การรักษาชีวิตไว้เพื่อปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น
การรักษาชีวิตไว้เพื่อปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น
เรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า ในสมัยพระพุทธกัสสปมีพระ ๗ องค์ได้ตั้งสัจจะต่อกันว่า จะใช้วิริยะ ขันติและสัจจะบารมี บำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ โดยใช้บันไดปีนขึ้นเขาชันเพื่อไปภาวนาอยู่ในถ้ำ เมื่อขึ้นไปได้แล้วก็ทำลายบันไดนั้นเสีย ทุกท่านอธิษฐานว่าหากไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ขอตายอยู่บนนั้น (คล้าย ๆ กับสมเด็จองค์ปัจจุบันอธิษฐานจิตที่โคนต้นโพธิ์)
วันแรก พระ ๑ องค์ บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ ก็เหาะไปบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงพระอีก ๖ องค์ แต่ทุกองค์ปฏิเสธอาหาร ยอมตายดีกว่าเสียสัจจะ
วันที่ ๒ พระอีก ๑ องค์ บรรลุเป็นพระอนาคามีผลพร้อมปฏิสัมภิทาญาณ ก็เหาะไปบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงพระอีก ๕ องค์ ทุกองค์ก็ปฏิเสธแบบวันแรก
ในที่สุดอีก ๕ องค์ก็เสียชีวิตเพราะขาดอาหาร ไปเกิดยังเทวโลกและพรหมโลก
ในวันแรก พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ท่านสอนธรรมะกับพระอีก ๖ องค์ มีความสำคัญดังนี้
๑. การฉันอาหาร จุดประสงค์ก็เพื่อยังอัตภาพร่างกายให้คงอยู่ จิตที่อาศัยร่างกายอยู่จะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรคผลได้
๒. การบรรลุมรรคผลอยู่ที่จิต มิได้อยู่ที่กาย แต่ต้องอาศัยร่างกายเป็นฐานของการปฏิบัติธรรม
๓. การพ้นทุกข์นั้นต้องพ้นทุกข์ที่จิต ไม่ได้พ้นที่กาย จิตต้องพ้นทุกข์ให้ได้ก่อนที่กายจะพัง มิใช่ให้กายพังก่อนแล้วจิตจะพ้นทุกข์ได้ (คำแนะนำทั้ง ๓ ข้อนี้ เป็นคำสอนที่ปราศอุปาทาน เพราะท่านหมดกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมแล้ว)
๔. การตายของกายไปแต่ละครั้ง ก็ไม่แน่ว่าอีกนานเท่าไหร่จึงจะมีได้มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก การเกิดแต่ละครั้งก็แสนยาก ยิ่งได้มาเกิดพบพระพุทธเจ้า พบพระพุทธศาสนาก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก จึงไม่สมควรทำร้ายหรือเบียดเบียนร่างกายด้วยการอดอาหาร สู้รักษาชีวิตไว้ปฏิบัติธรรมดีกว่า
๕. ร่างกายเมื่อถึงเวลาของมัน มันก็ตายเองโดยเราไม่ต้องไปเบียดเบียนเขา กายเขาไม่มีทางรอดอยู่แล้ว ซึ่งที่เราจะต้องพยายามทำให้รอด ก็คือจิตและอารมณ์ของเราต่างหาก
๖. กายกับจิตต่างต้องอาศัยกันและกัน หากร่างกายดีก็ทำให้อารมณ์จิตดี หากร่างกายไม่ดีมีเวทนาสูง ก็ดึงให้อารมณ์จิตไม่ดีตามไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องพยายามอย่าเบียดเบียนตนเอง (จิตตนเอง) และพยายามอย่าเบียดเบียนผู้อื่นด้วย (กายที่จิตอาศัยอยู่) จัดเป็นพรหมวิหาร ๔ ทั้ง ๔ ข้อ
|