การสรงน้ำพระ ก็คือการที่เราถวายของหอมเป็นพุทธบูชา ถ้าหากว่าว่ากันตามบาลีที่มีไว้ก็คือ อันนัง ปานัง วัตถัง ยานัง มาลา คันธัง วิเลปะนัง เสยยาวะสะถัง ปะทีเปยยัง ทานะวัตถู อิเม ทะสะ
ท่านว่า อันนัง คือข้าว ปานัง คือน้ำ วัตถัง คือผ้า ยานัง คือยานพาหนะ มาลา คือดอกไม้ คันธัง คือของหอม
วิเลปะนัง คือเครื่องลูบไล้ หรือว่าเครื่องประทินผิว สมัยก่อนนั้นก็คือน้ำมันสำหรับทาเท้า เนื่องจากว่าเดินตีนเปล่ากันเสียมาก แล้วเดินเป็นระยะทางไกล ๆ เมื่อถึงที่พัก ล้างเท้าสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเนย ทาเท้าป้องกันเท้าแตก ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ประมาณพวกโลชั่นต่าง ๆ
เสยยา คือเครื่องนอน วะสะถัง คือเครื่องนั่ง ปะทีเปยยัง คือเครื่องตามประทีป ถ้าสมัยนี้ก็เป็นพวกที่เกี่ยวกับไฟฟ้า แสงสว่างต่าง ๆ
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ๑๐ อย่างนี้จัดเป็นวัตถุทานที่สมควรแก่สมณบริโภค ก็คือพระภิกษุสามเณรของเราสามารถรับมาใช้สอยตามโอกาสได้
เรื่องอื่นอย่างอื่น กระผม/อาตมภาพไม่รู้สึกแปลกใจ แต่แปลกใจตรงที่พระองค์ท่านว่า "ให้รับยานพาหนะได้" อาจจะเป็นเพราะว่าสมัยนั้นภูมิประเทศกว้างใหญ่ไพศาล และส่วนใหญ่เป็นถิ่นทุรกันดาร ยากแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังนั้น...ถ้ามีใครถวายเกวียน ถวายม้าต่าง ถวายวัวต่าง ก็ให้รับขึ้นมาใช้งานได้
ถ้าอย่างสมัยนี้ของเรา ที่เห็นยังเหลืออยู่ก็คือสำนักสงฆ์ถ้ำป่าอาชาทอง ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่นั่นให้พระภิกษุสามเณรขี่ม้า เพื่อที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามป่าตามเขาต่าง ๆ ที่เดินทางด้วยรถยนต์ไม่ได้
เราจะเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก ถึงได้อนุญาตเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เอาไว้แต่ต้น แต่เราก็ต้องดูความเหมาะสมต่อฐานะ เพราะว่าพระภิกษุสามเณรก็คือนักบวช ถ้าถึงขนาดขี่เฟอร์รารี่หรือลัมโบร์กินี่ก็เกินไป เอาแค่ที่พอใช้งานได้ก็พอแล้ว
ดังนั้น...ตรงส่วนนี้ของเรา พิธีพราหมณ์ก็คือขบวนแห่ พิธีพุทธคือการที่เราแห่พระพุทธรูป สรงน้ำพระ แล้วก็มาเพิ่มเติมด้วยการถวายผ้าป่า
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-04-2022 เมื่อ 05:58
|