ส่วนการชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลสนั้น ต้องเริ่มจากการรักษาศีล ระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว เมื่อเราตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังอย่างนั้น สมาธิจิตก็จะทรงตัวได้ง่าย ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา เมื่อสมาธิทรงตัวแล้ว กิเลสหยาบต่าง ๆ จะโดนกดให้สงบนิ่งลงไปชั่วคราว สภาพจิตมีความผ่องใส ก็จะเห็นว่า รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในใจของเรานั้น จะสามารถชำระสะสางได้อย่างไร
ในเรื่องของราคะ สามารถชำระสะสางจากจิตจากใจของเราได้ ด้วยกรรมฐานคู่ศึก ได้แก่ กายคตานุสติ คือการระลึกเห็นความจริงในร่างกายนี้ ว่ามีสภาพสกปรกโสโครกเป็นปกติ เต็มไปด้วยเครื่องจักรกล อวัยวะภายนอกภายในใหญ่น้อยต่าง ๆ ซึ่งเป็นของน่าเกลียด ไม่ได้น่ารักน่าใคร่ ถ้าหนักไปกว่านั้นก็ปฏิบัติในอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาซากศพต่าง ๆ แล้วเปรียบเทียบว่า ร่างกายคนกับศพก็เหมือนกัน ทุกคนพอตายแล้วก็มีสภาพน่าเกลียดเน่าเหม็นเช่นนี้ จึงหมดความอยาก หมดความต้องการในกามราคะ
ในส่วนของโลภะคือความโลภ ให้แก้ไขด้วยการบริจาคให้ทาน ค่อย ๆ สละออกทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งกำลังใจของเราเข้มแข็งสูงขึ้น ก็สามารถสละออกได้มากขึ้น ในส่วนของโทสะนั้น พระองค์ท่านให้แก้ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ หมั่นแผ่เมตตาต่อผู้อื่น และใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า คนทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้ว่า กาย วาจา ใจ ของตนนั้นเป็นโทษต่อผู้อื่นอย่างไร จึงได้กระทำในสิ่งที่ทำให้เราโกรธ ทำให้เราไม่พอใจ ในเมื่อเขาไม่รู้แล้วกระทำไป เขาก็ไม่ใช่บุคคลที่น่าโกรธ หากแต่เป็นบุคคลที่น่าสงสารมากกว่า ถ้าเราตั้งใจแผ่เมตตาและรู้จักใช้ปัญญาคิดพิจารณาดังนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขในเรื่องของโทสะได้
หรือถ้าหากกำลังใจของเราเข้มแข็งกว่านั้น ก็ให้ปฏิบัติในกสิณ ๔ ก็คือ การเพ่งสีเขียว สีแดง สีขาว หรือสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ากำลังใจทรงตัวมั่นคง ก็สามารถกดความโกรธให้นิ่งสนิทไปได้ สำหรับในความหลงนั้น พระองค์ท่านให้พิจารณาให้เห็นจริงว่า สภาพร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม รวมกันเป็นเรือนร่างให้เราได้อาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลาย ตายพังไป ไม่มีใครดำรงขันธ์อยู่ได้ ถ้าหากว่าเราประพฤติในศีล สมาธิ ปัญญาเช่นนี้ สภาพจิตของเราก็จะมีความผ่องใสจากกิเลสทั้งปวง สามารถก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
แล้วพระองค์ท่านก็ตรัสถึงวิธีการอีก ๖ ข้อ ว่า
อนูปวาโท เราต้องเป็นผู้ไม่ว่าร้ายใคร คือจะพูดอะไรถึงผู้อื่น ก็พูดแต่ในสิ่งที่ดีที่งาม มีปิยวาจา เป็นที่น่ารักน่าใคร่แก่ผู้อื่น ไม่นินทาว่าร้ายใคร
อนูปฆาโต เป็นผู้ที่ไม่ฆ่าใคร ไม่ทำร้ายใคร ถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การดำเนินชีวิตของเราก็จะมีแต่ความสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่า จะมีศัตรูมาทำร้ายเมื่อไร
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-03-2015 เมื่อ 19:28
|