กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=119)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=8622)

ตัวเล็ก 30-05-2022 19:27

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕



เถรี 30-05-2022 23:32

วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เป็นวันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ความเชื่อโบราณก็คือเขาจะปล่อยผีกัน แต่ความจริงเขาไม่ได้ปล่อยผีกลางคืน คือปกติบรรดาผีที่ว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นสัมภเวสี คือพวกที่ตายก่อนหมดอายุ ตนเองก็ไม่ได้ทำความดีเอาไว้มากพอที่จะไปเสวยความดีได้ทีเดียว แล้วก็ทำชั่วไว้ไม่มากพอที่จะลงข้างล่างไปทีเดียว แถมญาติโยมก็ไม่รู้จักทำบุญให้อีก ก็เลยต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าที่จะหมดอายุขัยของความเป็นมนุษย์ หวังว่าจะได้บุญได้กุศลจากผู้คนทั่วไป เพื่อที่จะส่งเสริมสถานภาพของตนเองให้สบายขึ้น แต่ก็น้อยมากที่จะมีคนตั้งใจทำบุญให้เขาเหล่านี้

ด้วยความที่โลกหลังความตายมีกฎเกณฑ์มากมาย ถ้าปล่อยให้เร่ร่อนไปเรื่อยก็อาจจะมีการไปรบกวนพวกเด็กเล็ก ซึ่งสภาพจิตยังผ่องใสอยู่ สามารถรู้เห็นเรื่องพวกนี้ได้ หรือไม่ก็คนป่วย คนที่สภาพจิตอ่อนแอ อาจจะไปทำให้เขาตกอกตกใจ เสียผู้เสียคนได้ ก็เลยมีการจำกัดเขตให้อยู่โดยเฉพาะ

ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คืออยู่ในป่าช้า แล้วก็จะมีหัวหน้าสถานที่ที่เรียกว่า นายป่าช้า ส่วนใหญ่ก็เป็นมหิทธิกาเปรตหรือกาลกัญจิกอสุรกาย ซึ่งพวกนี้ก่อนตายมักจะเป็นพวกหมอผี พอจะมีอำนาจสมาธิจิตอยู่บ้าง เมื่อตายแล้วก็เลยมีกำลังสูงกว่าผีทั่ว ๆ ไป ก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้าคอยควบคุมที่นั้น ๆ ดังนั้น..พวกที่เรียนไสยศาสตร์โบราณ จะทำพิธีอะไรในป่าช้า ต้องตั้งเครื่องเซ่นขออนุญาตนายป่าช้าก่อน

คราวนี้พอถึงวันโกนวันพระ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการทำบุญกันเป็นปกติ นายป่าช้าก็จะปล่อยพวกสัมภเวสีเร่ร่อนพวกนี้แหละออกไปหาบุญ ไปโมทนาบุญเอา แต่ก็น้อยรายที่จะได้ เพราะว่าส่วนใหญ่ญาติพี่น้องก็นึกถึงเฉพาะตอนที่ตายจากกันใหม่ ๆ พอนานไปก็เริ่มจืดจางไปเรื่อย ยิ่งในปัจจุบันนี้ ความสำคัญของวันโกนวันพระก็ยิ่งลดน้อยถอยลง เพราะว่าไม่สามารถที่จะเข้ากับระบบชีวิตของคนยุคนี้ ที่ไปหยุดงานวันเสาร์วันอาทิตย์แทน

เถรี 30-05-2022 23:33

เรื่องพวกนี้ท่านที่เกิดไม่ทันก็อาจจะงง ๆ อยู่ แต่กระผม/อาตมภาพเกิดทัน ก็คือสมัยที่เรียนชั้นประถมปีที่ ๑ จนถึงเทอมกลางของชั้นประถมปีที่ ๒ โรงเรียนยังหยุดวันโกนวันพระอยู่ แล้วกระผม/อาตมภาพก็เคยชินกับการขึ้นแรมทางจันทรคติ

เมื่อทางโรงเรียนประกาศหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ตามหลักสากลก็เลยไปไม่เป็น เพราะว่าไม่เคยชิน พี่มุกดาต้องเป็นคนสอนให้ พาไปที่ปฏิทิน ซึ่งสมัยก่อนปฏิทินจะเป็นปึกหนา ๆ ๓๖๕ แผ่น หรือ ๓๖๖ แผ่น วันอาทิตย์จะเป็นสีแดงอยู่แผ่นเดียว พี่เขาก็เปิดให้ดู "นี่จำไว้..ก่อนจะถึงไอ้แผ่นสีแดงคือวันเสาร์ มาถึงแผ่นสีแดงนี่คือวันอาทิตย์" ไม่ทราบเหมือนกันว่าสมัยนี้ยังมีปฏิทินประเภทนี้อยู่หรือเปล่า ?

