เอาละครับทุกท่านที่ตีตั๋ว "รออ่าน" บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมงคลฤกษ์แล้ว ขอประเดิมตอนแรกด้วย
๑."เมื่อข้าพเจ้าลาบวช"
๔ เดือนก่อนวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ หลังจากเริ่มทำงานกับบริษัทฝรั่ง ชนิดที่เรียกว่าทำแบบถวายชีวิต มีหลาย ๆ ปัจจัย ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน อาทิเช่น พระขรรค์โสฬสวัดท่าขนุน ร่วมบุญกฐินประจำปี ๒๕๕๒ ที่กระผมและคณะน้อง ๆ (คุณซัน,คุณนรินทร์,คุณต้อม,และ สมาชิกคนสุดท้าย คุณหม่อม ตลอดจนทีมที่ปรึกษา ทิดตู่,คุณอาคนเก่า,เถรี และอีกหลาย ๆ ท่าน) ร่วมแรงร่วมใจจัดสร้างถวายพระอาจารย์ ก็เป็นไปได้ด้วยดีจนต้องบอกว่า "เราทำอะไรทำด้วยใจบริสุทธิ์โดยขอบารมีพระรัตนตรัยและพระอาจารย์ท่านสงเคราะห์ อะไรก็สำเร็จ"
ลูกสาวคนเล็กก็คลอดได้เดือนเดียว เห็นว่าปลอดภัยแข็งแรง หากจะบวชทดแทนพระคุณพ่อ-แม่ ช่วงนี้เหมาะสมที่สุด หากลูกสาวโตขึ้นคงจะหาโอกาสบวชได้ยาก คนเรามันก็ห่วงกันไปตามเรื่องตามประสา
จึงปรึกษาคุณแม่และภรรยา ว่าจะขอลาบวช ๑ พรรษา เรื่องงานนั้นไม่ได้ลาบวช "ลาออกเลย" เพราะคิดว่าเราไม่เหมาะกับบริษัทนั้นเล่นเอาฝรั่ง "งง" (สะใจวัยรุ่นดีเหมือนกัน "ตูจะไปพระนิพพาน" ฝรั่งคงไม่ค่อยจะเข้าใจ เลยให้ออกแบบ "งง ๆ")
เมื่อทางสว่างแล้วเดินสะดวกเช่นนี้จึงตัดสินใจบวชในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง,หลวงปู่แช่ม) เพราะต้องการสงเคราะห์โยมแม่ ให้ท่านได้ทำบุญตักบาตรในช่วงเจ็ดวันก่อนเดินทางไปวัดท่าขนุน (เพราะเรื่องการเดินทางไกล ท่านชราภาพแล้วคงไม่สะดวกเท่าไหร่) เพื่อขอร่วมอยู่จำพรรษา ก่อนหน้านั้นได้โทรเรียนปรึกษาพระอาจารย์ดังนี้
ทัดฤทธิ์-ทิดรัตน์ : กราบนมัสการพระอาจารย์ขอรับ กระผม "รัตน์" จากภูเก็ตขอรับ กระผมจะบวชที่ภูเก็ตแล้วขอไปจำพรรษากับพระอาจารย์ที่วัดท่าขนุนได้หรือไม่ขอรับพระอาจารย์
(เวลาโทรไปขอเรียนปรึกษาท่าน บรรยากาศมันช่างกดดันจริง ๆ ที่ต้องรายงานตัวก่อนนั้น เพราะกลัวท่านจำไม่ได้และเพื่อเป็นการไม่เสียเวลา กราบเรียนแจ้งท่านไปให้ชัดเจนเลยว่า อะไร,อย่างไร เพราะทุกวินาทีมีคุณค่า)
พระอาจารย์ : บวชเมื่อไหร่ ?
ทัดฤทธิ์-ทิดรัตน์ : วันที่ ๑๙ มิถุนายนนี้ครับ ที่วัดฉลอง
พระอาจารย์ : บวชเข้ามาวันไหนก็ได้ แต่สำคัญวันสึกโน่น แล้วจะมาร่วมจำพรรษากี่รูปล่ะ เกิน ๕ รูป ไม่รับนะ...เลี้ยงไม่ไหว
(พระอาจารย์ท่านสอนว่า บวชเข้าวันไหนก็ได้ พระอาจารย์ท่านเคยสอนว่า เราจะหนีจากร้อนเข้ามาหาที่เย็นเข้ามาให้เร็วที่สุด ส่วนการจะออกจากที่เย็น คือสึกจากความเป็นพระนั้น ต้องถือฤกษ์ยามเป็นสำคัญ)
ทัดฤทธิ์-ทิดรัตน์ : รูปเดียวครับ
พระอาจารย์ : เอาได้ ๆ ตั้งใจบวชล่ะ
ทัดฤทธิ์-ทิดรัตน์ : ขอรับ กราบขอบพระคุณขอรับพระอาจารย์