กระผม/อาตมภาพเอง ตอนแรกก็ทำไปด้วยความไม่สบายใจ แต่พอสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ถึงได้เข้าใจ เพราะว่าถ้าเปรียบเทียบกับพระสมเด็จองค์ปฐมหน้าตัก ๒๑ ศอก ที่ถอดพิมพ์ไป ๒๐๐ กว่าองค์ทั่วประเทศไทยแล้ว ของวัดท่าขนุนสวยงามโดดเด่นที่สุด ไม่ว่าจะฤดูกาลไหน ก็เด่นสง่างดงามประทับใจผู้พบเห็นเสมอ
ดังนั้น..ในเรื่องของพระหรือว่าครูบาอาจารย์ท่านสั่งอย่างไร กระผม/อาตมภาพก็จะทำตามอย่างนั้น เนื่องเพราะว่าถ้าทำเป็นรู้ดี ไปคัดค้านเมื่อไร สิ่งที่ปรากฏออกมาก็จะบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า คำสั่งของครูบาอาจารย์นั้นสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว เราไปเติมเข้าก็เกิน ไปตัดออกก็ขาด
เรื่องของหลักธรรมก็เช่นเดียวกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้บริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกประการ ถึงพร้อมด้วยอรรถ คือเนื้อความ และพยัญชนะ คือความงามของอักขระหรือว่าความสอดคล้องของภาษา ก็แปลว่า สมบูรณ์บริบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน เป็นเรื่องที่เรามีหน้าที่ปฏิบัติตามอย่างเดียว ไม่ใช่มาสงสัยว่าน่าเป็นอย่างนั้น ควรเป็นอย่างนี้ หรือว่าอย่างโน้นเรียกว่าอะไร อย่างนี้เรียกว่าอะไร
อย่างที่มีญาติโยมหลายท่านพยายามตั้งคำถามมา ต้องเรียกว่าถามไปแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น การที่เรียกว่าสิ่งนั้นคืออะไร ไม่ได้สำคัญ สำคัญอยู่ตรงที่ว่าท่านทั้งหลายทำได้ตามนั้นหรือไม่ ถ้าหากว่าทำได้เมื่อไร ก็จะสิ้นสงสัยไปเอง เพราะว่าคำพูดและตัวหนังสือนั้น ไม่สามารถอธิบายสภาวธรรมที่แท้จริงได้
สภาวธรรมที่เกิดขึ้นในใจนั้นเป็นปัจจัตตัง บุคคลที่ปฏิบัติถึงจึงจะเข้าใจและรู้แจ้งเห็นจริงตามนั้น เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายอย่าได้กระทำในลักษณะยึดมั่นถือมั่น เนื่องเพราะว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ เมื่อเราไปปฏิบัติถึงระดับไหน ก็จะไปยึดมั่นว่า ธรรมะที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนก็ดี ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ดี ที่แท้ก็คืออย่างนี้เอง โดยที่ไม่ได้คิดพิจารณามากไปกว่านั้น เพราะความยึดติด หรือว่าทิฏฐิมานะของตน
จนกระทั่งการปฏิบัติผ่านพ้นไป แล้วก้าวเข้าสู่ระดับที่ละเอียดกว่า สูงกว่านั้น ก็จะเห็นว่า อ้าว..คราวที่แล้วเราผิดนี่นา แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นอีกว่าจุดที่ตนเองเข้าถึงนั้นว่า ต้องใช่อย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าตราบใดที่ท่านทั้งหลายยังมีกำลังใจอยู่ในลักษณะอย่างนี้ โอกาสที่จะเข้าถึงความดีที่แท้จริงก็จะมีน้อยมาก
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-11-2022 เมื่อ 00:56
|