แต่ปฏิทินสมัยก่อนเป็นที่นิยมของผู้เฒ่าผู้แก่มาก บางทีไม่ทันจะหมดวันโดนฉีกไปแล้ว เพราะว่าขนาดเหมาะที่จะมวนบุหรี่มากที่สุด ถึงเวลาก็จะโดนฉีกไปมวนยาสูบ พวกที่ขี้เกียจหาใบจาก ขี้เกียจหาใบตอง สมัยโน้นเขาไม่ได้มาคิดหรอกว่า สูบเข้าไปแล้วจะเป็นอันตรายอะไรหรือเปล่า ? จะมีสารตะกั่วจากหมึกพิมพ์อะไรไม่ต้องคิด เอาความสะดวกเข้าว่า

เมื่อกระผม/อาตมภาพมาทองผาภูมิใหม่ ๆ ปี ๒๕๓๒ พวกพี่น้องมอญ พม่า ทวาย ยังหยุดวันโกนวันพระอยู่ โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ทำงานอยู่กับหน่วยป่าไม้ ที่กระผม/อาตมภาพอาศัยเขาอยู่ พอวันโกนก็ลางานกันหมดแล้ว กลับบ้านไปเตรียมข้าวปลาอาหาร เตรียมทำขนม วันพระก็หิ้วปิ่นโตมาใส่บาตรทำบุญกัน

คราวนี้ในเมื่อวันโกนวันพระไม่เหมาะสมกับบริบทสังคมในปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นวันเสาร์อาทิตย์ มีความสำคัญน้อยลง บรรดาผีเร่ร่อนก็ยิ่งลำบากขึ้น เพราะว่าแม้สมัยนี้จะมีวัดวาอารามที่เป็นลูกศิษย์สายหลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเวลาสร้างบุญสร้างกุศล แล้วก็ "อุทิศให้แก่ผู้ที่เป็นญาติและมิใช่ญาติ" แต่ก็ไม่ใช่จะมีทั่วไป โดยเฉพาะบรรดาผีเร่ร่อนเหล่านี้ เขาก็มีเขตอยู่ว่าไปได้ไกลแค่ไหน

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เลยกลายเป็นความลำบากอย่างยิ่ง ที่เราท่านทั้งหลายต้องสังวรเอาไว้เลยว่า ควรที่จะทำบุญด้วยตนเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นทำให้ ถ้ารอคนอื่นทำให้ ถ้าเขาไม่ทำ ก็จะเดือดร้อนแบบบรรดาผีเร่ร่อนเหล่านี้ แล้วนายป่าช้า ถึงเวลาปล่อยผีออกไปโมทนาบุญ ก็มีเวลาจำกัดอีกว่าจะต้องกลับก่อนที่จะได้อรุณ

เถรี 30-05-2022 23:38

คราวนี้ก่อนได้อรุณของเราก็คือก่อนที่แสงเงินแสงทองจะขึ้น แต่ของเขาไม่เอาอย่างนั้น เขานับไก่ขันเป็นอรุณ ถ้าเจอไก่วัดท่าขนุนก็เครียดเลย บางทีเที่ยงคืนก็ขันแล้ว ได้ยินเสียงต้องกลับนะ ถ้าไม่กลับโดนลงโทษจะซาบซึ้งมากว่ารสชาติเป็นอย่างไร

