ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 14-07-2009, 19:30
โอรส's Avatar
โอรส โอรส is offline
นายทะเบียน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Mar 2009
ข้อความ: 897
ได้ให้อนุโมทนา: 37,411
ได้รับอนุโมทนา 206,453 ครั้ง ใน 3,180 โพสต์
โอรส is on a distinguished road
Default การใช้มโนมยิทธิที่ถูกต้องอย่างที่หลวงพ่อต้องการ คือ ใช้ในการตัดกิเลส

การปฏิบัตินั้น อภิญญา แปลว่า รู้ยิ่ง อภิ-ยิ่งกว่า อัญญา คือ ความรู้ ไม่มีอะไรรู้ยิ่งกว่าการตัดกิเลส อดีต...มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์บ้าง ปัจจุบันนี้เราทุกข์อยู่ อนาคตถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก เพราะฉะนั้น อตีตังสญาณ ปัจจุบันนังสญาณ อนาคตังสญาณ มันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทุกชาติที่เกิดมารวยที่สุดก็รวยมาแล้ว จนที่สุดก็จนมาแล้ว มีอำนาจที่สุดก็มีมาแล้ว ด้อยวาสนาที่สุดก็เป็นมาแล้ว มีชาติไหนที่พาให้เราพ้นทุกข์ได้? จุตูปปาตญาณ คนและสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน ถ้าเราทำดีเราได้ดีแน่นอนถ้าเราทำชั่วเราได้ชั่วแน่นอนไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้

เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่น ไอ้นั่นแหละตัวระยำเลย สำหรับคนที่ใช้ผิด จะดูต้องดูใจตัวเอง แก้ต้องแก้ที่ตัวเอง ไม่ใช่ไปเที่ยวดูคนอื่น ตำหนิคนอื่น บางคนมานั่งตรงหน้านี่ อธิษฐานมาตั้งแต่บ้านแล้ว เออ...ถ้าหลวงพี่แน่จริงให้บอกสิว่าผมคิดอะไร ? ไม่ถีบให้ก็บุญแล้วนะ
อยากจะบอกกับเขาให้ชัด ๆ ว่าใจของกูยังดูไม่ไหวเลย กูจะเสียเวลาไปดูใจมึงทำไม ?...(หัวเราะ)...

คราวนี้ชัดไหม? ปกติไม่ค่อยพูดนะ แต่บทจะพูดแล้วไม่ค่อยยั้ง สำคัญที่สุดก็คือดูใจตัวเอง ใจของเรามีความชั่วไหม ? ถ้ามีรีบไล่ออกไป ระมัดระวังไว้อย่าให้เข้ามาอีก ใจของเรามีความดีอยู่ไหม ? ถ้าไม่มีรีบสร้างขึ้นมา ถ้ามีอยู่แล้วทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป นี่คือตัวเจโตปริยญาณที่สำคัญที่สุด

แต่ละวันดูสีดูจิตของตัวเองมันผ่องใสไหม ? ถ้าไม่ผ่องใสเร่งทำความดีขับจิตให้ผ่องใสที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วก็รักษาเอาไว้อย่าให้มันขุ่นมัวอีกนี่คือ เจโตปริยญาณที่แท้จริง ไม่ใช่เที่ยวไปดูคนอื่นไปรู้คนอื่น บางคนมาถึงก็ แหม..หลวงพี่พูดเหมือนตาเห็นเลย อาจารย์พูดเหมือนตาเห็นเลย หลวงพ่อพูดเหมือนตาเห็นเลย ไม่อยากจะเห็นหรอก แต่บางทีถ้าไม่ทำอย่างนั้นเขาก็ไม่เชื่อ พอเห็นเสร็จก็เลิกดู ไม่รู้จะดูต่อไปทำไม ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าทั้งหมดก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ ดูความทุกข์ของตัวเองก็ดูไม่ไหวแล้ว ดูใจของตัวเองก็ระวังไม่ไหวแล้ว ยังจะไปดูเขาอีก

