การกวาดวัด เป็นวิหารทาน เป็นธรรมทานและอภัยทานด้วย
การกวาดวัด เป็นวิหารทาน เป็นธรรมทานและอภัยทานด้วย
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑. เจ้าขาดกำลังใจตัวเดียว ทำให้เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เวลาเจ้ากวาดใบไม้ อย่าเอาจิตเกาะใบไม้ เกิดตายตอนนี้ก็ไปเป็นหนอนหรือแมลงกัดกินใบไม้
๒. จิตเกาะความสะอาดนั้นเป็นการดี แต่สภาวะในโลกนี้ความสะอาดจริง ๆ นั้นไม่มี ให้นำจุดนี้มาเป็นวิปัสสนาญาณ การรักษาความมีระเบียบและความสะอาดเรียบร้อย พึงมีอยู่ในหน้าที่ของพุทธบุตรทุกคน แต่เมื่อเป็นสภาวะกฎของกรรมที่เลี่ยงไม่ได้ ก็พึงทำใจให้เป็นอุเบกขาไว้ก่อน แล้วพิจารณาเห็นความสะอาดและความสกปรกของโลก มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ มันน่ารังเกียจและมันเป็นภาระที่หนัก เพราะการมีขันธ์ ๕ เป็นเหตุทำให้เจ้าต้องมาเหน็ดเหนื่อยกับการกวาดขยะ ซึ่งถ้าหากขันธ์ ๕ นี้สิ้นไปแล้ว ภาระอย่างนี้จักไม่มีกับเจ้าอีก
๓. "จงทำจิตให้พร้อมที่จักวางภาระนี้ให้สิ้นไปต่อเมื่อขันธ์ ๕ นี้พังลง ถ้าหากจะทำก็ให้คิดว่าเป็นหน้าที่ อย่าเอาจิตไปผูกพัน ให้มองดูสภาพของงานทางโลกตามความเป็นจริง งานที่หมดจดทางโลกนั้นไม่มี ไม่เหมือนงานทางจิต คือ มุ่งตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานไปพระนิพพานได้นั้น นั่นแหละหมดจดแท้ ๆ
๔. แต่ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่อย่าทิ้งหน้าที่ ให้ช่วยกันบำรุงเขตพระพุทธศาสนาในเวลาอันสมควร และในโอกาสที่สะดวกที่จักทำได้
๕. กายทำงานทางโลก จิตทำงานทางธรรม ให้ทำแต่พอดี ๆ ในทางสายกลาง จิตและกายจักได้ไม่ถูกเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เอาความสุขของจิตเป็นเครื่องวัดผลของการปฏิบัติ อย่าทำแล้วยังให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าทุกข์กายหรือทุกข์ใจก็ดี หรือทุกข์ทั้งกายและใจพร้อมกันก็ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขาดทุน
๖. จิตถ้าไม่สู้เสียแล้ว (เพราะขาดกำลังใจ) ความกระตือรือร้นในการทำงานก็ไม่มี การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน จักต้องทำใจให้สู้อยู่ตลอดเวลา แล้วต้องรู้ด้วยว่าสู้กับอะไร สู้กับอารมณ์จิตเลวที่ชอบคบกับกิเลสอยู่นี้ ถ้าหากมัวปล่อยให้จิตเศร้าหมองไม่แก้ไข ก็จักเป็นผลเสียไปในที่สุดลุกไหม้จนถึงหลังคาบ้านแล้ว ก็ดับยาก หรือยากที่จะดับได้
|