ดูแบบคำตอบเดียว
  #514  
เก่า 12-07-2020, 13:20
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

การทำขาบาตร

ขาบาตรเป็นบริขารจำเป็นที่พระเณรต้องใช้คู่กับบาตร เป็นที่รองบาตร พระวินัยไม่ได้กำหนดรูปแบบบังคับ ว่าขาบาตรจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนบาตร หรือจีวร เพราะฉะนั้น ขาบาตรจึงค่อนข้างมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับว่า.. ใครจะมีความสามารถในการทำอย่างไร แต่สำหรับในวงพระกรรมฐานนั้น ก็มีรูปแบบอันเป็นปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ

โดยมากนิยมใช้ไม้ไผ่ดงที่เนื้อแห้งสนิท นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๙ นิ้ว แล้วผ่าเหลาให้เป็นเส้นกลม นำมาดึงรูดผ่านรูเหล็ก เพื่อบังคับให้ได้ขนาดที่เท่ากันตามต้องการ ขาบาตรที่นิยมทำกันโดยมาตรฐาน จะใช้ลิ่วไม้ไผ่จำนวนประมาณ ๒๗๐ – ๒๘๐ ลิ่ว แต่ในยุคหลัง ๆ มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ บางทีก็หันไปใช้ก้านลานซึ่งเหนียวกว่า หรือบางท่านก็เขยิบไปนิยมไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้พยุง ไม้มะค่า หรือใช้แก่นมะขามกันไปเลย เนื่องจากเป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ มีความแข็งแรงทนทาน แต่ก็หาได้ยาก ทำได้ยาก และมีน้ำหนักมากกว่า

ขาบาตรจะสวยงามหรือไม่ ก็อยู่ที่การคัดไม้และเหลาไม้ การหลาบให้กิ่วตรงกลาง ลาดเอียงไปหาส่วนปลายทั้งสองด้าน โดยต้องได้ระดับความลาดเอียงเท่ากันหมดทุกลิ่ว ปัจจุบันสามารถทำบล็อกแล้วใช้ลูกหมู*ขัด ก็จะทำให้ได้ขนาดลิ่วเป็นมาตรฐานเท่ากันหมด

การร้อยถักขาบาตรด้วยเชือกให้เป็นแนวเดียวกัน และได้ระยะวงรอบที่ห่างเท่ากัน การออกแบบลายถัก และการเล่นระยะห่างลายถักรอบขาบาตรให้สวยงาม กลมกลืนกันทั้งด้านบนและด้านล่าง จะช่วยขับให้ขาบาตรดูเด่นและประณีตยิ่งขึ้น ผสานกับการพ่นสีย้อมเนื้อไม้ให้ดูภูมิฐานและสง่างาม ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความชำนาญอย่างมากเลยทีเดียว และที่สำคัญ.. ตรงเอวขาบาตรต้องได้ขนาดพอดี ไม่ดูเล็กหรือใหญ่เกินไป

เมื่อถักร้อยขอบขาบาตร เสร็จสวยงามดีแล้ว ต้องใช้ล้อบังคับขันด้วยน็อต.. ให้ได้ส่วนสูงตามที่ต้องการ และขีดเส้นรัศมีโดยรอบเป็นวงกลม เพื่อตัดลิ่วทุกลิ่วให้ได้ขนาดวงกลมตามที่ต้องการ ปัจจุบันสามารถใช้ลูกหมูเจียช่วย ก็ทำให้งานได้มาตรฐานดีขึ้นกว่าเดิม

เมื่อตัดและเจียรอบเป็นวงกลมได้ที่แล้ว ก็จะถักเชือกตะกรุดเบ็ดรัดปลาย และเข้าขอบด้วยไม้ไผ่ที่ขดยาวเป็นวงกลมรอบขาบาตร งานขั้นตอนนี้ต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ความชำนาญอย่างมาก จึงจะสามารถเข้าขอบได้เรียบ และเป็นวงกลมสวยงามเท่ากันหมด ทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยที่ขาบาตรไม่เบี้ยวหรือเอียง ส่วนด้านที่ต้องวางกับพื้น ก็จะใช้หวายถักรองกันสึก หรือสมัยใหม่นี้เปลี่ยนมาใช้สายไฟถักรองกันสึกแทน ซึ่งก็ดูสวยงามดี

เมื่อเข้าขอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ขาบาตร โค้ง เว้า เป็นวงกลม ได้สัดส่วนพอเหมาะพอดี จากนั้นก็ใช้ไหมพรมเนื้อดี ถักถลกขาบาตรอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะถักลวดลายแบบใด ให้สวยงามแค่ไหน ก็อยู่ที่ผู้ใช้ต้องการแบบไหน อีกทั้งผู้ถักมีความชำนาญ และมีความเพียรมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถศึกษาเรียนรู้และฝึกหัดทำได้ทุกอย่าง

ขาบาตรที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมด้วยความงามอันวิจิตรประณีต.. ทั้งดูภูมิฐานและดูมีสง่าเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสุขุมคัมภีรภาพ และความเพียรอันยิ่งยวดของผู้ทำเลยทีเดียว อีกทั้งเป็นการสร้างสมบุญบารมีในอีกแขนงหนึ่งด้วย แม้ผู้มีโอกาสได้ใช้ขาบาตรที่มีความงามพร้อมเช่นนี้ หากเป็นการที่ได้มาเองโดยธรรม ย่อมแสดงถึงบุญบารมีที่สั่งสมมาแล้วมากเช่นกัน แต่ต้องมิใช่การดิ้นรนแสวงหามาด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ดังนั้น ปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาดำเนินมาเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ก็มุ่งหวังมิให้บริขารกลายมาเป็นโทษแก่พระเณรนั่นเอง ท่านสอนให้พระเณรรู้จักทำบริขารให้ “เป็น” คือรู้จักประมาณในการทำ และใช้บริขารให้ “เป็น” คือ ไม่ให้ยึดติดจนกลายมาเป็นภัยกับตัวเอง

============================

* ลูกหมู หรือลูกหนู เป็นเครื่องเจียชนิดหนึ่ง
รูป
ชนิดของไฟล์: jpg 4.jpg (297.9 KB, 5 views)
ชนิดของไฟล์: jpg 5.jpg (291.5 KB, 3 views)
ชนิดของไฟล์: jpg 6.jpg (254.6 KB, 4 views)
ชนิดของไฟล์: jpg 7.jpg (291.1 KB, 4 views)
ชนิดของไฟล์: jpg 8.jpg (289.9 KB, 5 views)

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ลัก...ยิ้ม : 13-07-2020 เมื่อ 13:16
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
ภาวนามัย (25-04-2024), สุธรรม (12-07-2020)