อาตมาเองตอนช่วงที่เป็นนักเรียนทหาร เวลาพักผ่อนหาได้ยากมาก ตื่นตี ๕ ฝึกไปเรื่อยจนถึง ๖ โมงเย็น เคารพธงชาติแล้วปล่อยไปอาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนเสื้อผ้า พอเสร็จสรรพเรียบร้อยก็มาเข้าห้องเรียนต่อ เรียนทฤษฎีจนถึง ๓ ทุ่ม ให้เวลาในการทำความสะอาด ขัดเครื่องหมาย - รองเท้าให้เงาวับภายใน ๑๕ นาที แล้วเสียงนกหวีดจะดังขึ้นให้ไปนอน ก็แปลว่าประมาณ ๓ ทุ่ม ๑๕ นาทีถึงจะได้พัก พอ ๔ ทุ่มตรง นกหวีดปลุกให้ไปฝึกยุทธวิธีการรบเวลากลางคืน กว่าจะเลิกก็ตีสองตีสาม ตีห้าโดนปลุกใหม่
กิจวัตรจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ ด้วยความที่รู้สึกว่าเวลาในการภาวนามีไม่พอ จึงต้องยอมอดนอนเพื่อจะได้มีเวลาภาวนา พอตีสองนอน ตีสามจะตื่นมาเพื่อภาวนา ถ้าเป็นพวกเราจะมีกำลังใจสู้ขนาดนั้นบ้างไหม ? ยอมแลกเวลาพักผ่อนเพื่อให้มีเวลาในการปฏิบัติมากขึ้นบ้างไหม ? สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องบอกได้ชัดเลยว่า เราปฏิบัติแล้วสมควรที่จะได้มรรคผลหรือไม่ ? เพราะว่าถ้าเรายังเหยาะแหยะ อ่อนแอ เห็นแก่กิน เห็นแก่นอน ทนลำบากไม่ได้ โอกาสที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลก็มีน้อยมาก
เรื่องของมรรคผลเป็นเรื่องใหญ่มหาศาล เหมือนกับขุดภูเขาพระสุเมรุด้วยจอบ ต้องค่อย ๆ พากเพียรขุดไปทีละจอบครึ่งจอบ จะต้องทำไปเรื่อย ถ้าอย่างนิทานโบราณเขากล่าวถึงเรื่องลุงโง่ย้ายภูเขา เพราะว่าทางออกจากหมู่บ้านไปเมืองมีภูเขาขวางอยู่ ต้องเดินข้ามเขาลำบากลำบน คุณลุงก็คว้าจอบไปค่อย ๆ ขุดทีละจอบสองจอบไล่ไปเรื่อย พอคนถามว่าทำอะไร ? ก็บอกว่าจะขุดภูเขาทิ้งไปเสีย มีแต่คนบอกว่า "ตาโง่เอ๋ย จะทำสำเร็จได้อย่างไร ? ภูเขาใหญ่ขนาดนั้น" ลุงโง่บอกว่า "ถ้าทำไม่สำเร็จ ก่อนตายก็จะมอบหมายให้ลูกทำต่อ ถ้าลูกทำไม่สำเร็จ ก่อนตายก็จะมอบหมายให้หลานทำต่อ ถ้าขุดแบบนี้ทุกวันเชื่อว่าจะต้องย้ายภูเขาได้สำเร็จสักวันหนึ่ง"
นั่นคือกำลังใจของลุงโง่ที่ทุกคนประณาม แต่ปรากฏว่าลุงทำได้สำเร็จ ในที่สุดสามารถย้ายภูเขาได้อย่างที่ตนเองต้องการ ทั้ง ๆ ที่ดูแล้วเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังไปมาก
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 05-11-2014 เมื่อ 19:37
|