ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๕)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ (พรรษาที่ ๘) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส
ได้เดินทางไปเยี่ยมพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดจักราช ท่านได้แลเห็นจริยาวัตรของหลวงปู่สิม
ขณะทำหน้าที่อุปัฏฐากท่านอาจารย์สิงห์ และเกิดชื่นชอบถูกอกถูกใจขึ้นมา
จึงเอ่ยปากขอตัวหลวงปู่สิมว่า
”พระองค์นี้มีลักษณะเป็นผู้มีบุญบารมี ผมจะขอตัวให้ไปอยู่ด้วยจะขัดข้องหรือเปล่า”
ท่านอาจารย์สิงห์มิได้ขัดข้อง
เพราะหลวงปู่สิมจะได้มีโอกาสใกล้ชิดพระเถระผู้ใหญ่ มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
หลวงปู่สิมจึงได้ร่วมเดินทางมากับสมเด็จฯ ได้มาศึกษาพระธรรมวินัย
พร้อมกันนั้นก็ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์
โดยสมเด็จฯ โปรดให้ปลูกกุฏิกรรมฐานรอบกำแพงโบสถ์
เพื่อเป็นที่พักของพระเณรจำนวนมากที่มารับการอบรมจากหลวงปู่
องค์ท่านเองก็โปรดที่จะมานั่งภาวนาใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างโบสถ์
โอกาสเช่นนี้ หลวงปู่ได้ถวายคำแนะนำในการปฏิบัติ...
ครั้งหนึ่งมีรับสั่งถามหลวงปู่ว่า
“ที่พูดกันว่าได้ฌานนั้น ฌานนี้ คำว่าฌานนี่หมายถึงอะไร
เห็นว่ามีตั้งหลายอย่าง มีวิตก วิจาร อะไรต่ออะไร มันเป็นอย่างไร”
หลวงปู่ถวายคำอธิบายว่า
“เวลาญาติโยมเขาสร้างกุฏิให้พระอยู่อาศัย
พอขึ้นบันไดบ้านมาก็จะถึงชานก่อน แล้วจึงไปถึงที่นอน”
“อ้อ! ๆ รู้แล้ว”
สมเด็จฯ ทรงเข้าใจในทันที
“มันเป็นที่พักผ่อนชั่วคราวเองนะ ยังไม่ใช่ที่หลับที่นอนจริง ๆ”
__________________
การรักษากำลังใจสำคัญที่สุด...ได้ดีอย่าฟู แล้วขณะเดียวกันว่า ถ้าได้ร้ายก็อย่าฟุบ ให้เห็นว่ามันเป็นปกติของมัน เรื่องของมัน
ถ้ามันดีมาพออาศัยได้ก็ดีกับมันไป ถ้าหากว่ามันไม่ดีมา เราอยู่กับมันก็ให้รู้อยู่มีสติอยู่ ถึงเวลาก็ต่างคนต่างไปอยู่แล้ว...
กำลังใจของเราพลาดแม้แค่วินาทีเดียวนี่ อาจจะหมายถึงแพ้ทั้งกระดาน
อะไรมันก็ไม่เจ็บปวดเท่ากับต้องเกิดใหม่ มันเป็นทุกข์ เป็นโทษสุด ๆ จริง ๆ
กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ ๕๑
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายท่าขนุน : 31-08-2009 เมื่อ 12:21
|