ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 26-07-2010, 11:05
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 31,421
ได้ให้อนุโมทนา: 154,231
ได้รับอนุโมทนา 4,444,541 ครั้ง ใน 35,026 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐

อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐

เราน่าจะต้องเปลี่ยนบททำวัตรกันแล้ว “สัมมา ธารัง ปะเวจฉันโต กาเล เทโว ปะวัสสะตุ”* เราทำความดี เทวดาเขาจึงบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ความจริงบทนี้โบราณเขาใช้เป็นคาถาเรียกฝนอีกด้วย

การที่ฝนตกเป็นเรื่องปรกติ ถ้าหากว่าเราไปหงุดหงิดและรำคาญใจเราก็จะผิดปรกติ นั่นตัวเราผิดเอง เรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ ถึงวาระถึงเวลาเขาก็มา หน้าที่ของเราก็คือ รักษากำลังใจให้ดีที่สุด คราวนี้ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น ถ้าเราอยากมักจะไม่ได้

เลยมีคำถามว่า “ถ้าไม่อยากแล้วจะทำไปทำไม ?” ความอยากนั้นมีสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกเขาเรียกว่า “ฉันทะ”** ยินดีพอใจที่จะปฏิบัติในความดี อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกว่า “ตัณหา”*** เป็นความทะยานอยาก อยากมี อยากได้ อยากเป็น ด้วยอำนาจกิเลสชักนำ

สองอย่างนี้จะมีลักษณะที่ตรงกันข้าม อันหนึ่งกอบโกยเข้าหาตัวเองในด้านที่ไม่ดี อีกอันหนึ่งเป็นการโกยความดีเข้าใส่ตัว คราวนี้พวกเราทุกคนที่เริ่มปฏิบัติ มักจะอดไม่ได้หรอก อยากดีอย่างนั้น อยากดีอย่างนี้ อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ อย่างใน “ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า”**** บอกไว้ ปฏิบัติทั้งทีก็ต้องให้เป็นพระอรหันต์ทรงปฏิสัมภิทาญาณไปเลย หวังไม่มากหรอก เอาแค่นั้นก็พอ..!

ถามว่า “ความต้องการอย่างนั้นผิดไหม ?” ไม่ผิด..แต่ถ้าถึงเวลาภาวนาแล้ว เราตัดความต้องการตรงนั้นไม่ได้ อันนี้จะผิด เพราะว่าภาวนาเมื่อไร เราก็อยากเมื่อนั้น ก็จะเป็นตัวอุทธัจจะ “อุทธัจจะกุกกุจจะ” ***** คำนี้เป็นสองศัพท์ซ้อนอยู่ด้วยกัน

อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ คือ ความหงุดหงิดรำคาญใจ ฟุ้งซ่านอยากเป็นนั้นอยากเป็นนี่ ไม่ได้อย่างใจเข้าก็รำคาญ ในเมื่อจิตไม่สามารถตั้งมั่นได้ ไม่สามารถรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ กำลังก็ไม่พอใช้งาน

เมื่อกำลังไม่พอใช้งาน สิ่งที่เราหวัง สิ่งที่เราต้องการ แม้ว่าฌานสมาบัติข้างต้นอย่างปฐมฌาน ทุติยฌาน เราก็ไม่สามารถที่จะทรงได้ เพราะจิตเราไม่นิ่ง ไม่ทรงตัวการปฏิบัติทุกระดับชั้น ต้องมีอุเบกขาอยู่ภายในการปฏิบัติของเรา

ถ้าไม่มีตัวอุเบกขาก็ก้าวหน้าไม่ได้ ตัวเอกัคตารมณ์ในฌานทุกระดับคือตัวอุเบกขา เราต้องวางกำลังใจว่า เรามีหน้าที่ทำ มีหน้าที่ภาวนา เมื่อทำแล้ว ภาวนาแล้ว ผลจะเกิดอย่างไรเป็นเรื่องของมัน


หมายเหตุ :
* พระครูอรุณธรรมรังษี : มนต์พิธี : อักษรสมัย(๑๙๙๙) : กรุงเทพฯ : พ.ศ. ๒๕๔๒ : ปัตติทานะคาถา หน้าที่ ๘

** ที.ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓ : อภิ.วิ. ๓๕/๕๐๕/๒๙๒

*** อัง.ฉกฺก. ๒๒/๓๗๗/๔๙๔ : อภิ.วิ. ๓๕/๙๓๓/๔๙๔

**** พระราชพรหมยาน(วีระ ถาวโร ป.ธ.๔) : ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า : วัดท่าซุง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ๖๑๐๐๐

***** อัง.ปญฺจก. ๒๒/๕๑/๗๒ : อภิ.วิ. ๓๕/๙๘๓/๕๑๐
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 27-07-2010 เมื่อ 10:16
สมาชิก 73 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา