นาย"ตรึก"ได้ศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนวัดโสมนัส
ชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
ชั้นอุดมศึกษา ที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนหอวัง (ต่อมาได้ยกฐานะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ได้รับประกาศนียบัตรในวิชารัฐศาสตร์
เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าซ้อมรบเสือป่าที่ค่ายหลวง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรและพอพระราชหฤทัย
จึงโปรดเกล้าฯ รับสั่งชวนให้เข้ารับราชการในราชสำนักนับแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยเหตุนี้เองเมื่อหนุ่ม ตรึก เรียนสำเร็จรัฐศาสตร์แล้ว แทนที่จะได้เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยตามวิชาที่เรียนสำเร็จ
ตามความประสงค์ของบิดาผู้เป็นนักปกครอง แต่กลับไปเป็นข้าราชสำนักสังกัดกระทรวงวัง
ในตำแหน่ง ต้นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หน้าที่ของท่านคืออยู่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ในที่รโหฐานและเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็ก
ท่านได้ปฏิบัติงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ถวายชีวิตและความสุขส่วนตัว
เพื่อพระองค์ท่านด้วยความจงรักภักดีและความกตัญญูเป็นที่ยิ่ง ด้วยความเอาใจใส่ต่อราชการ
จึงทำให้ท่านก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ก็ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก
และพระราชทานนามสกุลให้ว่า จินตยานนท์
หนุ่ม ตรึก รับราชการอยู่ใต้เบื้องยุคบาทเพียงไม่ทันถึงปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖
ก็พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น หลวงศักดิ์นายเวร ต่อมาไม่ช้ามินานก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าหมื่นศรีสรรเพชร
พออายุ ๒๕ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯ
เป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทมเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาพานทอง
ราชทินนามว่า "นรรัตนราชมานิต" เรียกขานกันว่าพระยานรรัตนราชมานิต
เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นพระยาที่หนุ่มที่สุดในสมัยนั้น
และต่อมาได้เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๗
|