ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 29-10-2009, 12:50
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,647
ได้ให้อนุโมทนา: 151,944
ได้รับอนุโมทนา 4,415,865 ครั้ง ใน 34,237 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ มีสภาพสองอย่างรวมกัน อย่างหนึ่งก็คือหงุดหงิด อีกอย่างหนึ่งคือฟุ้งซ่านรำคาญใจ เนื่องจากสภาพจิตของเราโลดโผนเป็นปรกติ เมื่อโดนบังคับให้อยู่นิ่งกับลมหายใจเข้าออก ความไม่เคยชินทำให้เกิดความหงุดหงิด และพยายามดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากสภาพนั้น เมื่อไปไม่ได้ ก็เกิดความรำคาญใจหนักขึ้น ให้เราพยายามกำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้าออกจริง ๆ ตามจี้ลมหายใจเข้าออกไปติด ๆ อย่าให้หลุด ถ้าหากว่าสามารถเกาะติดลมหายใจเข้าออกได้ นิวรณ์ตัวนี้ก็ไม่สามารถที่จะเกาะผูกเราอยู่ได้

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ เป็นความลังเลสงสัย ยังไม่ทันจะทำอะไรให้เกิดผล ก็สงสัยเสียแล้วว่าทำแล้วจะได้จริงหรือไม่ ทำแล้วจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ พระธรรมมีจริงหรือไม่ พระสงฆ์มีจริงหรือไม่ เป็นต้น ความลังเลเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น ใจก็ท้อถอย เพราะว่าปราศจากศรัทธาที่มั่นคง ไม่สามารถที่จะทำให้ตนเองปฏิบัติความดีได้อย่างที่ต้องการ

วิธีแก้นิวรณ์มีอย่างเดียว คือ อยู่กับลมหายใจเข้าออก รู้ตัวว่านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งดึงออกไป ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก เกาะลมหายใจเข้าออกให้แน่นแฟ้น ค่อย ๆ ตามดูเข้าไป ค่อย ๆ ตามดูออกมาพร้อมกับคำภาวนา ถ้าหากว่าความรู้สึกหลุดไปอีก ก็ดึงกลับมาใหม่อีก อย่างนี้เป็นต้น

ใช้ระยะเวลาไม่นาน เมื่อจิตมันเหนื่อย ก็จะยอมให้เราคุมตัวอยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ดิ้นรนไปที่อื่น ถ้าถึงตอนนั้นจิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตเริ่มก้าวเข้าสู่ระดับของสมาธิ ก็จะเกิดอาการปีติต่าง ๆ ขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเมื่อวานนี้ ถ้าหากท่านที่ฝึกมาคล่องแคล่วชำนาญแล้ว จะกระโดดข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไปเลย นิวรณ์ก็ไม่สามารถจะกินใจได้ ปีติต่าง ๆ ก็โดนก้าวล่วงไปหมดแล้ว จิตจะทรงเข้าสู่สมาธิระดับปฐมฌานขึ้นไปตามความถนัดและความชำนาญของตน

เมื่อทุกคนภาวนาจนจิตทรงระดับใดระดับหนึ่งตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปแล้ว ให้หมั่นดูสภาพจิตของตน อันนี้จะเป็นการปฏิบัติจิตในจิตของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ ดูว่าสภาพจิตของเราตอนนั้นเป็นอย่างไร แน่วแน่มั่นคงอยู่กับสมาธิ หรือสมาธิเริ่มลดน้อยถอยลง เป็นต้น ถ้าจิตมันตรงเข้าไปสู่สมาธิระดับหนึ่งนาน ๆ จะมีอาการเหมือนกับไปสู่ทางตัน ไม่สามารถที่จะก้าวไปได้มากกว่านั้น ถ้าเป็นดังนั้นสภาพจิตมันจะค่อย ๆ ย้อนรอยถอยหลังกลับมา ถึงตอนนั้นทุกคนต้องเร่งหาวิปัสสนาญาณมาคิดพิจารณา

เนื่องจากสภาพจิตที่ทรงสมาธินั้นมีกำลังมาก ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาญาณให้เขาคิดพิจารณา ถ้ามันไปฟุ้งซ่านเสียเอง คราวนี้จะเอาดีได้ยาก เพราะจิตมีกำลังจากการภาวนามาก แต่เราใช้กำลังนั้นไปในทางที่ผิด กลายเป็นเอากำลังไปใช้ในการฟุ้งซ่าน เหมือนกับสนับสนุนเลี้ยงโจรให้มาปล้นเราเอง
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 29-10-2009 เมื่อ 13:03
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา