จงยึดพระธรรมเป็นที่พึ่ง
จงยึดพระธรรมเป็นที่พึ่ง
อย่ายึดสิ่งอื่นซึ่งไม่เที่ยงเป็นที่พึ่ง
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
๑. คนเราถ้าหากจักเข้าใจ หาความก้าวหน้าในทางปฏิบัติให้หาเครื่องหมายวัดอารมณ์ ๒ ได้ทุกวัน-ทุกเวลา-ทุกขณะจิต เช่น ครูภายนอก หรือธรรมภายนอก คือ รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-ธรรมารมณ์ และครูภายในหรือธรรมภายใน คือ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ก็ใช้เป็นเครื่องวัดอารมณ์ได้ตลอดเวลา พึงนำมาพิจารณาและวัดให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติได้มากมาย ฟังแล้วอย่าฟังเปล่า นำมาปฏิบัติให้เกิดผลด้วย
๒. การที่หลวงพี่ลืมเปิดเทปของท่านฤๅษีมาตามสาย จัดเป็นธรรมภายนอก (ครูภายนอก) ในน้อมเข้ามาเป็นธรรมภายใน (ครูภายใน) ได้ว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง อันเป็นธรรมที่จัดว่าเที่ยงก็ถูก จักว่าไม่เที่ยงเป็นปกติธรรมดาก็ถูก ไม่ควรยึดเอามาเป็นอารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์ ๒ พระไตรลักษณ์ท่านแสดงธรรมของท่านอยู่เป็นปกติ ทุกวัน ทุกเวลา ทุกขณะจิต อยู่ที่เราจักเห็นท่านหรือเปล่า
๓. โลกไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้เป็นปกติ คนเราจิตก็ยังไม่เที่ยง ก็ไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้เป็นปกติ ถ้าหากจักไปยึดถือให้เที่ยง ทุกข์ก็เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน สู้ปล่อยวางทำอารมณ์จิตให้ยอมรับธรรมดาอยู่อย่างนั้น ยังจักสบายกว่า
๔. อยู่ในโลกอย่าเอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน เอาแค่จิตยึดพระธรรมคำสั่งสอนเป็นบรรทัดฐานก็เป็นพอแล้ว เรื่องอื่นภายนอกยึดให้เที่ยงย่อมเป็นไปไม่ได้
๕. การปฏิบัติธรรมมุ่งเอาความพ้นทุกข์เป็นใหญ่ ถ้าหากทำแล้วยิ่งทุกข์ สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ให้ดูด้วยว่าการปฏิบัติที่ผ่านมา หรือกำลังปฏิบัติอยู่ หรือจักปฏิบัติไปข้างหน้า ผิดหลักธรรมคำสั่งสอนของตถาคตเจ้าบ้างหรือเปล่า อย่าสักแต่ว่าก้มหน้าก้มตาทำจนไม่รู้ว่าอันใดผิด อันใดถูกพระธรรมวินัย
๖. ถ้าหากปฏิบัติถูกหลักธรรม คำว่าทุกข์ของจิตย่อมทุเลาเบาบาง และจากทุกข์ไปได้ในที่สุด ให้ตรวจสอบจิต ตรวจสอบวาจา ตรวจสอบกาย ด้วยอุบายเปรียบเทียบกับหลักธรรมคำสั่งสอนโดยอเนกปริยาย ความผิดพลาดของการปฏิบัติจักไม่มีหรือมีได้น้อย
|