ค) “พวกเจ้าจงหมั่นเอาจิตคุมกายกันไว้ให้ดี ๆ พยายามอย่าให้กายคุมจิตให้มากเกินสมควร ทุกข์กายเกิดจงหมั่นกำหนดรู้ แก้มันไปให้เร็วที่สุด จิตอย่าไปเกาะทุกข์ของกาย จิตหมั่นพิจารณาหาความจริงของกายให้พบ และยอมรับสภาพของกายตามความเป็นจริง โดยอาศัยปัญญาอันเกิดจากสมถวิปัสสนาเป็นกำลังใหญ่ เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยของการมีร่างกาย จิตไม่ดิ้นรน ยอมรับสภาพของกายว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่เป็นปกติ เราคือจิตจักไม่สนใจในมัน ช่วยแค่ระงับทุกข์ชั่วคราว คิดไว้เสมอว่า ตายเมื่อไรเราจักเลิกคบมัน จิตตั้งมั่นอยู่แต่พระนิพพานจุดเดียว นาน ๆ ไปจิตจักคุมกายอยู่ คือ ชินในทุกข์ของกาย และวางเฉยได้ ไม่ทุกข์กับกายอีก จิตก็ทำหน้าที่เจริญสมณะธรรมไปได้ตลอดเวลา ไม่ว่าตอนนั้นกายจะทุกข์หรือสุขก็ตาม อารมณ์จิตที่แยกออกมาได้ กายส่วนกาย จิตส่วนจิต ทำให้จิตคุมกายได้ เป็นอารมณ์สังขารุเบกขาญาณอย่างแท้จริง แม้ในวาระแรก ๆ นี้จักเป็นของใหม่อยู่ รบทั้งสงครามประกาศพระพุทธศาสนา รบทั้งสงครามภายในจิต ก็ต้องระมัดระวังตัวทั้งกายทั้งจิต ขอให้ทำกันไปเถิด อย่าละความเพียร ผลสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้”
ง) “มีอะไรเกิดขึ้น ก็จงอย่าตกใจกันเกินสมควร ให้ยอมรับนับถือกฎของกรรมว่า มันเป็นธรรมดา ตั้งสติกำหนดรู้ให้ดี ๆ กันนะ”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 03-11-2009 เมื่อ 14:59
|