กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=136)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9633)

ตัวเล็ก 27-07-2023 19:46

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖



เถรี 28-07-2023 00:48

วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ พรุ่งนี้พวกเราต้องหยุดบิณฑบาต ๑ วัน เนื่องจากว่ามีงานบิณฑบาตเฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวายกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ

หลังจากที่กลับมา เราก็จะได้ทำการบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมรุ่นที่ ๕/๒๕๖๖ ซึ่งครั้งนี้จะปฏิบัติธรรมไปจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ แล้วท่านใดจะอยู่ต่อเพื่อที่จะร่วมงานวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ก็สามารถที่จะอยู่ต่อได้

ในเรื่องของการปฏิบัติงานต่าง ๆ บางอย่างเราก็ต้องคิดงานล่วงหน้า โดยเฉพาะการทยอยทำงานไป ไม่ปล่อยให้เป็น "ดินพอกหางหมู" อย่างเช่นว่าการส่งบัญชีต่าง ๆ ของทางคณะสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา ไม่ว่าจะเป็นบัญชีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา บัญชีพระนวกะปฏิบัติธรรม บัญชีการส่งสอบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตลอดจนกระทั่งสรุปยอดพระจำพรรษา วัดท่าขนุนส่งครบถ้วนแล้ว

ทั้ง ๆ ที่เขาให้ส่งหลังเข้าพรรษาไปแล้ว ๓ วัน ถ้าหากว่าใครยึดหลักการทำงานแบบนี้ไว้ ก็คือทยอยทำไปทุกวัน วันละเล็กวันละน้อย เราก็จะงานไม่หนัก แต่ถ้าใครมาระดมทำทีเดียวในช่วงเส้นตายที่เขากำหนดไว้ ก็เท่ากับว่าหาเรื่องเหนื่อยและเครียด..!

เนื่องเพราะว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้มีอะไรมากมาย อย่างเช่นว่าบัญชีสัทธิวิหาริก ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณร เมื่อบวชเสร็จแต่ละครั้ง กระผม/อาตมภาพก็จะทยอยลงบัญชีไปเลย ดังนั้น..บัญชีนี้จึงสามารถที่จะส่งได้ ตั้งแต่การอุปสมบทหมู่เพื่อจำพรรษาในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ แต่กระผม/อาตมภาพก็เอามาส่งพร้อมกันในวันนี้ เพราะว่าไม่อยากกดดันเพื่อนฝูงมากจนเกินไป

ลักษณะของบุคคลที่เรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกก็เช่นเดียวกัน ท่านทั้งหลายจะต้องทำวิทยานิพนธ์หรือว่าสารนิพนธ์ ถ้าเราทยอยทำไปก็จะไม่หนักหนาอะไร ประมาณว่าเฉลี่ยเขียนวันละหน้า ๓ เดือนก็ได้ไปแล้ว ๙๐ หน้า ถ้าจะเอาหรู ๆ หน่อย ก็ ๔ เดือนไปเลย ๑๒๐ หน้า ยิ่งเราเปิดเข้าเปิดออกทุกวัน ต้องอ่านทวนอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาก็จะจำข้อมูลได้แม่นยำมาก และสามารถตอบสิ่งที่อาจารย์ซักถามได้ทุกอย่าง

อย่างที่กระผม/อาตมภาพสอบปริญญาโท ใช้เวลาแค่ ๑๐ กว่านาที สอบปริญญาเอกใช้เวลา ๒๒ นาที ขณะที่เพื่อนฝูงโดนกันคนละ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง..!

