พระอาจารย์กล่าวให้ฟังว่า "เรื่องของคนเราเกิดมาเพื่ออะไร ? เป็นคำถามโลกแตกมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว เขาก็พยายามแสวงหาคำตอบกันตลอดมา จนกระทั่งท้ายสุดสรุปลงตรงที่ว่า ต้องมีการหลุดพ้น
แต่ว่าการหลุดพ้นของแต่ละสำนัก เขาไม่สามารถที่จะลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีหนทางของตนเอง อย่างเช่นว่า ฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ เขาก็บอกว่าไปรวมอยู่กับปรมาตมัน ปรมาตมัน คือ พลังงานอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นที่รองรับจิตวิญญาณทั้งหมด ถ้าเป็นศาสนาคริสต์ ก็ว่าเขาจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า
แต่ท้ายสุดพระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบจริง ๆ ว่า มีสถานที่ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าการจะไปซึ่งสถานที่นั้น จะต้องอยู่ในลักษณะเป็นผู้ที่ปล่อยวาง ไม่เอาอะไรไปเลย ลักษณะเหมือนกับว่าในเมื่อไม่เอาอะไร ท้ายสุดคุณก็จะได้สิ่งนั้น
อย่างพราหมณ์ฮินดู เกิดก่อนศาสนาพุทธหลายพันปี แต่ก็ยังคงตะเกียกตะกายดิ้นรนอยู่ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ท่านก็สรุปรวมว่า บรรดาลัทธิต่าง ๆ ที่พวกพราหมณ์เขาสอนถึงวิธีการหลุดพ้น มีถึง ๖๒ ลัทธิด้วยกัน ที่เขาเรียกว่าเป็น ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ มีอยู่ ๑๘ ลัทธิ อปรันตกัปปิกทิฏฐิ อีก ๔๔ ลัทธิ
ตอนแรกที่ศึกษาอยู่ อ่านพระไตรปิฎกมีความสงสัยว่า ในเมื่อลัทธิต่าง ๆ เหลวไหลขนาดนั้นทำไมคนจึงเชื่อ ? อย่างครูทั้ง ๖ ได้แก่ มักขลิโคสาล ปูรณะกัสสปะ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร
ถ้าลัทธิเหลวไหลขนาดนั้นทำไมคนจึงเชื่อ ? ปรากฏว่าพอไปศึกษาในพรหมชาลสูตรแล้ว ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เพียงแต่ว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นรู้ไม่ครบ
ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิทั้ง ๑๘ ลัทธิ เขาสามารถระลึกชาติได้ ระลึกย้อนชาติได้ตั้งแต่แสนชาติขึ้นไป จนกระทั่งถึงหลายสิบกัป ก็เลยตั้งลัทธิของตนเองขึ้นมา จะมากจะน้อยก็ตามแต่ที่ตนเองรู้เห็น แล้วสามารถยืนยันได้ เขาจึงเชื่อกัน
ส่วนอปรันตกัปปิกทิฏฐิยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะเขาเห็นอนาคต ในเมื่อเขาเห็นอนาคต เขาจึงบัญญัติว่าโลกเที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง มีทั้งเที่ยงบ้างและไม่เที่ยงบ้างให้ยุ่งกันไปหมด เพราะแต่ละคนรู้เห็นยาวสั้นไม่เท่ากัน เราจึงเข้าใจได้ว่าแต่ละคนที่จะมาเป็นเจ้าสำนักจริง ๆ ล้วนแล้วแต่มีความสามารถทั้งนั้น เพียงแต่ว่ารู้ไม่ครบเท่าพระพุทธเจ้าเท่านั้น"
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-07-2010 เมื่อ 03:09
|