๔. ออกธุดงคกรรมฐานตามคำสัตย์
เมื่อองค์หลวงตาเรียนจบเปรียญ ๓ ตามที่ได้ตั้งใจไว้แล้ว ก็มุ่งหน้าออกหาสถานที่อันสงบสงัด เพื่อเร่งบำเพ็ญจิตตภาวนา เช่น พระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาล
พรรษาที่ ๘
(พ.ศ. ๒๔๘๔) จำพรรษาที่วัดป่าจักราช อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา
......................................................................
เวทีแรก...มารรบกวนจิตใจ
เมื่อภาระการเรียนเสร็จสิ้นลงและถึงคราวออกปฏิบัติเต็มตัว องค์หลวงตาจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยพกหนังสือปาฏิโมกข์เพียงเล่มเดียวติดย่ามไปเท่านั้น ตอนแรกท่านเจ้าคุณราชกวี (พิมพ์ ธมฺมธโร ต่อมาเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์) ท่านได้เขียนจดหมายมาบอกว่า
“ให้มหาบัวกลับไปกรุงเทพฯ”
โดยสั่งไว้ด้วยว่า วันนั้นวันนี้จะมารับ แต่ท่านก็ไม่กลับตามคำสัตย์ที่ตั้งไว้ และได้เข้าจำพรรษาที่วัดป่าจักราช ในอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา นับปีบวชได้ ๘ พรรษาพอดี ท่านว่าพอเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังขึ้น กลับเหมือนมีมารมาคอยก่อกวน สิ่งที่ไม่เคยรู้สึก ไม่เคยเป็นสมัยเรียนหนังสือ กลับปรากฏขึ้นเป็นความรุ่มร้อนฝังลึกอยู่ในใจ ท่านเล่าถึงความรู้สึกตอนนี้ว่า
“...แปลกจริง เวลาเราเอาจริงเอาจังตั้งแต่อยู่เรียนหนังสือ.. จิตก็ไม่เห็นเป็น เวลาออกปฏิบัติตอนจะเอาจริงเอาจัง มันจะมีมารหรือ 'ยังไง’ นะ ได้ยินเสียงผู้หญิงก็ไม่ได้นะ ทำไมเรื่องของราคะมันแย็บทันทีเลย จนเรางงเหมือนกัน
‘เอ้า’ เราก็ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมไม่เคยสนใจกับผู้หญิงเลย ทำไมเพียงได้ยินเสียงผู้หญิงเท่านั้นมันก็แย็บ แต่มันแย็บอยู่ภายในจิตต่างหากนะ มันแย็บ ๆ ๆ ของมัน เอ๊ะ..ชอบกล ‘ว่ะ’ ทำไมมันเป็นอย่างนี้...”
ท่านก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะไปหาภาวนาอยู่ในป่าเพื่อฆ่ากิเลส แต่กลับโดนเข้าแต่เรื่องทุกข์ร้อนจากอารมณ์ที่คอยกวนจิตใจ สงครามการต่อสู้ในระยะนั้นท่านเล่าว่า
“... ไปหาภาวนาอยู่ในป่า ทั้ง ๆ ที่จะฆ่ามันอยู่นี่นะ มันเห็นสาวมันก็ยังขยับอยู่นะ โถ.. 'ยังงี้’ ซิ มันเป็นของร้อนนี้นะ ตัวนี้มันไม่ให้ภาวนากับเรานี่นะ มันจะหาแต่เรื่องของมันอยู่นั่นละ
หือ.. ไปภาวนาอยู่ในป่า เราก็บอกตรง ๆ อยู่นี่นะ พอไปเห็นสาวสวย ๆ สวยในหัวใจมันเองนะ เขาจะสวยไม่สวยก็ตาม มันหาว่าสวย สาวคนนี้สวย ‘ว่ะ’ แต่มันสำคัญที่เราปฏิบัติอยู่แล้วนะ มันขยับมานั้น ตีกัน ‘พัวะ’ เลยเชียว
ไม่ได้นะ ทีนี้ภาวนาไม่ได้แล้วซิ มันจะเป็นเหตุแล้ว หนีเลย หนีเลยนะ แต่ส่วนมากชนะเพราะมันตั้งท่าจะฆ่ากันอยู่แล้ว แล้วมันยังมาตั้งหมัดตั้งมวยต่อหน้าต่อตา นี่มันจะไม่ให้โมโห 'ได้ไง’
นี่เรื่องกิเลส มันมีมากน้อยเพียงไร มันจะแสดงอยู่ภายในใจ มันเป็นข้าศึกของใจ มันเป็นอย่างนี้ เป็นตลอดมา เก่ง...มีมากมีน้อย มันจะเป็นของมันอยู่ในจิตนะ... เพราะเราจะฆ่ามันอยู่กับจิต...”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาท่านได้พิจารณาย้อนหลังเทียบกับสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ กิเลส ราคะ ตัณหา ก็ไม่เห็นเป็นพิษเป็นภัยอะไรมากมาย คงสงบตัวอยู่เงียบ ๆ ครั้นพอออกปฏิบัติตั้งใจจะฆ่ากิเลสโดยตรง กลับดูเหมือนว่ามันกำเริบเสิบสานมากยิ่งขึ้น ท่านอธิบายเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ว่า
“... เวลามาพิจารณาทีหลัง ไม่ใช่อะไรนะ คือเรามีสติสตังบ้าง เวลาแย็บออกไปมันเลยรู้ รู้ได้ง่าย... ไม่ใช่เราเป็นอย่างนั้น มันกลับขึ้นมาก็ไม่ใช่ เวลาผ่านไปถึงได้รู้
อ๋อ.. แต่ก่อนจิตของเรามันมืดมันดำ มันไม่รู้เรื่องรู้ราวเหมือนหลังหมีนี่ แล้วมันจะไปทราบสีขาวสีด่างสีอะไร มันเป็นหลังหมีเสียหมด
ทีนี้พอเราผ่านไปแล้ว ค่อย ๆ รู้ เวลาจิตละเอียดเข้ามันรู้ได้เร็ว เป็นเหมือนกับว่า มันแสดงกิเลสขึ้นอย่างรวดเร็ว แย็บเท่านั้นละ พอให้รู้เลย จากนั้นจึงได้เร่งกันใหญ่...”