เถรี 28-07-2023 00:54

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เมื่ออาจารย์ผู้คุมสอบท่านปิดเล่ม บอกว่า "ผมให้ผ่านโดยไม่มีข้อแม้" ทางประธานคณะกรรมการถามว่า "ทำไมให้ผ่านโดยไม่มีข้อแม้ ?" อาจารย์ท่านให้เหตุผลว่า "วิทยานิพนธ์ ๔๐๐ กว่าหน้า ท่านสามารถบอกผมได้ว่าข้อมูลที่ผมถามอยู่หน้าไหน ผมยอมเลยครับ" นี่คือสิ่งที่เราคลำอยู่ทุกวัน ต้องอ่านแล้วอ่านอีก ทวนแล้วทวนอีก

แต่ว่าบางอย่างเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายได้ใหญ่หลวงเช่นกัน ตอนเรียนปริญญาตรี กระผม/อาตมภาพทำรายงาน ๔ เรื่อง แล้วก็ยังต้องสรุปรายงาน ๕ กลุ่มให้เป็นเล่ม เพราะว่าอาจารย์ท่านขอร้อง เนื่องจากว่าจะเอาเล่มไปยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ คิดดูก็แล้วกันว่าอาจารย์ท่านให้ความไว้วางใจขนาดไหน ? ตัวท่านจะขอตำแหน่งทางวิชาการ แต่ให้ลูกศิษย์ที่เพิ่งเรียนปริญญาตรีเป็นคนเขียนให้ เมื่อเสร็จแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ยังเปิดอ่านทวน เกลาแล้วเกลาอีกอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาส่งและไม่ถึงเวลานำเสนอ

ปรากฏว่าแฟล็ชไดรฟ์บรรจุข้อมูล อยู่ ๆ ก็เจ๊งหน้าตาเฉย..! คราวนี้ก็หน้ามืดสิครับ..รายงานตั้งหลายเล่ม มีคนแนะนำว่าที่พันทิพย์สามารถกู้ได้ เขาคิดกิ๊กฯ ละ ๕๐๐ บาท กระผม/อาตมภาพบอกเขาว่ารีบไปเลย ให้กิ๊กฯ ละ ๑,๐๐๐ บาท เอาคืนมาให้ได้ก็แล้วกัน สรุปว่าเซียนแค่ไหนก็กู้คืนไม่ได้..! ต้องมาเริ่มต้นทำใหม่ ดังนั้น..เรื่องนี้ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็ต้องสำรองข้อมูลไว้หลาย ๆ ที่ อย่างปัจจุบันนี้ กระผม/อาตมภาพก็สำรองข้อมูลไว้สามที่ ก็คือในแฟล็ชไดรฟ์ ในเครื่อง แล้วก็ในเอ็กซ์เทอนัลฮาร์ดดิสก์

ที่มากล่าวถึงตรงนี้ก็เพราะว่า ทุกครั้งที่มีการทวงงานหรือว่าตามงานของคณะสงฆ์ จะต้องมีปัญหาส่งล่าช้า หรือว่าไม่ส่งอยู่เสมอ เป็นเพราะว่าทำงานไม่เป็น แทนที่จะทยอยทำไปวันละเล็กวันละน้อย ก็ไปทำทีเดียวตอนคนอื่นเขาทวงมา

กระผม/อาตมภาพนั้น จะดูอยู่เสมอว่างานต่อไปจะต้องส่งเมื่อไร อย่างเช่นว่าการตรวจการคณะสงฆ์ เขานัดส่งทุกวันที่ ๑๐ เมษายน ๑๐ สิงหาคม และ ๑๐ ธันวาคมของปี กระผม/อาตมภาพทำเสร็จไปตั้งแต่ต้นเดือนนี้แล้ว คราวนี้ก็รอ..รอจนบางทีก็ลืมส่ง เพราะคิดว่าทำเสร็จตั้งนาน น่าจะส่งไปแล้ว พอเขาทวงมาก็สะดุ้ง ลืมส่ง..เพราะว่าเสร็จก่อนนานเกินไป..!

