ข้อที่สาม อย่าเป็นคนขี้สงสัย ส่วนใหญ่พวกเรา รับรู้เรื่องต่าง ๆ มามากต่อมากด้วยกัน แล้วจะเป็นคนขี้สงสัย การรู้เห็นนั้น เรารู้เห็นตามสภาพปัจจุบัน ตอนนั้น เดี๋ยวนั้น แต่สิ่งที่เรารับฟังมานั้นไม่ใช่ ถ้าเราไปเอาสิ่งที่เรารับฟังมาไปเปรียบเทียบ เขาเรียกว่า ติดอุปาทาน
ขอยกตัวอย่างตัวเองให้ฟังว่า อาตมาฝึกครั้งแรก เพราะอยากเห็นพระอินทร์ เคยดูลิเกมาเยอะ พระอินทร์ต้องตัวเขียว ๆ ใส่ชฎาด้วย ปรากฏว่าพอไปเข้าจริง ๆ ถึงบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ไม่ได้เจอพระอินทร์อย่างที่ตัวเองรู้จัก
เจอลุงกำนันท่านหนึ่ง อ้วนพุงปลิ้นเลย ใส่กางเกงขาสามส่วน มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ แถมสูบบุหรี่มวนโตอีกต่างหาก ก็ไปยืดคอมอง นี่หรือพระอินทร์ ? ท่านก็ลุกขึ้นนั่งถามว่า แล้วเอ็งอยากดูแบบไหน ? ในช่วงไม่กี่วินาที ท่านเปลี่ยนให้ดูเป็นร้อย ๆ แบบ แล้วท้ายสุดก็คือแบบที่เราคิดว่าใช่ ก็คือต้องตัวเขียว ๆ แล้วใส่มงกุฏแหลม ๆ ด้วย
ดังนั้นถ้าหากเราเป็นคนขี้สงสัย ยึดเอาอุปาทานจนเกินไป อย่างเช่น นางฟ้าไม่ใส่เสื้อ ยุ่งแน่ ๆ เลย อย่าลืมว่าท่านรวยกว่าเราเยอะ ถึงขนาดไม่มีเสื้อใส่นี่หมดสภาพเลย อันนั้นเป็นเทคนิคของโบราณที่เขาวาดภาพในแนวอีโรติก เพื่อจะดึงดูดความสนใจของคน เลยไม่ใส่เสื้อให้นางฟ้า
ข้อที่สี่ ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนใหญ่คนที่ขาดความมั่นใจ พอฝึกได้ในช่วงอยู่ต่อหน้าครูฝึก ลับหลังไปแล้วก็สงสัยว่า เอ๊ะ..! เมื่อกี้จะจริงหรือเปล่า ? โดยเฉพาะกลับบ้านไปแล้วทำต่อไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นวิธีเดียวกันนั่นเอง
อย่าลืมข้อสรุปนะ
๑.ต้องไม่กลัว
๒.ต้องไม่อยากจนเกินไป ต้องคลายสมาธิของตัวเองลงมาให้หมดก่อน ยกเว้นว่าใครทรงฌาน ๔ ได้คล่องตัว ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้อง
๓.ต้องไม่เป็นคนติดสงสัย เอาของเก่ามาปะปนกับเรื่องที่พบในปัจจุบัน ตอนนั้น เดี๋ยวนั้น
๔.ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง
ถ้าใครสามารถทำได้ดังนี้ โดยเฉพาะเคล็ดลับตรงที่ว่า มโนมยิทธิแค่คิดก็ถึงแล้ว ถ้าหากครูฝึกท่านบอกว่า ให้ยกกำลังใจขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ให้กำหนดความรู้สึกของเราทั้งหมดว่า ที่อยู่ตรงหน้านี่คือดาวดึงส์
ถ้าครูฝึกถามว่า มีสภาพอย่างไร ? ความรู้สึกตอนนั้นบอกว่าอย่างไร ? ให้ตอบไป เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร เอาความรู้สึกแรกเข้าว่า พอครูฝึกบอกเราให้ทำตามไปเรื่อย ๆ สภาพจิตที่ตื่นเต้นตอนแรก ก็จะค่อย ๆ นิ่งลง เหมือนกับน้ำนิ่ง การรู้เห็นจะชัดขึ้นเรื่อย ๆ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 17-01-2011 เมื่อ 14:21
|