พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตต่างกัน ในหมู่สัตว์ที่มีกรรมเหมือนกันย่อมเข้าใจ ยอมกันในหมู่สัตว์ประเภทนั้น”
จริงอย่างที่พระองค์ทรงตรัสสอนเอาไว้ คนชอบเที่ยวย่อมเข้าใจกันในหมู่คนที่ชอบเที่ยว คนรักความสงบก็จะเข้าใจกันในหมู่ ชอบอย่างไรก็จะคบกันอยู่อย่างนั้น นักปฏิบัติก็จะคบกับนักปฏิบัติ
หากรู้จักแยกดีชั่วแล้วให้เจริญแต่กรรมดี สันติสมานฉันท์ก็จะบังเกิดในสังคม มีความสุข ไม่เบียดเบียนต่อกัน ก็จะบังเกิดสันติธรรมปรากฏในภาพรวม บ้านเมืองไม่วุ่นวาย ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมเดียวกัน ต่างปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกัน
ไม่ใช้โอกาสช่องว่างแสวงหาอำนาจอันไม่ชอบธรรม อยู่กับความถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ ถูกใจอาจไม่ถูกต้อง ถูกต้องอาจไม่ถูกใจ แต่ต้องมองกันด้วยจิตใจอันเป็นกลาง มีเสรีภาพอิสรภาพที่อยู่บนพื้นฐานกฎเกณฑ์อันถูกต้องในเงื่อนไขเดียวกัน
คนเราอย่าคิดว่าแค่เกิดแล้วสลาย มันมีท่ามกลาง ท่ามกลางนี่แหละสำคัญนัก มันมีกรรมเป็นเครื่องหนุนให้เราก่อพฤติกรรม ดีชั่วไปพร้อม ๆ กัน สร้างความสงบ สร้างความเดือดร้อนควบกันไปไม่สิ้นสุด มันสร้างภาพ สร้างภูมิ สร้างชาติในการเวียนว่ายตายเกิด
การปฏิสนธิวิญญาณใหม่ตามกระแสของกรรม รู้ดีทำดี ไปดี รู้ชั่วทำชั่ว ไปชั่ว มันเป็นอย่างนี้ไม่มียกเว้น ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้นวรรณะ นี่แหละท่ามกลาง จึงมีความสำคัญต่อชีวิตต่อการสืบสานภพชาติ ต่อความสุขความเจริญ ต่อความทุกข์ยากลำบากยากเย็นเข็ญใจ ต่อความสำเร็จสมหวัง ต่อความได้มา ต่อความสูญเสีย ต่อผลวิบากกรรม
เขาให้เราสร้างของเราเอง สร้างดีกับสร้างชั่ว เขาให้เรามาชดใช้หรือเรียกว่าเสวยผลของวิบากในอดีตชาติ ให้เรามาเรียนรู้ กลับเนื้อกลับตัวให้ทำแต่ดี ละทำชั่ว ฝึกจิตให้พ้นจากอำนาจฝ่ายต่ำ สร้างสมบุญบารมี บุญวาสนาไว้เป็นทุนทรัพย์ในการเวียนว่ายท่องกระแสกรรมดีกรรมชั่ว
ให้ได้รู้เห็นสถานภาพการดำรงชีวิตของสัตว์โลก ที่แตกต่างกันด้วยผลกรรม เป็นบทเรียน เป็นมหาวิทยาลัยของชีวิต ผู้มีปัญญาย่อมมองเห็นในเหตุผลข้อนี้ เกิดความกระจ่างสว่างในจิต เกรงกลัวกระแสของอกุศลวิบากกรรม ไม่นำตัวไปให้ไฟนรกแผดเผาจิตของเรา ให้ไหม้ไปด้วยอำนาจของกิเลส
|