ใช้ให้ถูกนะ ยถากัมมุตาญาณ รู้กรรมของคนและสัตว์ ถ้าเราเชื่อที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้
ตกลงญาณ ๘ ต้องใช้ไหม ? ...เออ ไม่ต้อง อภิญญา อภิ-ยิ่งกว่า , อัญญา-ความรู้ ไม่มีอะไรรู้เกินกว่าการตัดกิเลส อย่างต่ำ ๆ ให้รู้ว่าพระโสดาบันมีคุณสมบัติอย่างไร แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำในคุณสมบัตินั้นไป นั่นแหละถึงจะเป็นลูกที่ดี ถึงจะเป็นลูกที่แท้จริงของหลวงพ่อ ถึงจะพูดได้อย่างเต็มคำว่าเราเป็นศิษย์วัดท่าซุง เราเป็นศิษย์หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

แล้วบุคคลที่ได้ล่ะ ? บุคคลที่ปฏิบัติได้ ต้องระวัง..ให้ใช้กำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ ถ้าเราดูใจตัวเองเป็น สังเกตใจตัวเองเป็น จะรู้ว่า
ราคะ-อารมณ์ระหว่างเพศก็ดี
โทสะ-อารมณ์โกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาทก็ดี โลภะ-อารมณ์ความโลภอยากได้ใคร่มีก็ดี โมหะ-อารมณ์ความหลงก็ดี เป็นคุณสมบัติของร่างกายนี้ ถ้าหากว่าจิตใจของเราไม่ไปปรุงไปแต่งด้วย ก็ไม่สามารถทำอันตรายเราได้

ในเมื่อเราได้มโนมยิทธิ เราได้อภิญญา เกิดราคะขึ้นมา ใช้อารมณ์ของมโนมยิทธิ ใช้อารมณ์ของอภิญญา พุ่งจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน หน้าด้านเข้าไว้ กำลังของสมาธิของเราเข้มแข็งพอ ถ้ารู้ระวังตัวอยู่ กิเลสมาเราเผ่นพรวดหนีไปเลย ไปอยู่ข้างบนโน่น โกรธขึ้นมาหนีไปอยู่ข้างบน โลภขึ้นมาหนีไปอยู่ข้างบน หลงขึ้นมาหนีไปอยู่ข้างบน ไปอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า

ร่างกายเมื่อไม่มีจิตใจคอยปรุงแต่งอยู่ ก็เหมือนกินอาหารไม่ได้ใส่เกลือ ไม่ได้ใส่น้ำปลา ไม่ได้ใส่น้ำส้ม ไม่ได้ใส่น้ำตาล ไม่มีรสไม่มีชาติ จืดชืดไม่เป็นท่า เราก็ไม่อยากกิน เมื่อไม่มีใครไปปรุงแต่งให้ อารมณ์จิตตั้งอยู่ได้เดี๋ยวเดียว ความชั่วเหล่านั้นก็สลายไป เพราะว่าความชั่วเหล่านั้นเป็นสมบัติของร่างกาย ไม่ใช่สมบัติของใจ

การที่เราไปเกาะพระนิพพาน เกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่บนวิมานของเรานั่นแหละ คือการใช้มโนมยิทธิที่ถูกต้องอย่างที่หลวงพ่อต้องการ เพราะว่าจะไม่พลาดไปไหน อย่างไร ๆ เราก็อยู่ตรงนั้นแล้ว นับเป็นการตัดกิเลสที่อัตโนมัติที่สุด เราอยู่ตรงนั้นให้ชินกับอารมณ์ละเอียด อารมณ์สงบ อารมณ์เยือกเย็นของพระนิพพานอันนั้น

พอจิตใจเคยชิน รับอารมณ์นั้นมาเต็มที่แล้ว ก็ประคับประคองให้ดี ส่วนใหญ่ลุกปั๊บเลิกเลย ต้องรู้จักรักษา ประคับประคอง ระมัดระวังสภาพจิตใจของเรา ให้ทรงตัวอยู่ในอารมณ์นั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ได้ครึ่งชั่วโมง ให้ได้หนึ่งชั่วโมง สามชั่วโมง ครึ่งวัน วันหนึ่ง สามวัน อาทิตย์หนึ่ง สิบวัน ครึ่งเดือน เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ...ว่าไปเลย ยิ่งนานเท่าไรกิเลสยิ่งกินใจเราได้น้อยลง ๆ

กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับปฐมฤกษ์
เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-08-2013 เมื่อ 15:31 เหตุผล: เพิ่มเติมที่มา
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 79 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ โอรส ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา