ในส่วนของการยินร้ายนั้น เป็นส่วนที่สามารถมองได้ชัด แก้ไขได้ง่าย เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่เราไม่ปรารถนา เราก็มักจะผลักไสไล่ส่งอยู่แล้ว
แต่ในส่วนของความยินดีนั้น เป็นอารมณ์ใจที่แก้ไขได้ยาก เพราะเราชอบ ในเมื่อเราชอบก็ไม่คิดจะผลักไส ไม่คิดจะหนีห่างไป ดังนั้น..นักปฏิบัติส่วนใหญ่ แก้อารมณ์ยินร้ายได้ ก็มักจะมาตกม้าตายกับอารมณ์ยินดี เพราะไม่คิดว่าจะเป็นอารมณ์ที่เกิดโทษแก่ตน
เมื่อทุกคนสังเกตเห็นความยินดียินร้ายในอารมณ์แล้ว ทำอย่างไรที่เราจะวางอารมณ์ใจให้เป็นกลาง ไม่ไปยินดียินร้ายให้เกิดโทษแก่เราทั้งคู่ได้ นั่นก็แปลว่า สติและสมาธิของเราทั้งหมด จะต้องทรงตัวจดจ่ออยู่เฉพาะหน้า คืออยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อยู่กับปัจจุบันธรรม ก็คืออยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ไปคิดถึงอดีต ไม่ไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต
ถ้าสามารถทำดังนี้ได้ ความยินดียินร้ายก็ไม่สามารถที่จะเกาะกินใจของเราได้ แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น พวกเราทั้งหลายจึงต้องทำบ่อย ๆ ย้ำบ่อย ๆ โดยเฉพาะในอานาปานสติกรรมฐาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นแก่จิตของเรา เมื่อความเข้มแข็งเกิดขึ้นจนถึงระดับที่เพียงพอ สภาพจิตของเราก็จะหนักแน่นมั่นคง ไม่ยินดียินร้าย ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์กระทบต่าง ๆ
ดังนั้น..พวกเราทั้งหลายที่ปฏิบัติกันมา บางท่านก็เป็นระยะเวลาหลายสิบปี บางท่านอย่างไม่มี ๆ ก็ปีสองปีขึ้นไป การปฏิบัติของเราจะก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันอารมณ์ใจตนเอง การจะรู้เท่าทันอารมณ์ใจตนเองนั้น สติ สมาธิ และปัญญาจะต้องเฉียบคม ว่องไว
การที่สติ สมาธิ ปัญญาจะเฉียบคม ว่องไวนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ ศีลสมาธิ และปัญญา ของเรา ว่าสั่งสมมามากเท่าไร ถ้าศีลทรงตัว สมาธิของเราตั้งมั่น ปัญญาก็จะเกิดได้ง่าย สติเป็นผลของการที่ศีลและสมาธิทรงตัว ทำให้รู้จักระงับยับยั้งไม่ไปนึกคิดตามอารมณ์ต่าง ๆ จนเกิดโทษแก่พวกเรา
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-07-2010 เมื่อ 15:20
|