ยันต์นี้ไม่ได้ไว้ใช้ลงแค่เทียนชัยอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ หยาดฝนยังเห็นพระอาจารย์เขียนหรือจารทั่ว ๆ ไป
ในตอนที่พระอาจารย์สอนนั้น หยาดฝนไม่มีตำราพระบูรพาจารย์ให้อ้างอิง พระอาจารย์ท่านเขียนให้ดู แล้วบอกว่าให้ท่อง
“กรณียเมตตสูตร” ไปเวลาเขียน เนื่องจากหยาดฝนไม่มีพื้นฐานมาก่อน ก็พิมพ์บทกรณียเมตตสูตรออกมาจากคอมพิวเตอร์ พร้อมคำแปลมานั่งท่องต่อหน้าท่าน รู้สึกว่ายาก เพราะยาวมาก คำถามคือจะท่องอย่างไรให้จบทันเขียนจบพอดี ?
ตอนหยาดฝนท่อง พระอาจารย์ก็คงทราบว่าหยาดฝนคิดว่ายาก ท่านจึงเมตตาให้กำลังใจว่า
“ไอ้ที่คิดว่ามันยากนั่นแหละที่ต้องทำ ยากจนทำไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้”
พอท่องและเขียนได้ พระอาจารย์จึงเฉลยว่า เขาใช้แค่ตั้งแต่
“เมตตัญจะ..” จนถึง
“..ปุนะเรตีติ”
ที่แบ่งปันประสบการณ์ให้ฟัง เพื่อให้ท่านผู้สนใจศึกษาได้มีกำลังใจ ไม่อยากให้คิดว่า
“แค่เขียนวน ๆ แค่นี้ แต่ท่องตั้งยาว จะทำได้อย่างไรกัน” และจุดที่มันโค้ง ๆ อีก ถ้าเขียนช้ามันก็หลุดโค้งกันพอดี หากลากเส้น..มันต้องลากอย่างต่อเนื่องมันถึงจะต่อเนื่อง ถ้ามัวแต่ลาก ๆ หยุด ๆ เพราะรอท่องคาถา มันก็ยึก ๆ ยือ ๆ หยัก ๆ
หยาดฝนต้องการบอกว่า “ทำได้ค่ะ” แค่โง่ ๆ หน่อย ครูบาอาจารย์สอนอะไรก็ปิดหูปิดตาทำไป ใช้ทั้งบทตั้งแต่ “กะระณียะมัตถะกุสะเลนะฯ” ยังมีคนโง่หนึ่งคนทำมาแล้วค่ะ
เนื่องจากตอนแรกนั้นได้โง่ ท่องตั้งแต่ “กะระณียะมัตถะกุสะเลนะฯ” พอพระอาจารย์ให้เหลือแค่ตั้งแต่ “เมตตัญจะ..” จนถึง “..ปุนะเรตีติ” เวลาลากเส้นก็เลยมีเวลาเหลือ จึงเติมตรงใส่ยอดที่เป็นวง ๆ เข้าไปดังนี้ค่ะ
๓ วง ว่า “อิ สวา สุ”
๕ วง ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ”
๗ วง ว่า “สะ ธะ วิ ปิ ปะ สะ อุ”
๙ วง ว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ”
ถูกสอนมาว่า
ตรงยอดเขาใช้เป็นเลขคี่ ตั้งแต่ ๓ เป็นต้นไปสูงสุดคือ ๙ แล้วให้ว่าคาถาตามดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเขียนองค์พระ หรือตัวเฑาะ หยาดฝนจบอย่างข้างต้นทั้งสิ้น
ความดีที่สามารถว่าคาถาจบได้เร็ว จนมีเวลาเผื่อให้ว่าคาถาตรงยอดนั้น ยกให้พระอาจารย์ เพราะสอนไว้ดี ทำให้ว่าคาถาได้เร็ว ๆ ทีนี้เขียนอะไร ๆ ก็มีเวลาเหลือก็เลยจบเพิ่มตรงยอดให้ค่ะ
คำถามต่อไปคือ...ทำไมยันต์ชนะถึงใช้บทกรณียเมตตสูตร ?
ใครสงสัยบ้างไหมคะ ? แล้วจะมาเล่าให้ฟังค่ะ