คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
สันตติของอารมณ์ ในขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นเป็นอย่างไร (๑)
ขณะเจริญพระกรรมฐาน หากพิจารณาไป จิตเครียดขึ้นมา
ก็จงวางอารมณ์พิจารณา เปลี่ยนมาเป็นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
กำหนดภาพพระเป็นกสิณนิมิตแทนการเห็นอทิสมานกายอยู่เบื้องหน้าพระบนพระนิพพาน
จงทำจิตให้เป็นสุขผ่องใส เพราะอยู่ต่อหน้าพระจอมไตรองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
กำหนดรู้ไว้ แม้ร่างกายจักตายไปในขณะนั้น จิตก็ย่อมเข้าสู่พระนิพพานแน่นอน
อย่าลืม เวลาใดที่กำหนดภาพพระนิพพานอยู่
เวลานั้นจิตไม่ห่วงร่างกาย ลืมความคิดถึงร่างกายในชั่วขณะนั้น ๆ
ขอให้สังเกตอารมณ์ของจิต
จักเกาะติดหรือคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้แค่อย่างเดียวในขณะจิตนั้น ๆ
แต่เนื่องจากขณะจิตหนึ่งนั้นเร็วมาก
แค่พุทไม่ทันโธ บุคคลผู้มีความประมาทก็ตั้งสติกำหนดรู้ขณะจิตหนึ่งนั้นไม่ทัน
การปล่อยอารมณ์ฟุ้งซ่านถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ จึงรู้สึกว่ามันปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องเป็นราว
จนดูเป็นที่ผันผวนของอารมณ์ยิ่งนัก นี่ก็เป็นสันตติ
เพราะแยกขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นไม่ออก
เรื่องราวทั้งหมดจึงประดังประเดเข้ามาเสมือนกระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลติด ๆ กันมา
สติไม่ทันกำหนดรู้ ก็แยกเหตุที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ในขณะนั้นไม่ถูก
ยิ่งใจร้อน ก็ยิ่งไหวหวั่นไปกับเหตุที่เกิดขึ้นมาก
แต่ถ้าหากใจเย็น มีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตในขณะจิตหนึ่ง ๆ
การกำหนดรู้ก็จักดึงเหตุที่เข้ามากระทบจิตให้ช้าลง
จนสามารถรู้ได้ว่าในขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้นจิตกำลังเสวยอารมณ์อะไร
จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน