เพราะบุคคลที่มั่นคงใน ทาน ศีล ภาวนา จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเวสารัชชกรณธรรม*ธรรมที่ทำให้เรากล้า ประกอบด้วย “ศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ ปัญญา”
ถ้าหากว่ามีศรัทธา คือ ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง หรือต่ำลงไปหน่อยก็ยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นจตุคามรามเทพ**หรือพ่อปู่แม่ย่าที่ไหนก็ได้ ถ้าต่ำลงไปกว่านั้นอีก ก็ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือว่าขลัง อย่างเช่นเครื่องรางหรือวัตถุอาถรรพ์ต่าง ๆ และข้อสุดท้ายคือ เชื่อมั่นในตัวเอง
คราวนี้การที่เรามีศีล ถ้าศีลสมบูรณ์จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำความดีนี้ มีผลที่จะรักษาตัวเราแน่ ๆ ทำให้เกิดความมั่นใจ การแสดงออกก็จะต่างจากคนอื่นเขาที่ไม่มีศีล
ให้พวกคุณสังเกตใจตัวเองว่าเป็นอย่างไร ? รักษาความสงบได้นานแค่ไหน ? ก่อนที่จะตบะแตกกับคนอื่นเขา ดูว่าเราจะยื้อระยะได้นานแค่ไหน ? พยายามเอา สติ สมาธิ เข้าไปช่วยดูสิว่า เขาพูดตั้งแต่ประมาณ ๘ โมงครึ่งถึงเพล เราทนนั่งตลอดโดยไม่ไปไหนได้ไหม ?
เขาพูดตั้งแต่ประมาณบ่ายโมงถึง บ่าย ๓ โมงครึ่ง เราจะลุกไปไหนบ้างไหม ? พยายามลองต่อสู้กับกิเลสดู ชีวิตของฆราวาส ผมเคยเปรียบว่า เหมือนกับเอาเสือตัวหนึ่งปล่อยไว้ในป่า แล้วเราก็เดินอยู่ในป่านั้น บางทีปีทั้งปีก็ไม่เจอเสือตัวนั้นหรอก เพราะว่าป่านั้นกว้าง
แต่ชีวิตนักบวชนั้นเหมือนกับเอาเสือตัวนั้นมาใส่ไว้ในกรงกับเรา เสือจึงกัดเราทุกวัน เพราะว่าเรามีศีลเป็นกรอบ มีศีลเป็นกรงกั้นเราเอาไว้ ถ้าเราไม่เคยชิน ก็ดิ้นรนพยายามที่จะแหกกรงไปให้
เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องหัดรู้จักสังเกตอารมณ์ใจตัวเอง แล้วในเรื่องของการศึกษาและปฏิบัติธรรม โบราณท่านใช้คำว่า“บวชเรียน” เราจำเป็นต้องเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติ***ปริยัติเป็นแผนที่นำทาง ปฏิบัติเป็นการทดลองเดินในทางนั้นด้วยตัวเอง
จริง ๆ แล้ว ทั้ง ๒ อย่างล้วนแต่มีความสำคัญ ปริยัติศึกษาแล้วเป็นการรักษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงผลของคำสอนนั้น จะได้เอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
หมายเหตุ :
*องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๑๐/๑๔๔
**เทวดารักษาพระมหาธาตุเมืองนคร เชื่อกันว่าเป็นพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
**ขุ.ม. ๒๙/๒๓๒/๑๗๕
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-03-2012 เมื่อ 16:37
|