อิทธิบาท คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว อาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ ซึ่งไม่เหลือวิสัย
อิทธิ แปลว่า ความสำเร็จ บาท หรือ ปาทะ แปลว่า เหตุที่ทำให้ถึง
อิทธิบาท จึงแปลว่า เหตุที่ให้ถึงความสำเร็จ หมายถึง เหตุที่มีกำลังในการบรรลุความสำเร็จ
ฉันทะ คือ ความปรารถนา ความต้องการ ความประสงค์ ความมุ่งหมาย เมื่อต่อเข้ากับอิทธิบาท จึงมีความหมายว่า ความปรารถนา ความต้องการ ความประสงค์ ความมุ่งหมาย ที่มีกำลังในการบรรลุความสำเร็จ
อิทธิบาท คือ ฉันทะ ย่อมพาเอาความคิดจิตใจทั้งหมดไปรวมอยู่กับสิ่งที่ปรารถนา ที่พอใจ เหมือนกระแสน้ำที่ไหลมาอย่างแรง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ กอไผ่ กอหญ้า เป็นต้น
ไปกับกระแสน้ำด้วย วิริยะอิทธิบาท จิตตะอิทธิบาท และวิมังสาอิทธิบาท ก็มีอธิบายเหมือนอย่างนี้
วิริยะ คือ ความอาจหาญในการงาน ย่อมสำคัญงานใหญ่ว่างานเล็ก งานหนักว่างานเบา งานยากว่างานง่าย ทางไกลว่าทางใกล้ เป็นต้น
จิตตะ คือ ความคิดถึงการงานนั้นแบบใจจดใจจ่อ เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำจัด ใจคิดถึงแต่น้ำตลอดเวลา
วิมังสา คือ การไตร่ตรองใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล และวิธีการที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จลงให้ได้
ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด
(-/\-) (-/\-) (-/\-)
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-10-2017 เมื่อ 18:01
|