ดังนั้น...ในเรื่องของการปฏิบัติของพวกเรานั้น อันดับแรก..อย่ารอให้มีการจัดปฏิบัติธรรมแล้วเราค่อยมาภาวนา อย่ารอให้ค่ำลง เลิกงานแล้วค่อยมาภาวนา อย่ารอให้พักให้พอ กินให้พอ นอนให้พอแล้วค่อยมาภาวนา ถ้าทำอย่างนั้นเราสู้กิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสกินเราอยู่ทุกวินาที
มีเวลาว่างเมื่อไร สิ่งแรกที่ควรนึกถึงคือลมหายใจเข้าออก หรือภาพพระ หรือคำภาวนา ถ้าใครสามารถรักษากำลังใจแบบนี้ได้ อาตมายืนยันว่า ๓ เดือนก็เห็นหน้าเห็นหลังแล้ว แต่ถ้าเราภาวนาเสร็จ ลุกขึ้นก็เลิกเลย วันรุ่งขึ้นเอาใหม่ ภาวนาครึ่งชั่วโมงกำลังอารมณ์ดี ลุกขึ้นก็เลิกอีก ถ้าอย่างนี้ก็ทำไปเถอะ กี่ชาติก็อยู่แค่นั้นแหละ เพราะการปฏิบัติภาวนาของเราเหมือนกับว่ายทวนน้ำ เราว่ายทวนน้ำมาเต็มที่เลย พอปล่อยอะไรเกิดขึ้น ? ก็ไหลตามน้ำไปสิจ๊ะ ไปโน่น..เกือบถึงปากอ่าวแล้ว พอวันรุ่งขึ้นเริ่มว่ายขึ้นมาใหม่ หมดเวลาก็ปล่อยอีก เราจะกลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ผลงานไม่มีเลย เพราะไหลออกปากอ่าวทุกที
ถ้ายิ่งวันไหนเหนื่อยขึ้นมา ทำได้น้อยกว่าเดิม ก็แปลว่าไหลไปไกลกว่าเดิม แทนที่จะก้าวหน้าก็กลายเป็นถอยหลัง แล้วเราลองมานึกดูว่า ถ้าเราภาวนาเช้าครึ่งชั่วโมง เย็นครึ่งชั่วโมง แปลว่าใจเรามีคุณภาพวันละ ๑ ชั่วโมง แล้วอีก ๒๓ ชั่วโมงเราทำอะไร ? ปล่อยกิเลสกินเรา ๒๓ ชั่วโมง กำลังใจดี ๑ ชั่วโมง ก็แปลว่าขาดทุนยับเยิน
หลายคนสงสัยว่าปฏิบัติธรรมแล้วทำไมหาความก้าวหน้าไม่ได้ ? ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมไม่ได้ดีตามที่ตนเองต้องการ ? เมื่อใดจะก้าวถึงความเป็นพระโสดาบัน ? เมื่อใดจะหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปพระนิพพานได้จริง ๆ สักที ? สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นคำถามต่อไป ถ้าเรายังปฏิบัติอย่างนี้อีก เพราะกิเลสกินเราทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งยืนทั้งนั่ง นอนอยู่ก็โดนกิน หกคะเมนตีลังกาอยู่ก็โดนกิน กำลังกินข้าวกินน้ำ เข้าห้องส้วมอยู่ก็โดนกิน
รัก โลภ โกรธ หลงเกิดได้ตลอดเวลา แล้วเราจะทำอย่างไร ? ปกติของกิเลสอยู่กับตัวเรา มีหน้าที่กินเราก็เป็นเรื่องปกติ เราจะหยุดการกัดกินของกิเลสได้ ถ้าปลวกกินบ้านก็เอายามาฉีด แต่ถ้ากิเลสกินเราเอายามาฉีดนั้นแก้ไม่ได้หรอก ก็มีวิธีเดียวก็คือต้องสร้างกำลังใจให้เป็นสมาธิ ล้อมคอกเอาไว้ วัวหายเกือบหมดแล้ว ล้อมตัวที่เหลือไว้ ถ้าเราทิ้งสมาธิเมื่อไรกิเลสกินเราทันที แปลว่าเราไปเปิดคอกให้คนมาขโมยวัวแล้ว
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 05-07-2014 เมื่อ 19:21
|