“ขอเป็นฐานรองบาทราชวงศ์ ด้วยจำนงจงรักและภักดี”
นี่คือข้อความที่เขียนไว้ที่ฐานของรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พ่อหลวงของคนไทย ที่ค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งถือเป็นรอยพระบาทในหลวงหนึ่งเดียวในเมืองไทย
สำหรับที่มาของการก่อกำเนิดรอยพระบาทในหลวงแห่งนี้ คงต้องย้อนไปในอดีต ยุคที่เมืองไทยยังคงมีความขัดแย้งทางแนวคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน
ครั้งนั้นบนดอยพญาพิภักดิ์ บนพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ใน อ.เทิง จ.เชียงราย นับเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการรบพุ่งกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามเรื่อยมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๐ จนในปีพ.ศ.๒๕๒๔ พ.ท. วิโรจน์ ทองมิตร ผบ.ร. ๑๗ พัน ๓ ได้นำกำลัง(พัน ร. ๔๗๓) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดเป็นยุทธการยึดเนิน ๑๑๘๘ บนดอยพญาพิภักดิ์ขึ้น ยังผลให้สามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นได้สำเร็จในที่สุด
แต่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ต้องสูญเสียเหล่าทหารหาญที่พลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยไปจำนวนมาก โดยอัฐิของทหารส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในอนุสาวรีย์ผู้เสียสละที่ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ ในวันที่ ๒๗ ก.พ. ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานประทับ “รอยพระบาท” ของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ
ในปัจจุบันนี้รอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์นั้นได้ถูกนำมาเก็บไว้ที่ศาลา รอยพระบาท ณ ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย โดยเดิมทีนั้นรอยพระบาทของในหลวงนั้นจะเป็นที่รู้กันในหมู่ทหารค่ายเม็งรายฯ แต่เมื่อทหารเปลี่ยนนโยบายจาก “เขตทหารห้ามเข้า” มาเป็น “เขตทหารยินดีต้อนรับ” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวและรู้จักวิถีชีวิตในรั้วสีเขียว
เรื่องราวของ“รอยพระบาทในหลวงที่ถือได้ว่ามีหนึ่งเดียวในเมืองไทย ก็มีคนเดินทางไปชมและสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมี “รอยพระบาทในหลวง” ให้สักการะแล้ว ในเขตค่ายฯ เม็งรายและบริเวณใกล้เคียง ก็ยังมีจุดต่าง ๆ ให้เลือกเที่ยวชมและทำกิจกรรมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุดอยทอง ที่มีพระธาตุดอยทอง สีทองเหลืองอร่าม สำหรับพระธาตุองค์นี้ต้องขึ้นดอยเล็ก ๆ ไป โดยบนนั้นนอกจากพระธาตุดอยทองแล้ว ยังมีเสาสะดือเมืองที่แปลกกว่าที่ไหน ๆ คือมีถึง ๑๐๘ ต้น และยังมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นบางส่วนของเชียงรายได้อย่างสวยงาม