"เพราะฉะนั้น..ในเรื่องของพระไตรปิฎก สรุปลงตรงนี้เลยว่า อย่าอ่านเฉย ๆ อ่านแล้วคิดบ้าง จะเห็นอะไรอีกเยอะเลย ในพระไตรปิฎกมีสิ่งที่แฝงอยู่ข้างในมากมาย
โดยเฉพาะถ้าเราศึกษาพื้นฐานของชมพูทวีป คือ อินเดียโบราณมา รู้เห็นถึงสภาพบ้านเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แล้ว จะอ่านสนุกขึ้นอีกมาก เพราะจะนึกออกว่าแต่ละอย่างที่ท่านกล่าวไว้เป็นอย่างไร
ทำไมนางบุญทาสีที่เป็นทาสเป็นคนรับใช้ จึงได้ดีใจนักหนาที่พระพุทธเจ้าเสวยแป้งจี่ที่ตัวเองถวายให้ ? เพราะเขาถือวรรณะว่า พวกชั้นต่ำเป็นเสนียดจัญไร ข้าวของอะไรที่พวกวรรณะต่ำแตะต้อง เขาถือว่าไม่สามารถที่จะใช้ต่อได้เลย
ท่านอาจารย์ ดร. วศิน กาญจนวณิชย์กุล ท่านไปเรียนหนังสือที่นั่น เห็นเขาเลี้ยงน้ำ ท่านรับแก้วมาถึงก็ดื่มเลย เขาด่าท่านเสียไม่มี..! พอไปเห็นคนอื่นดื่มบ้างท่านถึงได้รู้ ก็คือ เขาให้อ้าปากแล้วเทน้ำใส่ โดยที่ไม่ให้แก้วถูกริมฝีปาก เพราะกลัวติดเสนียดจัญไรจากวรรณะต่ำ..!
ในเมื่อวรรณะต่ำอย่างนางบุญทาสีไปเจอวรรณะกษัตริย์อย่างพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านนอกจากจะไม่รังเกียจแล้ว ยังฉันให้เห็นซึ่ง ๆ หน้า เป็นเราก็ปีติแทบตัวลอยเหมือนกัน พอพระองค์ท่านทรงเทศน์สอน ก็เป็นพระโสดาบันเลย
หรือไม่ก็นางกุมภทาสีที่หลงรักพระอานนท์ ชื่อจริงของนางคือ โกกิลา พระอานนท์เป็นวรรณะกษัตริย์ไปขอน้ำดื่ม นางก็ไม่กล้าให้ พระอานนท์จึงได้บอกว่า "วรรณะสี่เหล่าเสมอกันด้วยความดี ไม่มีหรอกที่จะต่ำกว่ากัน สูงกว่ากัน ท้ายสุดก็ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดขึ้นเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงท่ามกลาง สลายไปในที่สุด"
เมื่อพระอานนท์ไม่รังเกียจ นางโกกิลาก็ถวายน้ำให้ แล้วก็ติดใจเลยตามไปบวช กลายเป็นต้นเรื่องที่ธรรมโฆษเขาเอามาเขียนเรื่อง ลีลาวดี"
หมายเหตุ : นางกุมภทาสี = หญิงผู้มีหน้าที่ตักน้ำ , โกกิลา = นกดุเหว่า
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 17-07-2010 เมื่อ 22:39
|