ถ้าคนตีผีก็จะลำบากหน่อย ถ้าหากว่ากำลังใจไม่อยู่ในระดับเดียวกันก็ทำอะไรเขาไม่ได้ แต่ไอ้ผีตีผีนี่สาหัส..! เพราะว่าไม่ได้ทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการทำร้ายจิตวิญญาณ อธิบายยากครับ เอาไว้เจอเองแล้วจะรู้ ดังนั้น..ไอ้ที่กล้าแหกคอกจริง ๆ จึงหายากมาก เพราะว่ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีอยู่ ถ้าคุณแหกคอกเมื่อไรก็โดนลงโทษ หรือถ้าหากไม่โดนลงโทษหนัก โอกาสที่จะไปรับบุญรับกุศลก็อาจจะน้อยลง

โบราณเขาก็เลยกลัวกันมาก ถ้าหากว่าเป็นวันพระสิ้นเดือน ก็จะสวดมนต์ ไหว้พระ ภาวนากันยกใหญ่ กลางค่ำกลางคืนหมาหอนเมื่อไรก็ตีโปง ยิ่งถ้าพระเคาะระฆังด้วย เจ้าประคุณรุนช่องเถอะ...หมาแย่งกันหอนทั้งหมู่บ้าน ก็ยิ่งทำความวังเวงให้กับบรรยากาศมากขึ้น

แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ กระผม/อาตมภาพมารู้ทีหลังว่าเป็นการปรุงแต่งของใจของเราเอง คือใจเราคิดหลอกตัวเองไปเรื่อย ถ้าเราหยุดการปรุงแต่งเมื่อไรก็จบเลย

สมัยบวชใหม่ ๆ
กระผม/อาตมภาพไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้า พอดึก ๆ งูออกหากิน เสียงเลื้อยมาบนใบไม้แห้ง ได้ยินชัดเลย เวลาดึก ๆ เงียบสนิทมาก หูจะดีเป็นพิเศษ เพราะว่าระแวงอยู่แล้วด้วย ก็เกิดความรู้สึก เฮ้ย..ตัวไม่ใหญ่เท่าไรหรอก อย่างเก่งก็แค่นิ้วมือเราเอง

อีกสักพักหนึ่ง สภาพจิตเราก็ปรุงแต่งต่อ "เฮ้ย..ถึงจะตัวแค่นิ้วมือ ถ้ามีพิษ กัดเราก็ตายนะ" ความรู้สึกเหมือนกับว่างูตัวนั้นมันใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง แล้วก็จะปรุงเพิ่มไปเรื่อย ปรุงแต่งไปเรื่อย ท้ายสุดไอ้งูตัวนั้น ในความรู้สึกของเราน่าจะโตประมาณเสาเรือน..! ใจเราปรุงแต่งหลอกเราได้ขนาดนั้น

แต่คราวนี้
กระผม/อาตมภาพค่อนข้างจะบ้าครับ ไม่ค่อยกลัวอะไรง่าย ๆ จะตัวใหญ่สักขนาดไหนเชียว ว่าแล้วก็เปิดกลดออกไปส่องไฟดูเลย ปรากฏว่าเป็นงูปล้องฉนวนตัวประมาณนิ้วก้อย ยาวสักศอกเดียว แต่ในความรู้สึกตอนนั้นก็คือใหญ่ประมาณอนาคอนดาแล้ว..!

เถรี 31-05-2022 00:16

เราจะเห็นว่าในเรื่องของการปรุงแต่งสร้างทุกข์สร้างโทษกับเรามากเป็นพิเศษ เพราะว่าส่วนใหญ่เราคิดเป็น แต่หยุดคิดไม่เป็น ไอ้พวกคิดเป็น แล้วหยุดคิดไม่เป็น พยายามหัดไปดูความคิดตัวเองบ้าง

กระผม/อาตมภาพตามดูอยู่เป็นปี ๆ โดยเฉพาะตอนที่คิดจะสึก "ถ้าหากว่าเราสึกไปนะ เราจะไปหางานทำ หาบ้านสักหลัง หารถสักคัน แต่งงาน มีลูกสัก ๒ คน ส่งลูกเรียนจบปริญญาแล้วเราค่อยมาบวชใหม่" แล้วเดี๋ยวก็เอาอีกแล้ว "ถ้าเราสึกไปนะ ฯลฯ" ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐ แล้วไม่จบครับ มาขึ้น ๑ ใหม่ แล้วกระผม/อาตมภาพเป็นคนรู้ตัวเร็วมากครับ พวกนี้รู้นิสัยของกระผม/อาตมภาพว่าถ้าพาไปไกลวัดแล้วไม่ไปด้วย ก็เลยให้โอกาส เดี๋ยวส่งลูกเรียนจบปริญญาแล้วกลับมาบวชใหม่

