ประวัติพระราชพิธีการเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารค
ยุคแรกเริ่มของกระบวนเรือ
การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่บุราณกาลมา นอกจากการเสด็จฯ ทางบก ที่เรียกว่า "พยุหยาตราทางสถลมารค" แล้ว ยังนับว่าการเสด็จฯ ทางน้ำ คือ "พยุหยาตราทางชลมารค" ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน
ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแรกของไทยเรา ก็ปรากฏว่า พระร่วงทรงใช้เรือออกไปลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ครั้นต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองเกาะ ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำของชาวกรุงเก่า จึงต้องอาศัยเรือในการสัญจรไปมา ทั้งในเวลารบทัพจับศึก ก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏมีการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา
ยามบ้านเมืองสุขสงบว่างเว้นจากการงาน ชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเอิกเกริก โดย เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้น จัดเป็นกระบวนเรือที่ยิ่งใหญ่ ดังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มี กระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกไปเป็น ๔ สาย และริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยลำ
ระหว่างการเคลื่อนกระบวนพยุหยาตราก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ "กาพย์เห่เรือ" ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ก็กลายเป็นแม่แบบของการแต่งกาพย์เห่เรือมาจนเท่าทุกวันนี้
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองในรัชสมัยนั้นจึงเจริญรุ่งเรืองมิใช่น้อย และเนื่องด้วยพระองค์มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองละโว้หรือลพบุรีให้เป็นราชธานีรอง จึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้งล่องตามแม่น้ำป่าสักอยู่เป็นเนืองนิจ และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือหลวง ออกมารับคณะราชทูต และแห่พระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองลพบุรีตามบันทึกของนิโคลาส แชว์แวส์
ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น ได้บรรยายไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักร สยาม" ถึงขบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า
ในปี พ.ศ.๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับคณะบาดหลวงเยชูอิต ซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่ง คือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง "จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม" ในตอนหนึ่งเล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า
"...มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่สี่ลำ แต่ละลำมีฝีพายถึงแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน สองลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าน้ำปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์สองนายมาในเรือทั้งสองลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออกไป ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือใดเลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง แลเครื่องราชบรรณากา ที่บรรทุกอยู่นั้น"
บาดหลวงตาชาร์ดยังเขียนถึงขบวนเรือ ที่แห่พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ในวันที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาไปยังลพบุรีอีกว่า
"ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้ มีจำนวนถึงร้อยห้าสิบลำ ผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีก ก็แน่นแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามหนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประจัญกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชนพลเมืองล้นหล้าฟ้ามืด มาคอยชมขบวนยาตราอันมโหฬารนี้อยู่"