ถาม : อย่างอารมณ์พรหมวิหาร จะใช่ลักษณะอย่างนี้ไหมคะ ? คือ เราลดกำลังใจลงมาให้เท่ากับคน ๆ นั้น ก็ไม่เชิงลดกำลังใจ แต่เป็นลักษณะที่เราเข้าใจหัวอกของเขา เหมือนเรากับเขาเป็นคน ๆ เดียวกันเสียด้วยซ้ำไป พอเห็นอย่างนั้น ก็จะรู้ซึ้งและเข้าใจในความเป็นเขา ไม่แน่ใจว่า ตรงนี้ใช่พรหมวิหารหรือเปล่า ?
ตอบ : หลาย ๆ ส่วนรวมกัน เช่น มีทิพจักขุญาณร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ
ถาม : แสดงว่ามีตัววิปัสสนาเข้าไปช่วย ?
ตอบ : โดยเฉพาะมีตัวปัญญา รู้ว่าตรงไหนพอดีสำหรับเขา เราก็ทำ ไม่อย่างนั้นเขาต้องการเพียงแค่นี้ แต่เราให้มากเกินเขาก็รับไม่ได้
ถาม : เมื่อก่อนนี้มองไม่เห็นว่าการปรุงแต่งเป็นอย่างไร ตอนนี้มองเห็นทันแล้วค่ะ
ตอบ : การรู้เห็นนั้นไม่ใช่เห็นเฉย ๆ พอเห็นแล้วเราต้องหยุดตั้งแต่สาเหตุแรก กิเลสถึงจะสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เราไม่ได้ ถ้าเราเห็นเฉย ๆ แล้วหยุดไม่ได้ บางทีก็ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าเดิมอีก เหมือนกับคนไข้รู้ว่าเจ็บตรงนี้ แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้เสียที
ถาม : แปลกเหมือนกันว่า พอล้มทีไรก็ได้อะไรกลับมาทุกครั้ง
ตอบ : ต้องให้ได้อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นล้มแล้วเสียเวลาเปล่า ไม่ได้เก็บของเก่าเอามาเป็นบทเรียน โบราณเขาบอกว่าผิดเป็นครู เพราะฉะนั้น..ก็เอามาเป็นครูเพื่อแก้ไขตัวเรา แต่ถ้าผิดบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เป็นศาสตราจารย์..!
ถาม : อย่างเมื่อก่อนเวลาเราทำอานาปานสติ เราไม่ได้ไปอะไรมาก แค่รู้ว่าเป็นสิ่งที่เราควรทำเพื่อให้สมาธิรวมตัว แต่พอมาตั้งว่า ๒ วันนี้ เราจะเอาแต่อานาปานสติ คือจะเล่นตัวอนุสติไปเรื่อย ๆ กลับแปลกตรงที่ว่า เราตั้งใจจะเอาอานาปานสติเหมือนเดิมก็จริง แต่อารมณ์กลับต่างจากเมื่อก่อน คือ เราทำอานาปานสติก็จริง แต่เราก็เห็นว่าเราทรงอารมณ์อานาปานสติ เหมือนกับตัวอานาปานสติมีอยู่รอบตัวเราตลอด นี่คือ..?
ตอบ : นั่นเป็นสิ่งที่เราทำได้แล้ว แค่มาทบทวนใหม่ โดยการกำหนดเวลาเท่านั้นเอง เมื่อทวนบ่อย ๆ ก็จะเกิดความชำนาญ ทำให้สังเกตอารมณ์ใจได้มากขึ้น จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมาก แต่บางทีรู้มากไปก็ลำบาก รู้มากก็ยากนาน ยิ่งรู้ก็ยิ่งยาก ไปเจอคนรู้น้อยก็จะพลอยรำคาญไปด้วย
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-12-2010 เมื่อ 02:18
|