ถาม : การรู้ตัวอาการของจิต เห็นความโกรธ ความโลภ ความเป็นอัตตาของตัว แต่ก็ยังฟู
ตอบ : ถ้าจิตละเอียดมากขึ้นก็จะเห็นมากขึ้น แต่ว่าให้เห็นในลักษณะเป็นผู้ดู คือรู้ว่าตอนนี้อารมณ์ใจอย่างนี้เกิดขึ้นกับเรา แล้วก็สักแต่ว่ารับรู้ไว้ ไม่ไปยินดียินร้ายด้วย ถ้าอย่างนั้นก็จะกลายเป็นวิปัสสนา ก็คือเห็นจริงอยู่กับปัจจุบัน แต่ถ้าหากว่าเราไปยินดียินร้ายด้วย จิตใจก็จะเศร้าหมองไม่ผ่องใส ถ้าตายตอนนั้นก็ขาดทุน
ถาม : ถ้าเห็นแล้วเรารู้สึก เหมือนระลึกรู้ แล้วจิตเกิดปีติขึ้น ?
ตอบ : ก็ดีจ้ะ แต่ก็เป็นแค่ปีติ ปีติก็เป็นเรื่องแค่กามาวจร ถ้าเราหวังหลุดพ้นจะต้องก้าวข้ามไปให้สูงกว่านั้น ไม่ไปยินดียินร้ายด้วย สักแต่ว่ารู้เห็น ให้สติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน ให้เห็นว่าสภาพของจิตของเราจริง ๆ นั้นคบหาไม่ได้เลย เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวรัก เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เกิดมาเมื่อไรก็จะเจออย่างนี้ ในที่สุดก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ต้องการ หมดความยึดมั่นถือมั่น จิตก็จะถอนออกมาแล้วหลุดพ้นไปเอง
ถาม : ให้กลับไปดูลมหายใจ ?
ตอบ : กลับไปดูลมหายใจใหม่ แล้วก็กำหนดรู้อยู่กับปัจจุบันของเรา อะไรมาให้รู้อยู่เฉพาะหน้า อย่าไปยินดียินร้าย อย่าไปปรุงแต่งด้วย มาเท่าไรกองเอาไว้ตรงนั้นแหละ
ถาม : เรารู้อยู่ว่าจิตส่งไปทางไหนของร่างกาย พอเรามีสติรู้เราก็มาดูลมหายใจอีก ?
ตอบ : ถ้าเราทำจนคล่องตัวแล้ว จะรู้อัตโนมัติไม่ต้องบังคับ เราก็แค่ประคองการรู้อัตโนมัตินั้นไว้เท่านั้น
ถาม : การรู้ลมหายใจต้องกำหนดคำบริกรรมไหมคะ ?
ตอบ : แรก ๆ ต้องกำหนดจ้ะ แต่พอทรงตัวแล้วจะเป็นเองอัตโนมัติ เราไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องกำหนดก็ภาวนาเอง เราไม่ต้องกำหนดก็รู้ลมเอง แล้วเราก็ประคองรักษาสภาพนั้นเอาไว้
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-06-2011 เมื่อ 02:54
|