาพก็สงสัยว่า ทำไมหลวงพ่อวัดท่าซุงทำตามโดยไม่มีข้อแม้ ? คือพระท่านสั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ให้พูดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น แม้บางอย่างพูดไปแล้วผิด ท่านก็พูดไปตามที่พระท่านสั่ง พอมาระยะหลังนี่ กระผม/อาตมภาพถึงได้เข้าใจว่า สิ่งที่พระท่านสั่งนั้น จะเหมาะสมเสมอ ในเมื่อเหมาะสม ถึงเราคัดค้านอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าท้ายสุดก็ต้องลงไปตามแบบที่พระองค์ท่านต้องการจนได้
เรื่องนี้ก็ขอเรียนถวายพวกเราเอาไว้ เผื่อว่าจะต้องไปทำอะไรในลักษณะอย่างนี้ อันดับแรกเลยก็คือ พระพุทธเจ้าของเราเป็นพ่อใหญ่ ทำอย่างไรถึงจะสมพระเกียรติของท่าน โดยไม่เป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ประการที่สองก็คือ ถ้าหากว่ามีพระหรือครูบาอาจารย์ท่านมาสั่ง สั่งอย่างไรให้ทำแค่นั้น อย่าขี้สงสัย เพราะว่ากระผม/อาตมภาพสงสัยและตามพิสูจน์มาเยอะแล้ว ไม่มีประโยชน์เลยครับ..เหนื่อยเปล่า..! จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:30 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.