07-01-2010, 17:04
|
|
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
|
|
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,311 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
|
|
ฤๅษีดัดตน ฉบับดิจิตอล
ฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอล
ผลงานเนคเทคสร้างการ์ตูนสามมิติเคลื่อนไหวเหมือนมนุษย์ เผยแพร่ท่าบริหารกายแบบไทย ๑๕ ท่าหลัก ปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายทุกส่วน พร้อมชวนประชาชนเข้าชมได้ทางเว็บไซต์และขอรับแผ่นซีดีได้ฟรี "คุณหญิงกัลยา" ผุดไอเดียแจกครม.ใช้คลายเครียด
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดงานเปิดตัวท่ากายบริหารแบบไทย "ฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอล"
ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสร้างภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวมาประยุกต์ใช้กับท่าฤๅษีดัดตนในมุมมองสามมิติจำนวน ๑๕ ท่าหลัก เพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและรณรงค์ให้คนไทยออกกำลังกายตามแบบภูมิปัญญาไทย โดยจัดทำในรูปแผ่นซีดีและนำเสนอผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
WWW.RUSIEDOTTON.THAI.NET
ซึ่งมีภาพการ์ตูนฤๅษีดัดตนเคลื่อนไหวเหมือนมนุษย์พร้อมคำอธิบายแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด และประโยชน์ต่อสุขภาพทั้ง ๑๕ ท่า ภายในงานมีการสาธิตท่าฤๅษีดัดตนให้ผู้ร่วมงานได้ทำตาม
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวถึงที่มาฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอลว่าเกิดขึ้นจากการที่ยูเนสโกได้มีมติรับรองศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์ ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลกเมื่อ
พ.ศ.๒๕๕๑
โดยมีจารึกโครงประกอบรูปฤๅษีดัดตนเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ขึ้นทะเบียน และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทยได้ประสานให้ทางเนคเทคจัดทำท่ากายบริหารแบบฤๅษีดัดตนในรูปแบบการ์ตูนอนิเมชั่นสามมิติ ใช้ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ ๑ ปี จนถึงขณะนี้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ให้ประชาชนได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว
ดร.พันธ์ศักดิ์ระบุว่า ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอลเริ่มต้นจากจำลองโมเดลฤๅษีดัดตนโดยใช้ซอฟต์แวร์สามมิติในการขึ้นรูปให้มีความโค้งมนนุ่มนวล จากนั้นใช้เทคนิคสร้างภาพเคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์สมจริงและมีหลากหลายอิริยาบถ ขั้นตอนสุดท้ายอาศัยเทคนิคคำนวณแสงเงาตกกระทบวัตถุในโมเดลสามมิติให้ภาพมีคุณภาพคมชัด
โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องฤๅษีดัดตนมาเป็นต้นแบบจัดทำภาพเคลื่อนไหว สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และศูนย์ไทยกริด ให้ความอนุเคราะห์เครื่องมือในการดำเนินงาน
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดทำฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอล ถือเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เผยแพร่ให้คนไทยและต่างชาติได้รู้จักท่ากายบริหารแบบไทย ซึ่งช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ กล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่นำความรู้ทางเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงพื้นฐานภูมิปัญญาไทย และยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย
"ดิฉันจะนำแผ่นซีดีฤๅษีดัดตนฉบับดิจิตอลไปแจกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อให้แต่ละท่านนำใช้เพื่อคลายเครียด เพราะช่วงนี้มีเรื่องเครียด ๆ เยอะ" รัฐมนตรีหญิงคนแรกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว และว่ามีแนวคิดจะมอบให้เนคเทคจัดทำศิลปะแม่ไม้มวยไทยในรูปแบบการ์ตูนสามมิติอีกด้วย
ด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีนโยบายผลักดันให้ประชาชนใช้ท่าฤๅษีดัดตนเพื่อออกกำลังกาย จากเดิมที่เคยเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือ ก็เป็นซีดีและเว็บไซต์ ซึ่งช่วยขยายกลุ่มให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้สถาบันการแพทย์แผนไทยได้เชิญผู้เกี่ยวข้องหลากหลายสาขามาร่วมกันคัดเลือกท่าฤๅษีดัดตนพื้นฐานจาก ๑๒๗ ท่า มาประยุกต์เป็นท่าหลัก ๆ จำนวน ๑๕ ท่า ซึ่งมีประโยชน์ในการปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายเกือบทุกส่วน ทั้งท่ายืน นอน และนั่ง
สำหรับท่าฤๅษีดัดตน ๑๕ ท่า ประกอบด้วย
๑. ท่านวดบริเวณกล้ามเนื้อใบหน้า แบ่งเป็น ๗ ท่า คือ
๑.๑ ท่าเสยผม
๑.๒ ท่าทาแป้ง
๑.๓ ท่าเช็ดปาก
๑.๔ ท่าเช็ดคาง
๑.๕ ท่ากดใต้คาง
๑.๖ ท่าถูหน้าหูและหลังหู
๑.๗ ท่าตบท้ายทอย
๒. ท่าแก้ลมข้อมือและแก้ลมในลำลึงค์
๓. ท่าแก้ปวดท้องและข้อเท้าและแก้ลมปวดศีรษะ
๔. ท่าแก้ลมเจ็บศีรษะ และตามัว และแก้เกียจ
๕. ท่าแก้แขนขัด และแก้ขัดแขน
๖. ท่าแก้กล่อน และแก้เข่าขัด
๗. ท่าแก้กล่อนปัตคาต และแก้เส้นมหาสนุกระงับ
๘. ท่าแก้ลมแขนใน
๙. ท่ากายอายุยืน
๑๐. ท่าแก้ไหล่ ขา และแก้เข่า ขา
๑๑. ท่าแก้โรคในอก
๑๒. ท่าแก้ตะคริวมือตะคริวเท้า
๑๓. ท่าแก้ตะโพกสลักเพชร และแก้ไหล่ ตะโพกขัด
๑๔. ท่าแก้ลมเลือดนัยน์ตามัว และแก้ลมอันรัดทั้งตัว และ
๑๕. ท่าแก้เมื่อยปลายมือปลายเท้า
ผู้สนใจสามารถเข้าชมและบริหารร่างกายแบบฤๅษีดัดตนได้แล้วที่
www.rusiedotton.thai.net
และขอรับแผ่นซีดีได้ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.
|