แต่ว่าในส่วนหนึ่งผมอยากจะใช้คำว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอ่างทอง น่าจะลืมดูครับ ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร หน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดก็คือ คอยดูแลสนับสนุนรับใช้การทำงานของพระสังฆาธิการในเขตจังหวัดนั้น ๆ ครับ ไม่ใช่มีหน้าที่ออกคำสั่งห้าม หรือออกคำสั่งให้พระทำอะไร
แม้แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าท่านทั้งหลายสังเกตจะเห็นว่าระยะหลัง ๆ นี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติออกหนังสือมาในลักษณะคำสั่ง ถ้าหากว่าเป็นผม ก็จะใช้คำว่า "เหาะเลยลงกา" ครับ ก็คือตั้งใจจะไปรบกับทศกัณฐ์ที่ลงกา ถ้าเหาะเลยลงกานี่ ก็ไม่ต้องเจอเป้าหมายกันละครับ ออกทะเลไปเปล่า ๆ..!
แล้วในส่วนที่เราจะเอามาตัดสินว่า สิ่งที่พระภิกษุสามเณรทำนั้นถูกหรือผิด พระพุทธเจ้ามีให้ไว้ครบถ้วนแล้วครับ นิสิตทุกท่านน่าจะจำได้นะครับ คือ มหาปเทส ๔
สิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควรครับ ท่านทั้งหลายจะต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู รู้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่นอกเหนือพระธรรมวินัยที่พระองค์ท่านบัญญัติไว้ จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เลยทรงมอบกฎเกณฑ์ในการตีความ เรียกว่ามหาปเทส คือข้ออ้างใหญ่ไว้ ๔ ข้อ ก็คือ
สิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร อย่างเช่นว่า ภิกษุห้ามดื่มเหล้า สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ ระบุไว้ชัดเจนเลยครับ แต่สมัยนั้นไม่ได้มีการห้ามเสพผงขาว ยาบ้า ยาไอซ์นะครับ เราจะไปอ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามแล้วไปทำ..ตายแน่ละครับ..! เพราะว่าสิ่งใดไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร ชัดเจนนะครับ
ข้อต่อไปคือ สิ่งใดไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร อย่างเช่นว่าเทอมก่อน ท่านทั้งหลายต้องเรียนหนังสือ คราวนี้การเรียนหนังสือของเราคร่อมอยู่ในพรรษาครับ การที่เราจะใช้สัตตาหะกรณียะ คือเมื่อมีกิจจำเป็นแล้วสามารถที่จะไปที่อื่นได้ในพรรษา แต่ต้องไม่เกิน ๗ วัน
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้แค่ว่า พ่อป่วย แม่ป่วย พระอุปัชฌาย์อาจารย์ป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาลได้ เพื่อนต่างวัดกระสันจะสึก ไปเพื่อห้ามปรามได้ วัดพังไปหาทัพพสัมภาระมาซ่อมวัด ไปได้ ทายกมีศรัทธานิมนต์ ไปเพื่อเจริญศรัทธาได้ แต่ทั้งหมดต้องไม่เกิน ๗ วัน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 05-08-2021 เมื่อ 01:54
|