ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 03-04-2014, 21:00
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,713
ได้ให้อนุโมทนา: 152,065
ได้รับอนุโมทนา 4,418,877 ครั้ง ใน 34,303 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗

ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่ถนัดของตน ที่สำคัญก็คือพยายามตั้งกายให้ตรง เพื่อให้ลมของเราเดินได้คล่องและสะดวก หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด หลังจากนั้นปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ แล้วกำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เรามีความถนัด จะจับการสัมผัสของลมฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน หรือรู้ตลอดกองลมก็ทำตามความเคยชินของเราที่เคยฝึกมา

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ก็อยากจะกล่าวถึงในเรื่องของการปฏิบัติว่า อานาปานสติคือลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติของเรา กำลังใจของเราจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัว ผลของการปฏิบัติจะเห็นผลช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ว่า เราปฏิบัติในอานาปานสติได้ถูกต้องและต่อเนื่องหรือไม่ ? ถ้าเราสามารถประคับประคองรักษาอารมณ์ของเรา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติ สมาธิของเราก็จะค่อย ๆ ทรงตัวแนบแน่นขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นฌาน ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นไปตามวาสนาบารมีของเราที่สั่งสมเอาไว้

การจะได้ช้า ได้เร็ว นอกจากเป็นไปตามบารมีที่สั่งสมไว้แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความพากเพียร ความขยัน และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วย เมื่อสมาธิทรงตัวถึงระดับสูงสุดของเรา ซึ่งอาจจะเป็นแค่อุปจารสมาธิก็ได้ หรือฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ก็ได้ เมื่อสภาพจิตเข้าไปอยู่นิ่งในระดับนั้นได้ระยะหนึ่งก็จะถอยออกมาเองโดยอัตโนมัติ

ช่วงนี้ถ้าเราปฏิบัติผิด สภาพจิตของเราก็จะฟุ้งซ่าน ดังนั้น..เราต้องรีบหาวิปัสสนาญาณให้สภาพจิตได้ศึกษาพิจารณา ไม่ว่าจะดูตามหลักของอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือเราหาสมุทัย ว่าความทุกข์อย่างนี้เกิดมาจากอะไร เมื่อทราบชัดแล้วเราไม่สร้างสาเหตุของทุกข์นั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดกับเรา

หรือจะพิจารณาตามแนวของไตรลักษณ์ คือดูให้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ทุกขัง..มีสภาพที่ต้องทนอยู่เป็นปกติ อนัตตา..ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรหลงเหลือเป็นเราเป็นของเราได้

หรือว่าจะพิจารณาตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง เริ่มตั้งแต่ดูการเกิดการดับ ไปจนกระทั่งท้ายสุดเมื่ออารมณ์ใจทรงตัว ปล่อยวางในการปรุงแต่งจิตสังขารแล้ว ก็ทวนต้นทวนปลายเป็นอนุโลมปฏิโลมอยู่ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำอยู่เสมอ ๆ ถ้าหวังความก้าวหน้า

เนื่องจากว่าถ้าเราไม่พินิจพิจารณาในส่วนของวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อสภาพจิตถอนออกมาเอง ก็จะไปฟุ้งซ่านในเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลง แล้วจะเป็นการฟุ้งซ่านที่รุนแรง เพราะว่านำเอากำลังสมาธิของเราไปใช้ในการฟุ้งแทน จนกระทั่งหลายคนกล่าวว่า ยิ่งปฏิบัติ รัก โลภ โกรธ หลง ยิ่งมากขึ้น ความจริง รัก โลภ โกรธ หลง ไม่ได้มากขึ้น มีเท่าเดิม แต่กำลังของเขาดีขึ้น เพราะว่าเอากำลังจากสมาธิของเราไปใช้งานนั่นเอง
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-04-2014 เมื่อ 02:27
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา