ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 09-03-2023, 22:31
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,653
ได้ให้อนุโมทนา: 151,944
ได้รับอนุโมทนา 4,416,023 ครั้ง ใน 34,243 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

โดยการที่เราจะพิจารณาว่าข้อธรรมคำสอนนั้นใช่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ? หลวงปู่ท่านให้ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้เราทำนั้นเป็นของง่าย แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้เราทำนั้นเป็นของยาก ดังนั้น..เราจึงควรที่จะทำของง่าย อย่าไปทำของยาก

อย่างเช่นว่าการให้ทานนั้นเป็นของง่าย แต่การลักขโมยฉกฉวยช่วงชิงของคนอื่นนั้นเป็นของที่ทำได้ยาก การให้ทาน เรานึกอยากให้เมื่อไรเราก็ให้ได้เลย แต่การที่จะลักขโมยคนอื่นนั้น ต้องดูลู่ทาง ดูเวลาที่เหมาะสม ดูว่าเมื่อไรเจ้าของจะเผลอ ดูว่ามีคนและสัตว์เฝ้ารักษาหรือไม่ ? เป็นต้น

หรืออย่างเช่นว่าพระองค์สั่งเราห้ามฆ่าสัตว์ การที่เราไม่ฆ่าสัตว์ก็คือไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแต่งดเว้นการฆ่าเท่านั้น แต่ถ้าเราต้องไปฆ่าคน ไปฆ่าวัว ไปฆ่าควาย เป็นการกระทำที่ยากเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ทำจึงเป็นของง่าย สิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามทำจึงเป็นของยาก

ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักปฏิบัติก็คือให้เจริญเมตตาอยู่เสมอ เพราะว่าจิตใจของเราเหมือนกับปลา เมตตาเหมือนกับน้ำสะอาดที่ชุ่มเย็น ปลาสามารถอยู่อาศัยเจริญเติบโตได้ดี ถ้าหากว่าเราไปโกรธคนอื่น ก็กลายเป็นเอาน้ำเดือดมาใส่ใจ ปลาก็ย่อมจะต้องเดือดร้อนจนถึงขนาดตายไปเลยก็มี หรือว่าถ้าเราเกลียดคนอื่น ก็เอาน้ำเน่ามาใส่ใจ ปลาที่ไหนจะอยู่ได้นาน ? ท่านถึงได้เปรียบเอาไว้ว่า
กำลังใจเหมือนกับปลา เมตตาเหมือนกับน้ำ ปลากับน้ำต้องอยู่ด้วยกัน จึงจะทำให้เราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมได้ง่าย

หลักการปฏิบัติธรรมก็ให้ยึดในแนวของโพชฌงค์ ๗ ก็คือประกอบไปด้วย สติสัมโพชฌงค์ ระลึกรู้อยู่เสมอว่าเราจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ในส่วนของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก อยากจะทำข้อไหนก็เลือกหยิบจับเอาข้อธรรมที่เราปฏิบัติได้ง่ายขึ้นมาแล้วลงมือทำ ซึ่งก็คือวิริยสัมโพชฌงค์ เมื่อพากเพียรทำไปก็จะเกิดปีติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มเอิบใจ แล้วประกอบไปด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็คือความสงบย่อมเกิดขึ้น

สมาธิสัมโพชฌงค์ ความที่จิตใจตั้งมั่น ทำให้กิเลสแทรกแซงไม่ได้ก็เกิดขึ้น ก่อให้เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็คือการปล่อยวาง ไม่ยินดียินร้ายทั้งในสิ่งที่ดีและสิ่งที่ชั่ว เราก็จะสามารถดึงกำลังใจของเราให้ห่างไกลจากกิเลส ถ้าหากว่าห่างไกลออกมามาก ๆ ไม่ไปปรุงไปแต่ง ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้พวกเราทั้งหลาย สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-03-2023 เมื่อ 02:12
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 35 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา