จากนั้น สมเด็จองค์ปฐมท่านทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนรายละเอียดของอารมณ์สักแต่ว่า ให้ดังนี้
๑. “เป็นอย่างไรเจ้า ปฏิบัติธรรมมาตั้งนาน เพิ่งจักรู้ว่าคำว่า สักเพียงแต่ว่ารู้ สักเพียงแต่ว่าเห็นนั้นเป็นไฉนหรือ”
(ก็ยอมรับว่าโง่จริง ๆ ที่ไม่เข้าใจ)
๒. “การรู้ก็ดี การเห็นก็ดี คือ จิตมีสติกำหนดรู้ เห็นไปตามความเป็นจริง และพิจารณาไปเป็นธรรมดาในสิ่งนั้น ๆ
จุดนี้นับว่าประเสริฐ กล่าวคือจิตมีความเป็นบัณฑิต ไม่หลงใหลไปกับรูป เสียง รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อารมณ์ไม่เกาะติด เพราะเห็นสภาพสิ่งสัมผัสเหล่านั้นว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จิตก็ไม่ยึดเกาะสิ่งสัมผัสเหล่านั้นมาปรุงแต่งเป็นอารมณ์ สร้างความพอใจ ไม่พอใจให้เกิดความรุ่มร้อนแก่จิต นี่แหละคือคำว่า รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นสักเพียงแต่ว่าเห็น”
๓. “ซึ่งต่างกับทรชนคนพาล จิตหวั่นไหวไปกับอายตนะสัมผัส รู้เห็นสิ่งใดมิได้ขบคิดถึงความเป็นจริง สร้างอารมณ์กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมให้เกิด จิตจึงร้อนอยู่ตลอดเวลา ด้วยความรู้ไม่เท่าทันสภาวะธรรมนั้น ๆ เยี่ยงนี้ตถาคตไม่สรรเสริญ เพราะไม่ใช่หนทางสงบ ไม่ใช่หนทางนักพรต ที่จักบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงมรรค ถึงผลแห่งพระนิพพาน”
๔. “
เหตุแห่งอารมณ์ รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นสักเพียงแต่ว่าเห็น จงนำมาปฏิบัติให้จริงจัง จิตอย่าได้คลายจากการกำหนดรู้ในอารมณ์นี้ เพราะจักเป็นที่ตั้งแห่งความสันโดษยังจิตให้สงบเป็นสุขได้โดยแท้”
๕. “ขอยกตัวอย่างกรณีหนึ่งขึ้นมา อุปมาอุปไมยให้เจ้าได้ใช้เป็นแนวทางกำหนดวางอารมณ์
รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นเพียงสักแต่ว่าเห็น อย่างเห็นรูปคนหรือสัตว์ที่สวยสดงดงามก็ดี จิตมีสติยอมรับตามรูปที่เห็นนั้น ๆ แต่ชั่วขณะจิตเดียวก็พิจารณาไปถึงความจริงแห่งธาตุฐานแห่งรูปนั้น ๆ เห็นธาตุ ๔ อาการ ๓๒ กระจ่างชัด เห็นทุกข์ของการเสวยรูปนั้นตามความเป็นจริง จิตเกาะอยู่ในวิปัสสนาญาณ ให้เกิดอารมณ์สุขสงบเป็นการปรามจิตไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน หลงใหลในรูปที่เห็นนั้น ๆ ซึ่งอารมณ์ฝ่ายหลังเป็นอกุศล เพราะถูกความโง่เข้ามาบดบังจิต”
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
www.tangnipparn.com