พอย้อนมาตรงนี้ปุ๊บ
กระผม/อาตมภาพรู้สึกตัวทันที "ไอ้ห่...แล้วนี่มึงบวชอยู่ไม่ใช่หรือ ? แล้วจะออกไปเหี้..ทำอะไร ? ให้ลำบากอยู่เป็นสิบ ๆ ปี" ต้องด่าตัวเองให้หนัก ๆ เลยครับ ไอ้พวกนี้ขี้อายครับ พอเรารู้ทันก็หายไปเลย

ถ้าหากว่าเราคอยสังเกตดูความคิดของเรา จะเห็นว่าวนไปเรื่อยครับ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐ เสร็จแล้ว เอ้า ๑ ใหม่อีกแล้ว บางที ๕ ทุ่ม เที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ ไม่ได้หลับหรอกครับ คิดอยู่นั่นแหละ โดยเฉพาะไอ้ตอนที่คิดจะสึก ออกไปทำอะไรกินก็รวยหมดแหละครับ ขายซาลาเปาก็รวย ปลูกผักบุ้งก็รวย ออกไปจริง ๆ แล้วจะรู้ครับว่ารสชาติชีวิตเป็นอย่างไร ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดนะครับ

โดยเฉพาะหลายท่านที่คิดน้อยใจตัวเอง พอคิดมาก ๆ เข้า รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า กลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลย แล้วพอตอกย้ำมากเข้า ๆ ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง ท้ายสุดบางคนก็ฆ่าตัวตายไปเลย เพราะหยุดคิดไม่เป็น

วิธีหยุดคิดที่ง่ายที่สุดก็คือ ดึงความรู้สึกทั้งหมดกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าหากว่าหายใจเข้า...จมูก...อก...ท้อง หายใจออก...ท้อง...อก...จมูก ดูอยู่แค่นี้ ความคิดอื่นหายหมด เพราะว่าเรามาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้ไปหวนหาอาลัยอดีต ไม่ได้ไปฟุ้งซ่านกับอนาคต

เถรี 31-05-2022 00:18

ถ้าจิตเราหยุดการปรุงแต่ง ทุกอย่างก็หยุดหมด ดับหมด เพียงแต่ว่าเราหยุดเป็นไหม ? ขั้นแรกเริ่มก็คือกลับมาอยู่กับการภาวนา แต่พวกเราก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะว่าบางทีภาวนาไป ๆ เหมือนกับแบตเตอรี่เต็ม ไปต่อไม่ได้ หม้อแบตฯ จะระเบิด..!
ให้หางานทำ
ไม่ได้หลอกให้ท่านทั้งหลายทำงานนะครับ แต่ที่กระผม/อาตมภาพยืนยันว่า ที่รอดมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะว่าหางานทำ จะถูศาลา จะกวาดใบไม้ จะขุดดิน ฟันหญ้า ทำความสะอาดวัดอะไรทำไปเลยครับ

ถ้าไม่มีอะไรทำก็อ่านหนังสือ แต่อ่านหนังสือนี่อย่าปรุงมากนะครับ ถ้าไปใส่อารมณ์ตาม เดี๋ยวก็เจ๊งอีกเหมือนกัน ต้องคอยระมัดระวังให้ดี ประคองกำลังใจของเราให้อยู่ด้านดีมากกว่าด้านที่ไม่ดี

ไปได้อย่างไรก็ไม่รู้ ? จากวันพระออกไปยังผีเร่ร่อน ย้อนกลับมาที่ความฟุ้งซ่าน จนกระทั่งรักษาโรคซึมเศร้าได้
กระผม/อาตมภาพก็แปลกใจเหมือนกัน เตรียมจะพูดเรื่องอะไร ไม่เคยได้พูดหรอกครับ ต้องว่าไปเรื่อยเปื่อยตามอารมณ์

รบกวนเวลาพวกเรามากแล้ว วันนี้ก็เรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:46


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว