ของเรารถชนตูม..! เปิดประตูลงไปถามคู่กรณีว่ามีใครเจ็บบ้างไหม ? ไม่ได้ดูความเสียหายของรถเราเลยนะ มีใครเจ็บบ้างไหม ? รถมีประกันหรือเปล่า ? ถามให้เรียบร้อยก่อน คุยกันให้รู้เรื่องก่อน แล้วค่อยไปดูความเสียหาย เพราะว่าไม่มีใครอยากขับรถชนหรอก ยกเว้นดวงซวยจริง ๆ แล้ววันนั้นเจ้านั่นก็ซวยจริง ๆ ชนเราเยินเลย กระจกแตกกระจายเต็มถนน หน้ากระจังกระเด็นหลุดไปทั้งอัน เราก็ไปดู "โยมมีประกันหรือเปล่า ?" โยมบอก "ไม่มีครับ"
"อย่างนั้นไปซ่อมเองก็แล้วกัน อาตมาไม่เอาเรื่องหรอก" เป็นลักษณะว่าจะต้องทำอย่างนั้น เหมือนกับเวลาที่คุณปฏิบัติไป แล้วความเป็นทิพย์เกิดขึ้น ถ้าใช่ของจริงนะ มันจะรู้เลยว่าเรื่องนี้นะ เราต้องทำอย่างไรหรือว่าพูดได้เท่าไร ? บางทีรู้ร้อยพูดได้แค่หนึ่งเท่านั้น ความเป็นทิพย์นี้จะรายงานมาพร้อมหมดเลย
ฉะนั้น...เรื่องของการปฏิบัติต้องฝึกซ้อมอยู่ทุกวัน อย่าไปประมาท ประมาทเมื่อไหร่สนิมจะกิน สมัยก่อนหลวงพ่อให้นั่งข้างถนนเพื่อฝึกซ้อม ถึงเวลาหลับตาทำใจสบาย ๆ รถวิ่งมา ถามตัวเองว่ารถสีอะไร ? แล้วลืมตาดู ก็จะได้คำตอบเดี๋ยวนั้นเลย เราจะจำได้ว่าวางอารมณ์ถูกหรือไม่ถูก รถมาสีอะไร ? ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าถูกสัก ๘ ใน ๑๐ คันนี่เราจะจำอารมณ์ได้แล้ว ว่าที่ถูกต้องนี่ต้องวางอารมณ์ใจแบบนี้ คราวนี้ก็ใส่รายละเอียดเพิ่มว่า รถมาสีอะไร ? คนนั่งมากี่คน ? พอได้แม่นสัก ๘ ใน ๑๐ เราก็มาทายว่า นั่งมากี่คน ? ผู้หญิงเท่าไหร่ ? ผู้ชายเท่าไหร่ ? ใส่เสื้อผ้าสีอะไร ? แล้วท้ายสุดแม้กระทั่งเลขทะเบียนอะไรก็บอกได้
การซ้อมลักษณะนั้นก็มีข้อเสียอยู่ว่า ถ้าหากว่ายืนระยะนานไม่ได้ ท้าย ๆ ก็จะเป๋ สมาธิจะหล่น เราต้องตั้งต้นใหม่ ประเภทวันนี้ไม่เอา เราไปภาวนาไปทำอะไรให้สบายใจก่อน เสร็จแล้วพรุ่งนี้ก็เริ่มใหม่ ที่สำคัญอย่าให้มีกองเชียร์ ของเรากองเชียร์เยอะ พอตอบถูกเขา เฮ..! ชอบใจ ถ้าสมาธิไม่ดีก็บรรลัยหมด ซ้อมอยู่บ่อย ๆ อย่าคิดว่าใช้ได้แล้ว ใช้เป็นแล้ว จะต้องใช้ได้ทุกเวลา ถ้าหากว่าเอะใจสงสัยขึ้นมานี่ เอ๊ะ..! เมื่อไรก็ผิดเมื่อนั้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-12-2009 เมื่อ 16:45
|