นอกจากนี้ หลวงปู่มั่นยังให้อุบายธรรมเกี่ยวกับการขบฉันของพระเณรไว้อย่างถึงใจดังนี้
“...ท่านอาจารย์มั่นฉันข้าวในบาตรแล้วก็ฉันด้วยช้อน ธรรมท่านผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมา โอ้โห...เหมือนน้ำไหลไฟสว่างไปเลย ผุดขึ้นมา ๆ เหมือนกับว่าสอนเรา ผึง ๆ ขึ้นมา เหมือนกับว่าสอนเรา ผึง ๆ ขึ้นมาเลย ท่านว่าอย่างนั้น
‘ฉันก็ฉันเพื่อเห็นภัย ยืน เดิน นั่ง นอน เพื่อเห็นภัย และในขณะเดียวกัน เพื่อคุณธรรมทั้งหลาย ทำไมเวลามาฉันจึงเห็นแก่ลิ้น แก่ปากอย่างนี้ นี่หรือผู้เห็นภัยเป็นอย่างนี้หรือ..!!’ เด็ดเผ็ดร้อนมากเหมือนกัน อุบายที่ผุดขึ้นมาในเวลานั้น
‘นี่..ไม่ใช่ผู้เห็นภัยนะ ผู้ที่นอนจมอยู่ในวัฏสงสารหาเวลาพ้นไปไม่ได้แบบนี้น่ะ’
พอเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตมันก็สลดทันที...”
ด้วยอุบายธรรมของหลวงปู่มั่นเช่นนี้ องค์หลวงตาจึงเข้มงวดกับการขบฉันของตัวเองเป็นพิเศษ มิปล่อยให้ความอยากมาครอบงำจิตใจได้ และหลวงปู่มั่นก็จับได้ถึงความตั้งใจจริงของท่านมาโดยตลอดเช่นกัน ดังนี้
“ท่านไม่ได้บอกว่าเราตั้งใจก็ตาม แต่กิริยาที่แสดงออกมานั้น เป็นการบอกอยู่ชัด ๆ ว่าท่านทราบทุกอย่างว่าเราทำอย่างไร เช่น เราไม่ฉันนมอย่างนี้ เวลาเขาเอานมมาถวายให้ ผสมเผสิมอะไรใส่มัน เทนมลงไปแล้วก็แจกพระ ผมไม่เคยฉัน
แม้แต่ผมเรียนหนังสือ ผมยังไม่ฉันนม เพราะธาตุของผมมันผิด นอนเฉย ๆ นี่.. ไม่ต้องฝันละนะ เพราะกำลังมันเต็มที่ของมันอยู่แล้ว แต่ว่าจะเป็นราคะจริงก็ไม่ใช่นะ ราคะจริตมันต้องเพลิดต้องเพลินไปข้างนอกนู่น หาเรื่องกามกิเลส แต่มันไม่ไป ธาตุขันธ์มันเต็มที่ของมัน บางทีมันก็แสดง.. ไม่ได้ฉันนมก็ตาม มันจะปวดที่ตรงตานกเอี้ยง มันจะปวด เจ้าของรู้ตัวนอนได้ระมัดระวัง
นาน ๆ มาทดลอง ฉันนมนี้มันก็เห็นอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องตัดขาดเลย เวลาปฏิบัติยิ่งเป็นเรื่องเฉียบขาดด้วยแล้ว ผมไม่แตะเลย นี่ท่านก็เห็นเหตุ ที่ท่านจะเห็นก็เวลาชงนมอะไร เอานมใส่นี้ ท่านว่า ‘แบ่งให้ท่านมหาก่อนนะ ท่านมหาไม่ฉันนมนะ แบ่งให้ท่านมหาก่อนนะ’
นี่คือประกาศสอนพระเณรทั้งหลายนั่นเอง พูดง่าย ๆ .. ดูซิอุบายของท่าน ไม่เพียงแต่พูดกับเรา ยังเอาเราเป็นเหตุอีกด้วย”
แม้หลวงปู่มั่นจะทราบดีถึงความตั้งใจจริงของท่าน ไม่ว่าจะเรื่องการถือธุดงค์ฉันในบาตร หรือการไม่ใช้ช้อนฉันอาหาร ว่าท่านรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ไม่อ่อนแอ แต่บางครั้ง หลวงปู่มั่นก็หาอุบายขนาบส่วนรวม โดยยกเอาท่านมาเป็นเหตุเหมือนกัน ดังนี้
“...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านก็รู้ว่า เราไปธุดงค์ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่เต็มฐาน ไปทรมานอยู่ตามป่าตามเขาลูกไหน ๆ ท่านก็รู้แล้ว ท่านทำไมพูดขึ้นมาว่า
‘ท่านมหา! ไปนานนัก ไปหลายวันแล้ว มัวไปซดซ้ายซดขวาอยู่ที่ไหน ไม่เห็นมา’
ทั้ง ๆ ที่ท่านก็รู้ว่าเราตั้งใจขนาดไหน เราไม่เคยแตะช้อนเลย ..ท่านก็รู้ แต่ทำไมท่านพูดอย่างนั้น ก็คือท่านสอนหมู่สอนคณะในวงนั้นนั่นเอง เวลาเรากลับมา พระก็เล่าให้เราฟัง ท่านว่า
‘พระกรรมฐานฉันช้อน ดูแล้วมันขวางตา ขวางใจ สะดุดใจทันที เหมือนพระเจ้าชู้ ขุนนาง การฉันเพื่อความเห็นภัย จะหาอะไรมาเป็นความสะดวกสบาย มาโก้เก๋อย่างนั้น มันขัดกันกับความเห็นภัยในการฉัน’...”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-02-2013 เมื่อ 19:19
|