ธัมมวิจัยกับคำสอน เรื่องการกวาดวัดเป็นวิหารธรรม เป็นธรรมทานและเป็นอภัยทานด้วย
ขอสรุปเป็นข้อ ๆ เพื่อการจดจำได้ง่าย ๆ ดังนี้
๑.
จิตเกาะอะไร อัตตาหรือตัวตนเกิดตรงนั้น เพราะโลกหรือโลกะ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มีอันที่จักนำไปสู่ความฉิบหายในที่สุด หมายความว่าในที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกจะไม่มีอะไรเหลือ คือมีอนัตตาในที่สุด เพราะโลกทั้งโลกแม้ใน ๓ โลก คือ มนุษยโลก, เทวโลก, พรหมโลก ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ คือไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ในสภาพหรือสภาวะเดิมได้ ต้องเคลื่อนไปอยู่เสมอเป็นสันตติ เหมือนกระแสน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำตลอดเวลา และที่สุดก็อนัตตา คือเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งโดยสิ้นเชิง ไม่ช้าก็เร็ว
๒.
จิตเกาะใบไม้ จิตเกาะขยะ หากตายตอนนั้นก็เกิดเป็นแมลงเป็นหนอน เป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะตายในอารมณ์หลง หากกวาดใบไม้ กวาดขยะอยู่ จิตเกิดอารมณ์ไม่พอใจ จิตบ่นไปด้วยขณะทำงานทุกชนิด ก็เป็นอารมณ์ปฏิฆะหรือโทสะหรือโกรธ หากตายตอนนั้นก็เกิดในนรกขุมใดขุมหนึ่ง แต่หากเกิดอารมณ์พอใจหรือราคะขึ้น เช่น อยากได้สิ่งที่ตนกำลังกวาดอยู่ หรือทำงานทุกชนิดอยู่ก็เป็นอารมณ์โลภะ หากตายในขณะนั้นก็ต้องเกิดเป็นเปรตประเภทใดประเภทหนึ่ง
๓.
หากจิตเกาะบุญ เช่น เกาะพระนิพพาน ตายตอนนั้นก็ไปพระนิพพาน จิตเกาะบุญเกาะความดีในพุทธศาสนา ตายตอนนั้นก็ไปเกิดในแดนสวรรค์ จิตเกาะความสงบสุขอันเกิดจากความสงบ ตายตอนนั้นก็ไปเกิดในแดนพรหม
๔.
จิตเกาะสิ่งที่ไม่เที่ยงเท่ากับเกาะทุกข์ เพิ่มทุกข์ให้ตนเอง เลยจมอยู่กับทุกข์ เลยพ้นทุกข์ไม่ได้ อารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นโมหะจริตทั้งสิ้น
๕.
ผู้มีปัญญาท่านถูกกระทบด้วยอายตนะสัมผัสทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร ท่านพิจารณาเข้าหาไตรลักษณ์หมด หรือเข้าหาทุกข์อันเป็นอริยสัจหมด คือยึดเมื่อใดทุกข์เมื่อนั้น อัตตาเกิดเมื่อนั้น ซึ่งใช้ตัดกิเลสทุกชนิดได้อย่างดี จากกิเลสหยาบ-กลาง-ละเอียดตามลำดับ ตามจิตในจิต ธรรมในธรรม จิตเจริญแค่ไหนก็รู้ธรรมได้ในระดับนั้น เป็นการลดสักกายทิฏฐิ ซึ่งแปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกายได้อย่างดี
๖.
คนฉลาดเห็นทุกข์เป็นของธรรมดาหมด ไม่ฝืน เห็นแล้ววาง ไม่แบก เพราะหนัก คนโง่เห็นทุกข์แล้วแบกทุกข์ ไม่ยอมวาง เลยจมอยู่กับทุกข์
๗.
ทุกขสัจ คือ ทุกข์ของกาย เป็นของมีคู่มากับการเกิดมีร่างกาย ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายไม่มีวันเว้น เรียกว่าทุกข์ทุกลมหายใจเข้าและออก แต่หากไม่กำหนดรู้ก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะชินอยู่กับมัน ด้วยความประมาทในความตาย จึงเท่ากับประมาทในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ บท จงจำไว้ว่า ทุกขสัจหรือทุกข์ของกาย ต้องกำหนดจึงจะรู้ ไม่กำหนดรู้ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์
๘.
ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์อยู่ที่ใจเป็นผู้ก่อ คือตัณหาหรือสมุทัย ที่คิดว่าการเกิดเป็นของดี ได้กินอาหารรสอร่อย ๆ ได้เที่ยวไปในโลกที่ไม่เที่ยง แต่ใจหลงคิดว่าเที่ยง ติดในรสอาหารหรือการกิน ติดในกามสัญญา ติดในการนอน คือ ติดกาม-ติดกิน-ติดนอน หลงคิดว่าเป็นสุข เลยถูกกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน สร้างอกุศลกรรมให้เกิดอยู่ตลอดเวลา ถูกมันต้มเราเสียสุก เหมือนควายตาบอดที่ถูกจูงจมูกไปตามคำสั่งของกิเลส สรุปว่าตัณหาหรือสมุทัย เป็นสิ่งต้องละ และรีบละก่อนกายจะพัง
๙.
ทุกข์ทั้งหลายล้วนเกิดจากจิตโง่ที่ไปยึดอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีในเราทั้งสิ้น หากวางอุปาทานขันธ์ ๕ หรือวางร่างกาย หรือวางสักกายทิฏฐิได้จุดเดียว ก็จบกิจในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเรื่องนี้เฉพาะบุคคลที่มีความฉลาด หรือพวกพุทธจริตเท่านั้น บางองค์ก็บรรลุ ณ จุดนั้นเอง หรือต่อหน้าพระพุทธองค์
๑๐.
พวกใจร้อนมีโทสะจริตเป็นใหญ่ ชอบเอากิเลสของตนไปชนกับกิเลสของผู้อื่น (ชอบกีฬาไก่ชน) ชอบชนะความชั่วของผู้อื่นซึ่งทำไม่ได้ เพราะความชั่วของตนเองก็ยังเอาชนะไม่ได้ แล้วจะไปชนะความชั่วของผู้อื่นได้อย่างไร ถึงแม้บางครั้งอาจจะชนะได้ก็แค่ชั่วคราว ประเดี๋ยวก็ต้องแพ้ความชั่วของตนเองอีก เป็นการชนะไม่เด็ดขาด จะชนะมันได้เด็ดขาดจะต้องชนะใจตนเอง หรือพ้นภัยตนเองให้ได้ก่อน แต่ภัยที่ร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรม ก็คือภัยที่เกิดจากอารมณ์จิตของเราเอง ทำร้ายจิตของเราเอง จุดนี้ต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ เต็มระดับทั้ง ๔ ข้อ สองข้อแรกคือเมตตา-กรุณา ก็แสนยากที่จะผ่านจุดนี้ไปได้ สองข้อหลังจึงยังไม่ต้องพูดถึง ถ้าสองข้อแรกยังไม่ผ่าน สรุปว่าบุคคลใดมีพรหมวิหาร ๔ เต็มระดับและทรงตัว บุคคลนั้นก็จบกิจเป็นพระอรหันต์
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
www.tangnipparn.com