.....
นับแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นต้นมา กรุงรัตนอังวะก็อยู่ในความวุ่นวาย เริ่มจากการสงครามกว่า ๓ ปีกับกองทัพแมนจูที่ยกทัพเข้ามาทางยูนนาน และการก่อกบฏของพวกมอญในพม่าตอนล่างยืดเยื้อมาถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๖ ซึ่งนั่นก็ช่วยให้สยามมีเวลามากพอในการเยียวยาตนเองจากความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งก่อน
ถึงปี พ.ศ. ๒๓๑๘ อังวะก็ได้ยกกองทัพใหญ่นำโดยขุนพลเฒ่า"อะแซหวุ่นกี้" และขุนพลผู้น้อง"แมงแยงยางู" กลับมาอีกครั้ง เพื่อหวังจะทำลายกรุงธนบุรี มิให้ชาวสยามตั้งตัวเป็นเสี้ยนหนามมารบกวนหัวเมืองเชียงแสนและหวังจะยึดเชียงใหม่ที่เสียไปคืนจากธนบุรีให้ได้
สงครามในครั้งนี้กรุงธนบุรีจวนเจียนจะพ่ายแพ้อีกครั้ง ด้วยกองทัพของอะแซหวุ่นกี้สามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จำต้องนำไพร่พล ครัวเมือง ตีฝ่าหนีไปตั้งหลักทางเมืองเพชรบูรณ์ด้วยเหตุเสบียงกรังร่อยหรอ กองทัพพม่ารุกคืบต่อลงมาเกือบถึงค่ายของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปตั้งรับที่นครสวรรค์ ซึ่งผลของสงครามก็ยังไม่ชัดว่าธนบุรีจะต้านทัพพม่าไหวไหม เพราะกำลังพลก็พอ ๆ กัน
แต่ก็เป็นโชคดีของแผ่นดินสยาม ที่พระเจ้าเซงพยูเชงหรือมังระผู้พิชิตกรุงศรีอยุธยาเกิดสวรรคตกะทันหัน กองทัพต่าง ๆ ถูกเรียกกลับไปอังวะ เพราะเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน อะแซหวุ่นกี้ เมื่อถอนทัพกลับไปอังวะ ก็ประสบชะตากรรมถูกประหารชีวิต จากผลพวงของการเมืองในราชบัลลังก์
พระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) " เซงกูเมง" พระโอรสของพระเจ้ามังระ เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษาเพียง ๑๙ ปี ทรงปราบบรรดาผู้ต่อต้าน ทั้งพระญาติพระวงศ์และเหล่าขุนนางด้วยความรุนแรง หลายคนถูกลดอำนาจหรือส่งไปอยู่หัวเมืองที่ห่างไกล แต่พระเจ้าอาอย่างพระเจ้าปดุง ก็ยังโชคดีหน่อยถูกส่งให้ไปควบคุมตัวที่เมืองสะกาย ที่ตั้งอยู่อีกด้านฟากหนึ่งของแม่น้ำอิระวดีเท่านั้น
พระเจ้าจิงกูจา ครองอังวะได้ประมาณ ๔ ปี ก็ถูกรัฐประหารโดยพระเจ้ามองหม่องผู้น้อง โอรสของพระเจ้ามังระ โดยมีขุนนางและเชื้อพระวงศ์หลายคนเข้าร่วม รวมทั้งอะแซหวุ่นกี้ (ซึ่งก็เป็นผลทำให้ต้องถูกประหารโดยพระเจ้าปดุงภายหลังเกิดเหตุการณ์ รัฐประหารซ้อน ) แต่การรัฐประหารในครั้งนี้ก็เพียงช่วยพระเจ้ามองหม่องมีสิทธิในราชบัลลังก์ได้เพียงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น เพราะพระเจ้าลุงที่ถูกเนรเทศไปเมืองสะกายอาศัยจังหวะความชุลมุนความวุ่นวายยกทัพกลับมาทวงราชบัลลังก์คืนในทันที
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ อันเป็นปีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ของชาวสยาม ก็เป็นเวลาเดียวกัน ที่ "พระเจ้าโบดอพญา หรือพระเจ้าปดุง (Bodawpaya)" ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองแผ่นดินกรุงรัตนอังวะ พระเจ้าปดุงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งราชวงศ์คองบอง ราชวงศ์แห่งสุดท้ายของพม่า ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ ๕ ใน ๖ พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์มีพระนามเมื่อครองราชย์ว่า "ปโดงเมง" หมายถึง "พระราชาจากเมืองปโดง" แต่มีพระนามที่เป็นที่เรียกขานในพม่าภายหลังว่า "โบดอพญา" (Bodopaya) อันมีความหมายว่า "เสด็จปู่ "