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามตารางงาน แล้วเราทยอยทำรอเอาไว้ ถึงเวลาแค่ออกหนังสือนำฉบับเดียว ก็เป็นอันว่าเรื่องจบลงสวย ๆ ผู้บังคับบัญชาชม แต่เพื่อนด่า..! ไอ้ที่เพื่อนด่าเพราะว่า เมื่อเราส่งก็กลายเป็นกดดันให้เขาต้องส่งตามไปด้วย

เถรี 28-07-2023 00:57

นี่คือหลักอิทธิบาท ๔ ปกติธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าเราต้องการความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม ต้องมีอิทธิบาท ๔

อิทธิ ความสำเร็จ ปาทะ หรือมาเป็นภาษาไทยว่าบาท คือพื้นฐาน พื้นฐานแห่งความสำเร็จ แต่บ้านเราก็เป็นเรื่องแปลก ใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก แต่ตัวหนังสือมักจะใช้สันสกฤต ก็เลยแทนที่จะใช้อิทธิ เราไปใช้อิทธิฤทธิ์ หรือว่าอิทธิฤทธิ

อิทธิ ภาษาบาลีแปลว่าทำให้สำเร็จ ฤทธิ ภาษาสันสกฤต แปลว่า ทำให้สำเร็จ คนไทยกลัวจะไม่สำเร็จ เล่นอิทธิฤทธิ์ไปเลย..!

ก็แบบเดียวกับคำว่าวิปุละ หรือว่าวิบูลย์ ภาษาบาลีแปลว่าสมบูรณ์พร้อม มีเหลือเฟือ คนไทยมาใช้สันสกฤตว่าไพบูลย์ เรียนบาลีแต่ใช้สันสกฤต กระผม/อาตมภาพก็รู้สึกว่าเพี้ยน ๆ อยู่เหมือนกัน..!

คราวนี้เมื่อเราปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ เมื่อมีฉันทะ คือพอใจที่จะทำ ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ พูดง่าย ๆ คือต้องเปลี่ยนทัศนคติของตนเองด้วย ถ้าทัศนคติ หรือ attitude ไม่ได้เรื่อง เราก็จะไม่ได้เรื่องตลอดไป ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเองได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า ถ้าเรายังทำแบบนี้อยู่ เราก็จะโดนผู้บังคับบัญชาบ่นอยู่ตลอดเวลาว่าส่งงานไม่ทัน

ในเมื่อมีทัศนคติว่าไม่อยากโดนบ่น ไม่อยากโดนด่า ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติ หันมาพอใจที่จะทำอย่างนั้น แล้วก็วิริยะ พากเพียรทำไปให้เต็มที่ อย่างที่เคยบอกอยู่ว่า ถ้าหากว่าเราทุ่มเท ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ บางทีความสำเร็จจะมาช้า แต่ถ้าหากว่าเราทุ่มเทสัก ๑๒๐ หรือ ๑๕๐ เปอร์เซ็นต์ ความสำเร็จจะมาเร็วขึ้น

ก็เหลือที่จิตตะ เอาใจจดจ่อปักมั่นอยู่เสมอ คอยเพิ่มเติมข้อมูล คอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ใจคออยู่กับงาน ไม่ได้ไปไหนเลย
ถ้าปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ใจเราก็อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า

เถรี 28-07-2023 01:00

ท้ายที่สุดก็คือวิมังสา หมั่นไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่า เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ทำไปถึงไหน ? ยังขาดอีกมากน้อยเท่าไร? ยังตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ? ระยะเวลากับงานของเราที่จะสำเร็จลง เพียงพอหรือไม่ ? ต้องเร่งรัด หรือว่าสามารถผ่อนคลายได้ ?

หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านหวังประโยชน์ใน ๓ สถาน คือทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เห็นทันตา ถ้าเราใช้หลักนี้ในการทำงาน งานของเราจะดีขึ้นทันตาเห็น

สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในโลกหน้า ถ้าหากว่าเราทำดีทำถูก ไม่
ปฏิบัติธรรมแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ความหวังในสุคติหลังจากที่เราตายไปแล้ว ย่อมมีโอกาสมาก

และท้ายที่สุด ปรมัตถประโยชน์ ถ้าหากว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์พร้อมจริง ๆ เราสามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ได้

ก็แปลว่า ในเบื้องต้นก็ดี ในเบื้องกลางก็ดี ในเบื้องปลายก็ดี ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกหมวด ยังประโยชน์ให้แก่เราได้ในทุกเมื่อ สำคัญตรงที่ว่าต้องทำจริง ทำดี และทำถูกเท่านั้น

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:38


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว