ประวัติของนายเรือง ผู้นี้ถูกกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าเมื่อวันศุกร์เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๓๓
ก่อนที่นายเรืองจะเผาตัวตายประมาณ ๙ - ๑๐ วัน
นายเรืองกับเพื่อนอีก ๒ คนคือ
ขุนศรีกัณฐัศว์ แห่งกรมม้า และ
นายทองรัก ได้พากันไปอธิษฐานที่พระอุโบสถวัดครุฑ โดยมีดอกบัวตูมไปคนละดอก
ต่างอธิษฐานว่าใครจะสำเร็จพระโพธิญาณแล้ว ขอให้ดอกบัวผู้นั้นจงเบ่งบาน
รุ่งขึ้นปรากฏว่าดอกบัวของนายเรืองบานเพียงผู้เดียว ของอีก ๒ คนไม่ยอมบาน ทำให้นายเรือง เชื่อมั่นว่าตนนั้นจะเป็นผู้ได้สำเร็จพระโพธิญาณแน่ จึงได้ไปที่ศาลาการเปรียญวัดอรุณฯ สมาทานพระอุโบสถศีล ฟังเทศนาและเอาสำลีชุบน้ำมันวางพาดที่แขน และ
จุดไฟเผาเป็นพุทธบูชาแทนดวงประทีปทุกวัน แม้จะร้อนอย่างไรนายเรืองก็ทนได้ เพราะในใจคิดแต่เรื่องพระโพธิญาณเท่านั้น
ในวันเผาตัว เวลาทุ่มเศษ เมื่อนายเรืองได้ฟังเทศน์จบแล้ว ก็นุ่งผ้าชุบน้ำมันเดินออกมาที่หน้าศาลาการเปรียญ นั่งพนมมือในท่าที่เหมือนที่สลักเป็นหินไว้ เมื่อนั่งรักษาอารมณ์จนสงบดีแล้วจึงจุดไฟเผาตัวเอง ขณะที่ไฟลุกขึ้นท่วมตัวนั้น นายเรืองตะโกนประกาศร้องดัง ๆ ว่า
" สำเร็จปรารถนาแล้ว....สำเร็จปรารถนาแล้ว...."
ขณะนั้นมีคนยืนดูการเผาตัวครั้งนี้ประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ คนเพราะมีการประกาศให้รู้ล่วงหน้า คนที่ยืนดูต่างก็ร้องดัง ๆ ว่า
"สาธุ!" ขึ้นพร้อมกัน แล้วก็เปลื้องผ้าห่มโยนเข้ากองไฟ แม้แต่คนนับถือศาสนาอื่นยังก้มหัวคำนับแล้วโยนหมวกเข้ากองไฟด้วย
พอไฟโทรมลง คนที่ศรัทธาได้ช่วยกันยกศพของนายเรืองใส่โลงตั้งไว้ที่ศาลาการเปรียญ สวดอภิธรรม ๓ คืน แล้วจึงนำไปเผาที่ทุ่งนาวัดหงส์รัตนาราม ติดกับพระราชวังเดิม กล่าวกันว่าเมื่อตอนที่จุดไฟเผาศพนายเรือง ได้มี
ปลาในท้องนา กระโดดเข้ามาเผาตัวในกองไฟด้วย ๑๑ - ๑๒ ตัว
อัฐินายเรืองนั้นปรากฏว่ามีสีต่าง ๆ ทั้งเขียว ขาว เหลือง ขาบ ดูประหลาด จึงชวนกันเก็บใส่โกศดีบุก ตั้งไว้บนศาลาการเปรียญวัดอรุณราชวราราม