ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 27-09-2010, 22:23
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,661
ได้ให้อนุโมทนา: 151,997
ได้รับอนุโมทนา 4,416,281 ครั้ง ใน 34,251 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๓

ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราให้อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

หายใจเข้าให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมเข้าไป กำหนดรู้ว่าลมหายใจนั้นผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ที่เราถนัด หรือบางท่านจะจับภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไปด้วยก็ได้

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันสุดท้ายของเดือนกันยายนของเรา ยกเว้นท่านที่ไปสมัครบวชเนกขัมมะช่วงวันที่ ๑๒ – ๑๔ กันยายน ที่วัดท่าขนุน ก็จะได้ไปปฏิบัติเพิ่มเติมที่นั่น

เมื่อสองวันที่ผ่านมาได้พูดถึงเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิไปแล้ว ดังที่ได้กล่าวว่า ศีลเป็นเบื้องต้นของความดีทั้งปวง และเป็นปัจจัยช่วยให้สมาธิทรงตัวได้ง่าย ส่วนสมาธินั้นเป็นการสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง สร้างสติให้แหลมคมว่องไว และเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดปัญญา

วันนี้เราจะมากล่าวถึงปัญญา ปัญญานั้นมีการแบ่งออกเป็นหลายแบบด้วยกัน แบบที่ ๑ แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ประกอบด้วย สหชาติกะปัญญา เป็นปัญญาที่มาพร้อมกับการเกิดของเรา ปัญญาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสัญชาตญาณที่ฝังลึกอยู่ในขันธสันดานของแต่ละคน อย่างเช่นว่า รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักเสพกาม รู้จักหลบภัย เป็นต้น

ปัญญาอย่างที่สองเรียกว่า ปาริหาริกะปัญญา เป็นปัญญาที่มาศึกษาเพิ่มเติมเอาในชีวิตปัจจุบัน อย่างเช่นว่า การเล่าเรียนหนังสือ เป็นต้น ปัญญาประการสุดท้ายเรียกว่า เนปักกะปัญญา เป็นปัญญาที่สามารถเอาตัวรอดจากวัฏสงสารได้ ปัญญาประเภทสุดท้ายนี้ เป็นปัญญาที่จะได้กล่าวถึงในวันนี้

ส่วนการแบ่งอีกอย่างหนึ่ง แบ่งปัญญาออกเป็น ๓ เช่นกัน คือแบ่งเป็น สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้รับประสบการณ์ด้วยตนเอง อย่างที่ ๒ คือ จินตมยปัญญา ได้แก่ปัญญาที่เกิดจากการนำที่สิ่งศึกษานั้นมาขบคิด แล้วเกิดความเข้าใจแตกฉานขึ้น

ส่วนปัญญาอย่างสุดท้ายนั้นเรียกว่า ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่รู้แจ้งในธรรม เรียกง่าย ๆ ว่า ปัญญาชนิดนี้ รู้แล้วพาตัวรอดให้ปลอดภัยจากวัฏสงสารได้

ดังนั้น...ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแบบไหนก็ตาม ปัญญาที่กล่าวถึงในวันนี้ก็คือปัญญาประเภทสุดท้าย ปัญญาก็คือความรู้แจ้ง มาจาก อุปสรรค บวกกับ อัญญา คือความรู้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-09-2010 เมื่อ 05:00
สมาชิก 63 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา